กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.35-31.75 จับตาทิศทางการเมืองในสหรัฐฯ กดดันสินทรัพย์เสี่ยง

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.35-31.75 จับตาทิศทางการเมืองในสหรัฐฯ กดดันสินทรัพย์เสี่ยง

 

 

 

 
 

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.35-31.75 จับตาทิศทางการเมืองในสหรัฐฯ กดดันสินทรัพย์เสี่ยง 

 

 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท
ในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.35-31.75 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.61 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 7.1 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 2.4 พันล้านบาท  ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มทรงตัวในกรอบแคบๆ และสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่อาจได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของทิศทางการเมืองในสหรัฐฯ  

 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าตลาดจะจับตากระแสข่าวเกี่ยวกับสุขภาพของผู้นำสหรัฐฯ เป็นสำคัญหลังประธานาธิบดีทรัมป์เปิดเผยว่า เขาและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะเพิ่มความผันผวนให้กับตลาด หลังการโต้วาทีรอบแรกระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และนายไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรคเดโมแครต เต็มไปด้วยการพูดขัดจังหวะโจมตีกัน รวมทั้งยังสร้างความกังวลว่าทรัมป์อาจไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง ทั้งนี้ ผลโพลล์บ่งชี้ว่าคะแนนความนิยมของทรัมป์กำลังตามหลังมากขึ้นก่อนการเลือกตั้งวันที่ 3 พ.ย. หรือภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และการเปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) รอบล่าสุดในสัปดาห์นี้เช่นกัน หลังตำแหน่งการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกันยายนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด แม้อัตราการว่างงานลดลงเกินคาดก็ตาม ทางด้านสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่มีแนวโน้มไม่มากนักที่ร่างมาตรการดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ในภาวะเช่นนี้เราคาดว่าประธานเฟดจะเน้นย้ำคำมั่นที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและตลาดการเงินรวมถึงบทบาทที่สำคัญของนโยบายการคลังในการเยียวยาผลกระทบจากวิกฤตด้านสาธารณสุข อนึ่ง เงินดอลลาร์อาจย่ำฐานและความต้องการสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่เป็นไปอย่างจำกัดในระยะนี้ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นของทิศทางการเมืองสหรัฐฯ และมาตรการปิดเมืองบางส่วนในยุโรปเพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่

 

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนกันยายนจะย่อตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเรายังคงประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มตรึงดอกเบี้ยไว้ในอีกหลายไตรมาสข้างหน้า และมุ่งเน้นการเร่งกระจายสภาพคล่องให้ตรงจุด ทั้งนี้ กิจกรรมเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมหดตัวน้อยลง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจอาจกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาส 2/2564