กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 32.75-33.30 คาดกนง. ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% สัปดาห์นี้

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 32.75-33.30 คาดกนง. ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% สัปดาห์นี้

 

 

 

 
 
 
 

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 32.75-33.30 คาดกนง. ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% สัปดาห์นี้

 

 

 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.75-33.30 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 32.50 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 เดือนท่ามกลางการร่วงลงอย่างรุนแรงของราคาพันธบัตร ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 2.68 หมื่นล้านบาท และ 3.56 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบทุกสกุลเงินหลัก ขณะที่นักลงทุนกังวลกับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาและรีบเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางภาวะสภาพคล่องดอลลาร์ตึงตัวในวงกว้าง นอกจากนี้ ธนาคารกลางชั้นนำหลายแห่งดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อลดผลกระทบจาก COVID-19 โดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ขนาด 7.5 แสนล้านยูโร ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งสู่ 0.1% และเพิ่มมาตรการซื้อคืนพันธบัตร

 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะติดตามสถานการณ์สภาพคล่องสกุลเงินดอลลาร์หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดวงเงินสว็อปกับธนาคารกลางอื่นๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการทางการคลังท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจากการระบาดของไวรัส

  

สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% สู่จุดต่ำสุดครั้งใหม่ที่ 0.50% ในวันที่ 25 มี.ค.หลังการประชุมนัดพิเศษวันที่ 20 มี.ค.มีมติเอกฉันท์ให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.00% เป็น 0.75% โดยกนง.ระบุว่าการระบาดของ COVID-19 ในระยะข้างหน้ารุนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้เดิมซึ่งจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งกระทบสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย  

 

จากการที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมแถลงมาตรการเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เราเห็นด้วยกับกลไกรองรับการเสริมสภาพคล่องที่ชัดเจน แบ่งเป็น 1.) ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิดที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี สามารถนำหน่วยดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องจากธปท.ได้ 2.) ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องวงเงิน 7 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนออกใหม่ของบริษัทที่มีคุณภาพดี แต่อาจไม่สามารถต่ออายุตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวน 3.) ธปท.พร้อมเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่อง เราคาดว่ามาตรการล่าสุดจะช่วยกอบกู้ความเชื่อมั่นและลดความผันผวนได้บางส่วน อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามภาวะตลาดโลกต่อไปเพื่อตอบคำถามว่าเราใช้ยาแรงพอหรือยัง