ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
รายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)วันจันทร์ที่ 23 เมษายน 2561
วันนี้ (23 เมษาคม 2561) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2561 (ครั้งที่ 15) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาวาระที่สำคัญด้านพลังงาน ดังนี้
v กพช. รับทราบความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ โดยมีกำหนดการจัดทำ PDP ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑
ที่ประชุม กพช. รับทราบ การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสะท้อนแนวนโยบายของรัฐบาลและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การพิจารณาการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการและศักยภาพการผลิตในแต่ละภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของแผนปฏิรูปด้านพลังงานด้วย โดยจะให้ความสำคัญในประเด็นสำคัญ คือ
· ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) ทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้า รายพื้นที่ คำนึงถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเพิ่มของประชากร และอัตราการขยายตัวของเขตเมืองในระดับประเทศและระดับภูมิภาค การกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิง (Fuel Diversification) มีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม เพื่อรองรับกรณีเกิดเหตุวิกฤตด้านพลังงาน พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart grid) เพื่อรองรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Generation: DG) และรองรับการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
· ด้านเศรษฐกิจ (Economy) คำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อลดภาระผู้ใช้ไฟฟ้า มีการปรับปรุงการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตาม Merit Order
· ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในปลายแผนไม่เกิน 0.319 kgCO2/kWh ส่งเสริมระบบไฟฟ้าแบบไมโครกริด (Micro Grid) ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า (Efficiency) ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าและด้านการใช้ไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการตอบสนองด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) จะสามารถชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าและการลดเงินตรานำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ
ทั้งนี้จากกราฟจะเห็นว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันมีเพียงพอรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจนถึงปี2566 โดยจะมีการวางแผนเพื่อให้เกิดความมั่นคงและมีประสิทธิภาพในแต่ละภาคพร้อมพร้อมกันไป
v รายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ที่ประชุม กพช. รับทราบ รายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้รายงานในที่ประชุม กพช. ว่า นโยบายการส่งเสริมภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งในส่วนการส่งเสริมผ่านมาตรการจูงใจด้านราคารับซื้อไฟฟ้า และการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) ซึ่ง ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐ 7,296 ราย คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้ง 9,855 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ หากเทียบกับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแผน AEDP2015 ปี 2579 จำนวน 16,778 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิต ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.55 ของเป้าหมายAEDP ยังมีส่วนที่เหลือจากเป้าหมาย 6,351 เมกะวัตต์ สถานะ การรับซื้อไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้
ขยะ คือ ขยะชุมชนมีโครงการผูกพันกับภาครัฐ 43 ราย (แบบ Adder) มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 361 เมกะวัตต์ คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 139 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม มีโครงการผูกพันกับภาครัฐ 7 ราย
(แบบ FiT) มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 38 เมกะวัตต์ คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 12 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อให้แล้วเสร็จทันกำหนด SCOD วันที่ 31 ธันวาคม 2562
ชีวมวล มีโครงการผูกพันกับภาครัฐ 254 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 4,045 เมกะวัตต์ มีโครงการที่เอกชนผลิตเพื่อใช้เองอีก 26 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 581 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้งรวม 4,626
เมกะวัตต์ คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 944 เมกะวัตต์
ก๊าซชีวภาพ มีโครงการผูกพันกับภาครัฐ 191 ราย กำลังผลิตติดตั้งรวม 455 เมกะวัตต์ มีโครงการที่เอกชนผลิตเพื่อใช้เองอีก 19 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 48 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้งรวม 503 เมกะวัตต์ คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 777 เมกะวัตต์
พลังน้ำขนาดเล็ก มีโครงการผูกพันกับภาครัฐ 59 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 91 เมกะวัตต์ คงเหลือ
285 เมกะวัตต์
พลังงานลม มีโครงการผูกพันกับภาครัฐ 36 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 1,522 เมกะวัตต์ คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ1,480 เมกะวัตต์
พลังงานแสงอาทิตย์ มีโครงการผูกพันกับภาครัฐ 6,702 ราย กำลังผลิตติดตั้งรวม 3,245
เมกะวัตต์ มีส่วนที่ผลิตเพื่อใช้เอง 15 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 40 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้งรวม 3,285
เมกะวัตต์ คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 2,715 เมกะวัตต์
กพช. มีมติรับทราบ การดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทาน ในปี 2665-2566 (แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช) โดยออกประกาศเชิญชวน ในวันที่ 24 เมษายน 2561
วันนี้ (23 เมษายน 61) ณ ทำเนียบรัฐบาล การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่2/2561 (ครั้งที่ 15) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบการดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทาน ในปี2565-2566 (แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช) โดยให้ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูล ในวันที่24 เมษายน 2561 ตามทีโออาร์การเปิดประมูลระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC)โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขหลักในการประมูลไว้ ดังนี้
· ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องผลิตก๊าซธรรมชาติปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 และต้องผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61
· ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่สูงไปกว่าราคาเฉลี่ยของราคาก๊าซธรรมชาติ ในปัจจุบัน ตามสูตรราคาที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูล
· ให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้แก่รัฐ ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% และเสนอผลประโยชน์พิเศษต่าง ๆ เช่น โบนัสการลงนาม โบนัสการผลิต และผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ
· ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยไม่ต่ำกว่า 80% ในสิ้นปีที่ 1 และไม่ต่ำกว่า 90% ในสิ้นปีที่ 5 ของการดำเนินงาน
ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ โดยปัจจุบัน ทั้ง 2แหล่ง มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 75% ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย สำหรับกลุ่มแหล่งเอราวัณมีปริมาณการผลิต 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้ การดำเนินงานของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6ซึ่งจะสิ้นอายุสัมปทานวันที่ 23 เมษายน 2565 ขณะที่กลุ่มแหล่งบงกชมีปริมาณ การผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 5/2515/9 โดยจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565 และสัญญาสัมปทาน เลขที่ 3/2515/7และจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 7 มีนาคม 2566