เอกชนไทยทุ่มงานวิจัยเสริมแกร่งรับอุตสาหกรรม4.0

เอกชนไทยทุ่มงานวิจัยเสริมแกร่งรับอุตสาหกรรม4.0

 

 

 

 

 

เอกชนไทยทุ่มงานวิจัยเสริมแกร่งรับอุตสาหกรรม4.0
ผุดผลิตภัณฑ์พลาสติกรักษ์โลกป้อนอุตสาหกรรมอาหาร

 

 


การพัฒนาในยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)ของประเทศไทย เป็นช่วงที่หลายภาคส่วนเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันยุคเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่มุ่งไปสู่การยกระดับกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปี 2561 นับเป็นปีที่ท้าท้าย จากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่จะมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากปี 2560


สถาบันการเงินหลายแห่งได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไปในทางที่ดีขึ้น โดยได้มีการปรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP ) จาก 3.8 % เป็น 3.8 - 4.0% โดยปัจจัยที่ตัวเลขการส่งออกมีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของตลาดทั่วโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นโอกาสการทำตลาดของภาคเอกชนไทยเริ่มมีมากขึ้น ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มนวตกรรมเพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี และอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้จะพบว่า ความต้องการสินค้าของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน บนเงื่อนไข และข้อกำหนดทางกฎหมายทางการค้า ในเรื่องของการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทีต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งด้าน สุขอนามัย และมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ทำให้เป็นจุดสำคัญ ที่ผู้ประกอบการไทยต้องมีการปรับปรุงการผลิต รวมทั้งการแสวงหาวัตถุดิบให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด


ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นสิ่งที่กำลังก้าวเข้ามาเปลี่ยนโลกในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน ที่ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพื่อผู้บริโภค การวิจัยและพัฒนาเพื่อการสรรหาวัตถุดิบ เพื่อนำไปผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีความสำคัญในอุตสาหกรรมยุคใหม่


ปัจจุบันมีหลายโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการเข้าไปดำเนินการ วิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเม็ดพลาสติก ให้มีคุณสมบัติที่สูงขึ้น ในด้านความคงทน และลดปริมาณการใช้วัตถุดิบเพื่อการผลิต แต่ยังคงคุณภาพได้เท่าเดิม หรือสามารถนำสารป้องกันเชื้อโรคผสมในวัตถุดิบเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ท้องตลาด โดยมีโครงการที่เกิดขึ้นแล้ว จากความร่วมมือบริษัทรายใหญ่ ของไทย ในด้านอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในโครงการพัฒนาฟิล์มสำหรับปูบ่อกุ้งต้านแบคทีเรีย เพื่อบรรเทาปัญหาโรคกุ้งที่อาจเป็นสาเหตุการตายของกุ้ง
นอกนี้ ยังมีโครงการ พัฒนาสูตรฟิล์มพลาสติกที่สามารถลดความหนาได้ถึง 30 % แต่ยังมีความทนทานเทียบเท่าฟิล์มแบบเดิม เพื่อใช้ในบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทั้งสองโครงการ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU


ขณะเดียวกัน เพื่อตอบสนองนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทย ทั้งสองบริษัทยังมี การเชื่อมโยง การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนงานวิจัยใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดำเนินการโดย “ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนวัตกรรม Innovation Center” ของ PTTGC และ “ศูนย์นวัตกรรม Global Innovation Incubator (Gii)” ของไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป โดยมุ่งที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจาก ฐานวัตถุดิบ ปิโตรเคมี (Petroleum-based) และเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Bio-based) ซึ่งในส่วนของ bio-plastic จะเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้สินค้ามีความพิเศษ


และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่รักสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี
การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดจากการให้ความสำคัญ ในด้านงานลงทุนวิจัยและพัฒนา ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถยกระดับกระบวนการผลิตในแบบก้าวใหม่ และเกิดการปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็ว