‘การศึกษาตามกระแส’
CHANGE Today อ.ทศพล กฤตยพิสิฐ
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
‘การศึกษาตามกระแส’
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ ของประเทศไทยที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าเกือบทุกครั้ง การกล่าวอ้างถึงที่มาของปัญหารวมไปถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ต่างมุ่งตรงไปที่ระบบการศึกษา ให้ต้องตกเป็นจำเลยเกือบทุกครั้งไป นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายต่างออกมาแสดงภูมิรู้ของตน โดยการกล่าวโทษถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนแบบไทยๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาราวกับเป็นข้อเสนอแนะสำเร็จรูปที่เป็นทางออกของทุกปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่บรรดาปัญญาชนเหล่านี้ทั้งหลายต่างได้ดีและเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานล้วนแล้วแต่ได้รับการปลูกฝังกล่อมเกลาผ่านระบบการศึกษาที่ย่ำแย่ในสายตาของตนเองมาแล้วเกือบทั้งนั้น
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน หัวข้อใหญ่ทางการศึกษานอกเหนือจากการเข้าไปตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแล้ว การประกาศแก้ไขหลักสูตรการศึกษาโดยการเพิ่มเติมวิชาหน้าที่พลเมืองและประวัติศาสตร์ชาติไทยเข้าไปเป็นรายวิชาที่แยกออกมาอย่างชัดเจนท่ามกลางเสียงสนับสนุนของประชาชนเป็นจำนวนมากในเวลานี้ กลายเป็นรูปธรรมของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการศึกษาของชาติที่เด่นชัด ไม่ต่างจากการเข้าไปตรวจสอบแก้ไขในเรื่องอื่นๆ ที่คณะผู้รับผิดชอบใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้แนวคิดปรากฏผลออกมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ เพื่อผลลัพธ์ในการดึงเสียงสนับสนุนและความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งหากดำเนินการด้วยเจตนาที่ดีเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างถูกต้องก็เป็นเรื่องที่น่ายกย่องชมเชย
แม้ส่วนตัวจะเห็นด้วยไม่ว่าจะนำวิชาหน้าพลเมืองและประวัติศาสตร์มาสอดแทรก เพิ่มเติม หรือแยกต่างหากออกมาเป็นรายวิชาที่เพิ่มเติมขึ้นมาในครั้งนี้ แต่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการย้อนกลับไปสู่รูปแบบของวิชาที่เคยใช้จัดการเรียนการสอนมาในอดีต ที่เห็นว่าไม่เหมาะสมจนต้องยกเลิกให้มีการปรับปรุงในเวลานั้น หรือไม่ก็อาศัยความคิดก้าวหน้าสร้างสรรค์ของผู้รู้ในเวลานั้น ‘แหกคอก’ เปลี่ยนแปลงแบบหักมุมโดดออกไปจนเกินความเหมาะสมจนต้องกลับมาสู่ของเดิมที่เคยใช้อยู่ เป็นการสร้างความสับสนวุ่นวายและเป็นภาระแก่ผู้ปกครองและนักเรียน แต่กลับสร้างมูลค่าให้กับการเปลี่ยนแปลงและโอกาสช่องทางของผู้รับผิดชอบที่ได้ดีไปกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ โดยอาศัยการโยกย้ายถ่ายเทแล้วสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็ นวัตกรรม’ ลงไปจนดูน่าเชื่อถือ ซึ่งเราจะพบเห็นว่าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกือบทุกครั้งก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุและผลในการดำเนินการที่น่ารับฟัง สามารถเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ...แต่การเปลี่ยนแปลงจำนวนมากก็ปรากฏให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ถูกต้องเป็นไปตามนั้นเสมอไป
ผู้เขียนเล็งเห็นถึงความสำคัญและความเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานและคุณภาพของคนในชาติเพื่อเตรียมพร้อมและรองรับการก้าวไปสู่อนาคตเป็นเรื่องที่ต้องกระทำด้วยความตั้งใจจริง รอบคอบและจริงจัง ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่โหนไปตามกระแสหรือความต้องการตามข้อเสนอของผู้นำในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น ดังเช่นสมัยหนึ่งเราเคยโหมกับกระแสโรคเอดส์จนคนทั่วบ้านทั่วเมืองต่างพูดถึงเรื่องเอดส์ หวาดกลัวกันอย่างไม่มีเหตุผลจนคนในครอบครัวเดียวกันมีปัญหาในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน บ้างก็ขับไล่คนเป็นเอดส์จนต้องออกไปอยู่นอกชุมชน จนต้องมีโครงการที่มีแนวคิดจัดตั้งนิคมหรือชุมชนให้คนเป็นเอดส์มาอยู่ร่วมกันเหมือนกับคนที่เป็นโรคเรื้อน ระแวงคนที่เป็นเอดส์นำเข็มมาทิ่มแทงเพื่อแพร่เชื่อแก่คนอื่นๆ เป็นการแก้แค้นของคนที่มองโลกในแง่ร้าย วุ่นวายจนต้องหาทางออกโดยอาศัยช่องทางทางการศึกษา นำไปสอดแทรกในรายวิชาเพื่อหวังให้ทุกคนมีความเรื่องเอดส์ที่ถูกต้อง ตลอดจนประโคมงบประมาณลงมาเพื่อหวังจะให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จนกล่าวได้ว่าแทบไม่มีบุคคลใดไม่เคยมีส่วนร่วมหรือสัมผัสกับบรรดาสารพัดโครงการที่เกี่ยวกับเอดส์ไม่มีเลยก็ว่าได้ แล้วสุดท้ายเสียงฮือฮาและความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ค่อยๆ หายไป
ไม่ต่างจากการนำเสนอความรู้ในเรื่องการป้องกันและระวังภัยจากปรากฏการณ์สึนามิ (tsunami)ที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2547 จนพูดกันทั่วบ้านทั่วเมืองว่านักเรียนทุกคนต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อความปลอดภัยของตนเองหากเผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าว จนมีความพยายามของนักการศึกษาที่จะนำเนื้อหาในเรื่องนี้มาบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนราวกับเป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด โดยยกกรณีตัวอย่างอันลือลั่นของเด็กนักเรียนหญิงชาวต่างประเทศคนหนึ่งที่ทราบถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าตรงกับที่ครูเคยสอนในชั้นเรียน จึงรีบนำมาบอกกล่าวจนสามารถช่วยชีวิตคนได้เป็นจำนวนมาก วันนี้ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ากระแสความตื่นรู้เรื่องนี้ก็หายไปตามกระแสคลื่นที่ซาลง
วิชาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงขึ้นเกือบทุกครั้ง จนกลายเป็นกระแสตามแฟชั่นที่ฮิตตามมาเลยก็ว่าได้ การผ่านหลักสูตรต่างๆ ที่เสนอขึ้นมาในเวลานั้นต้องแสดงให้เห็นหรือนำเนื้อหาสาระในเรื่องนี้ไปสอดใส่บรรจุให้เห็นเป็นรูปธรรม ยิ่งกว่านั้นบางสถาบันยังกำหนดให้เป็นรายวิชาขึ้นโดยเฉพาะเลยก็มีมาแล้ว ภายหลังเมื่อเหตุการณ์ล่วงเลยการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก็ค่อยๆ จางหายไป จะกลับมาเป็นวัฎจักรใหม่อีกครั้งเมื่อมีความรุนแรงครั้งใหม่เกิดขึ้น
การเรียนภาษาอังกฤษและภาษาที่สามเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งกลายเป็นวลีที่โก้เก๋ของการรณรงค์ส่งเสริมต่างๆ ที่ไม่ส่งผลต่อนักเรียนส่วนใหญ่ ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยในวิชาภาษาต่างประเทศของนักเรียนไทยก็ยังตามหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันต่อไป แต่เรากลับได้เห็นบรรดาสารพัดโครงการที่อ้างว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะบอร์ดหรือนิทรรศการที่กล่าวถึงชาติต่างๆ ในประชาคมอาเซียน ภาพนักเรียนถือธงชาติและแต่งกายตามลักษณะประจำชาติต่างๆ แต่ไม่ปรากฏให้เห็นว่ามีองค์ความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับอาเซียน การวิพากษ์วิจารณ์ที่การเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทยจึงออกมาในเชิงว่าเป็นแค่กระพี้ ไม่มีแก่นสารเนื้อหาสาระที่แท้จริง แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นกระแสยอดฮิตต่อไปเรื่อยๆ ในเวลานี้
เศรษฐกิจพอเพียงที่มักนำหลักคิดมาใช้เป็นข้ออ้างอิงทางวิชาการแต่ไม่เห็นผลในทางปฎิบัติอย่างจริงจังของประชาชนส่วนใหญ่ ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมยังเป็นคงเป็นลักษณะนิสัยของคนโดยทั่วไป การมีรูปแบบของการใช้ชีวิตที่สุ่มเสี่ยงต่อตนเองและครอบครัวก็ยังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง เห็นได้จากการเติบโดของธุรกิจเงินกู้นอกระบบที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การใช้ความได้เปรียบเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์แก่ตนเอง และการกระทำมิจฉาชีพเพื่อให้ได้เงินมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง
... หากเรากลับพลิกปูมการศึกษาไทยเราก็จะได้เห็นปรากฏการณ์ความพยายามเปลี่ยนแปลงในทำนองนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้ช่วยให้การศึกษาของชาติดีขึ้นแต่อย่างใด ข้อสงสัยก็คือมีความจำเป็นต้องนำเนื้อหาที่คิดว่าต้องหรือควรจะรู้ไปใส่ในหลักสูตรหรือจัดให้มีการเรียนการสอนหรือไม่ เพียงใด เช่นนั้นการนำสิ่งเหล่านี้มาสอดใส่ในเนื้อหาสาระสำหรับจัดการเรียนการสอนจะมีประโยชน์แท้จริงและมีผลต่อการนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวันหรือไม่ หรือเป็นการเพิ่มเข้าไปเพื่อให้เห็นว่าการศึกษาไทย ‘ทันสมัย’ เกาะกระแสกับเหตุการณ์ในสังคมไทยหรือเท่าทันกระแสที่เป็นปรากฏการณ์ของสังคมโลกเท่านั้นเอง.