ท่าทีของสื่อกับ ‘บุคลิกภาพผู้นำ’
CHANGE Today อ.ทศพล กฤตยพิสิฐ
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ท่าทีของสื่อกับ ‘บุคลิกภาพผู้นำ’
บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์ที่แสดงถึงความไม่พอใจจากผู้นำไม่ว่าจะในยุคสมัยใดก็ตาม เกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่สื่อพยายามนำเสนอให้กับผู้นำ ราวกับการ ‘ยัดเยียด‘ เพื่อให้ผู้เสพสื่อเกิดความคล้อยตามชวนให้จินตนาการหรือ ‘มโน’ (ตามภาษาวัยรุ่น) ไปว่าผู้นำต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้อย่างแน่นอน ซึ่งก็ดูไม่ค่อยเป็นธรรมนักกับผู้นำที่ถูกกล่าวถึง โดยที่ผู้รับสารไม่อาจทราบได้เลยว่าแท้ที่จริงแล้ว ตัวตนของผู้นำแค่ละท่านนั้นเป็นอย่างไร เป็นไปตามที่สื่อเผยแพร่ออกมาหรือไม่ ยิ่งกว่านั้นเรายังไม่ทราบว่าอาจเป็นความพยายามของสื่อที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์นั้นๆ ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลเหล่านั้นโดยมีจุดประสงค์อื่นๆ ตามที่ต้องการหรือไม่
ทั้งนี้เราแทบไม่เคยเห็นข่าวคราวการออกมาแสดงความยอมรับกับบุคลิกท่าทีของผู้นำระหว่างการดำรงตำแหน่ง มีแต่จะจ้องจับผิดหาข้อบกพร่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะยอมความกันได้ไปจนถึงเรื่องสำคัญที่เราต้องการเห็นการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพหรือท่าทีนั้นๆ อย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายพอสมควรทั้งผู้จ้องจับผิดและผู้ถูกกระทำ อย่างไรก็ตามการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อบุคลิกท่าทีของผู้นำในเรื่องที่เป็นประโยชน์จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นไม่ใช่น้อย ด้วยเหตุผลว่าการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวอาจส่งผลไปถึงผลลัพธ์หรือผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนั้นก็เป็นได้ เสมือนการ ‘ตัดไฟแต่ต้นลม’ ก่อนที่เรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่บานปลายออกไปอย่างไม่หยุดหย่อน
ตรงกันข้ามกับบุคลิกภาพของผู้นำภายหลังจากสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง เรามักเลือกนำในด้านที่ดีมากล่าวถึงเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีแก่ผู้นำคนต่อๆ มา ทั้งที่ระหว่างดำรงตำแหน่งเราแทบไม่เคยเห็นสื่อมีท่าทีที่ดีเหล่านั้นเลย อาทิเช่น “ทำไมต้องพูดหรือตอบคำถามนักข่าวทุกคำถามด้วยก็ไม่รู้” ... “ทำไมไม่พูดให้น้อยหรือหัดเงียบซะบ้าง” ... “ทำตัวไม่มีวุฒิภาวะสมกับเป็นผู้นำของประเทศ” สารพัดจะนำมาสาธยายได้หมด ณ ที่นี้ ทั้งที่ผู้นำที่ถูกนำมาเป็นต้นแบบก็ถูกตำหนิติเตียนจนเสียยับเยินในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ไม่ใช่น้อย ... ทำนองว่า ‘โลกนี้มันช่างไม่มีอะไรที่แน่นอน’
ผู้นำแต่ละคนที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญที่เป็นที่จับจ้องต่อสังคมจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องที่ทำดีแล้วหวังจะให้สื่อประโคมข่าวกันเอิกเกริกเป็นไปได้ได้ยาก ทำนองว่า ‘ทำดีเป็นเรื่องเสมอตัว’ ยกเว้นแต่ผลงานนั้นๆ โดนใจประชาชนโดยที่สื่อไม่อาจปฏิเสธการกล่าวสดุดีชื่นชม ไม่เช่นนั้นตนเองจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำถูกโจมตีเอาซะเอง ซึ่งเชื่อว่าสื่อไม่ต้องการเปลี่ยนสถานภาพของตนเองจาก ‘โจทก์’ มาสู่ ‘จำเลย’ เองอย่างแน่นอน
ดังนั้นนอกเหนือจากการมี ‘กุนซือ’ หรือที่ปรึกษาที่คอยให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ที่ดีแล้ว ผู้นำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักยึดในการประพฤติปฏิบัติที่อุดมไปด้วย ‘ศาสตร์’ และ ‘ศิลป์’ มีทั้ง ‘รุก’ และ รับ‘’ ตามแต่สารพัดประดามีที่จะงัดเอาออกมาใช้พะบู๊ขณะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การโจมตีในเรื่องบุคลิกภาพและท่าทีของผู้นำ เพื่อป้องกันตนเองให้พ้นจากมรสุมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์อันนำไปสู่การใช้อารมณ์หรืออย่างอื่นอยู่เหนือเหคุผล ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องให้ต้องตามมาแก้ซ้ำแก้ซ้อนวุ่นวายยุ่งเหยิงจนไม่มีเวลาบริหารงานในหน้าที่อย่างจริงจัง หนักไปกว่านั้นจะเผชิญกับข้อหา ‘ผู้นำที่ไม่มีผลงาน’ ไปซะอย่างนั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อที่ช่ำชองการเล่นแร่แปรธาตุก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกลายเป็นหนังคนละม้วนไปเลยก็ได้ ด้วยประสบการณ์ในวงการมาอย่างยาวนานสื่อตัวพ่อเหล่านี้จึงฉลาดพอที่จะเลือกโจมตีหรือจับจุดอ่อนของบุคคลถูกกล่าวถึงมาขยายผลเพื่อสร้างกระแสข่าวให้เป็นที่สนใจในเวลานั้นๆ เช่นนี้ผู้นำจึงกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของสื่อไปโดยปริยาย ยิ่งดิ้นก็ยิ่งเหมือนกับ ‘ติดร่างแห’ ที่พันธนาการ รัดรึงตนเองกับข้อวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ
... ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้เห็นได้ว่า การเป็น ‘ผู้นำ’ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครก็เป็นได้ ...
หมายเหตุ : บทความเรื่อง “ความทุกข์ของเพื่อน...อุทธาหรณ์ของสังคม” หากมีเนื้อหาส่วนใดที่มีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ผู้เขียนต้องขออภัยบุคคลที่ถูกนำไปกล่าวอ้างถึงโดยขณะนั้นผู้ให้ข้อมูลอาจยังไม่กระจ่างแจ้ง หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ผู้เขียนและผู้ให้ข้อมูลต่างไม่ได้มีเจตนาที่ต้องการให้ร้ายแก่บุคคลใดทั้งสิ้น
จึงเรียนมาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง