‘กระบวนการ’ สำคัญกว่า ‘เป้าหมาย’

‘กระบวนการ’ สำคัญกว่า ‘เป้าหมาย’

 

 

 

CHANGE  Today  อ.ทศพล  กฤตยพิสิฐ

คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

‘กระบวนการ’ สำคัญกว่า ‘เป้าหมาย’

 

ผู้เขียนคาดเดาเอาเองว่าเมื่อผู้อ่านเห็นชื่อบทความนี้แล้วคงจะเกิดข้อสงสัย หรือคิดในทางตรงกันข้ามไปเลยก็เป็นได้ เนื่องจากการกระทำใดๆ ของบุคคลล้วนแล้วแต่มุ่งเป้าหมายหรือผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ หากไม่ต้องการให้เกิดสิ่งนั้นๆ ก็คงไม่มีใครหน้าไหนลงทุนลงแรงให้เหนื่อยยากลำบากกายลำบากใจ มิสู้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องเปลืองตัวดีกว่าเป็นไหนๆ

หากคิดในมุมที่ว่าก็คงจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่เราเคยแอบลอบสังเกตตัวเองหรือไม่ว่า เวลาที่เรามุ่งทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อหวังให้ผลที่ได้รับออกมาให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำนองว่า “หว่านพืชหวังผล” โดยที่จิตใจมุ่งไปยังผลลัพธ์ที่จะได้ มันมีความลำบากใจเพียงใดกับการเฝ้ารอเพื่อให้สิ่งที่ต้องการบังเกิดผลออกมาเป็นรูปเป็นร่าง แม้ว่าการกระทำของเราจะประกอบด้วยด้วยส่งที่เรียกว่า “ฉันทะ” และ “วิริยะ” เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจูงใจให้กระทำก็ตาม

ตรงกันข้ามหากเรากระทำสิ่งนั้นๆ ด้วย “ความสุข” ที่ไม่คาดหวังสิ่งตอบแทน ทำนองว่า ‘ให้’          อย่างบริสุทธิใจโดยไม่คาดหวังถึงผลที่จะได้รับ ไม่เศร้าโศกเสียใจหรือฟูมฟายเมื่อลงทุนลงแรงไปแล้วแต่ไม่ได้รับผลที่ดีกลับคืนมา กลับทำให้เรามีความสุขอย่างคาดไม่ถึง กล่าวคือ เรามีความพึงพอใจตั้งแต่เราเริ่มเข้าสู่เงื่อนไขที่ต้องการ มีความสุขในทุกๆ ขั้นตอนที่เราเผชิญ ไม่ว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่นั้นจะสร้างความลำบากใจให้กับเรามากเพียงใดก็ตาม มีความสุขกับความยากลำบาก มองว่าความยากลำบากนั้นคือความท้าทาย ช่วยให้ตัวเองมีความเข้มแข็งและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น คล้ายกับคำสอนที่บอกไว้ว่า ‘บุญ’ แท้จริงแล้วไม่ใช่เครื่องนำส่งเราไปยังภพชาติใด แต่คือความสุขกายสุขใจจากการให้ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใด อิ่มอกอิ่มใจโดยไม่ต้องคิดถึงชาติภพใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ในลักษณะใดก็ตาม หากการให้นั้นไม่มีวาระซ่อนเร้น หรือเจตนาที่หวังผลต่อการให้นั้นๆ อย่างใด

นอกจากนี้ความสำเร็จแท้จริงที่เราพบเห็นส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกิดจากจิตใจที่มุ่งมั่นและลุ่มลึกกับสิ่งนั้นๆ  มีความคิดที่ต้องการจะมุ่งมั่นทำสิ่งนั้นๆ ให้ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฝึกฝน ขัดเกลา เอาใจใส่ หลงใหล เพลิดเพลินจำเริญใจจนลืมคิดถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในท้ายที่สุด กว่าจะรับรู้ได้ว่าสิ่งที่ตนเองตั้งใจทำเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วก็ต่อเมื่อบุคคลอื่นหรือสังคมให้การยอมรับนับถือกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ถือเป็น ‘ผลพลอยได้’ ของกระบวนการที่กระทำอย่างมีความสุขมากกว่าการดิ้นรน ทุรนทุรายด้วยความ “อยาก” ที่ต้องทุกข์ใจเพื่อพยายามตะเกียกตะกายค่อยๆ ขยับเขยื้อนไปให้ถึงผลลัพธ์ที่ตั้งใจ ซึ่งอาจจะสำเร็จได้เหมือนกัน แต่บุคคลนั้นก็ต้องลงทุนลงแรงและไม่มีความสุขกว่าที่จะได้สิ่งนั้นๆ มาครอบครอง ยิ่งกว่านั้นผลลัพธ์ที่ได้อาจกลายเป็น ‘ตราบาป’ ที่ทำให้ตนเองพยายามหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเผชิญกับสิ่งนั้นๆ ต่อไปอีก

ทั้งนี้ หากเราได้สิ่งนั้นมาด้วยความสุข จะช่วยให้เรามีความปรารถนาที่จะขวนขวายลุ่มลึกกับสิ่งนั้นๆ มากขึ้นไปอีก มีแรงผลักดันให้ต้องการทำสิ่งนั้นๆ ให้ดีขึ้นกว่าของเดิมที่มีอยู่ ขยายผล ประยุกต์ ดัดแปลง สารพัดวิธีการจนเกิดสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและบุคคลอื่น

หลายครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยกับบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แม้ส่วนใหญ่จะบอกว่าความสำเร็จที่ได้มานั้นไม่ใช่จะได้มาง่ายๆ ต้องแสวงหาวิธีการรับมือต่อสู้กับปัญหาร้อยแปดพันประการ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จเหล่านั้นมีอยู่ร่วมกันก็คือ ‘ความสุข’ จาก ‘กระบวนการ’ ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคเหล่านั้น โดยที่ไม่มีใครเลือกที่จะ ‘ยกธงขาว’ หรือถอดใจไปเสียก่อนทั้งที่สามารถทำได้ ไม่ว่าในเวลานั้นจะอยู่ด้วยความคิดความเชื่ออย่างใดก็ตาม แต่บุคคลเหล่านั้นกลับสามารถมี ‘ความสุข‘ อยู่ได้ท่ามกลางความทุกข์ ความยากลำบากที่ต้องเผชิญ โดยมีเป้าหมายเป็นกำลังใจอยู่ห่างๆเท่านั้น โดยที่ยังไม่อาจทราบได้เลยว่าผลลัพธ์หรือเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึงนั้นจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

...ดังนั้น ‘ความสำเร็จ’ หรือผลลัพธ์จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายนัก หาก ‘กระบวนการ’ ที่ต้องดำเนินต่อไปนั้นไม่ได้ถูกสร้างเพื่อให้ ‘ความสุข’ แก่ผู้เลือกที่จะเดินไปตามเส้นทางนั้น

...ขออนุญาตรวบรัดตัดตอน สรุปตามชื่อเรื่องกันง่ายๆ แบบนี้ก็แล้วกัน.