สูตรสำเร็จว่าด้วยการ ‘ตำหนิติเตียน’

สูตรสำเร็จว่าด้วยการ ‘ตำหนิติเตียน’

 

 

 

CHANGE  Today  อ.ทศพล  กฤตยพิสิฐ

คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

สูตรสำเร็จว่าด้วยการ ‘ตำหนิติเตียน’

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าด้วยอคติหรือความบริสุทธิใจที่ต้องการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเหตุการณ์อันที่เป็นสนใจของสังคมเกิดขึ้นในเวลานั้น ผู้มีอิทธิพลทางความคิดไม่ว่าจะเป็นบุคคลขาประจำเรียกเสียงกรี๊ดถูกอกถูกใจประชาชนที่ต่างตั้งหน้าตั้งตาเฝ้ารอคอยการออกมาแสดงทัศนะตามเงื่อนไขของเหตุการณ์ หรือขาประจำแสนน่าเบื่อหน่ายที่เฝ้ารอโอกาสออกมาแสดงทัศนะเพื่อมุ่งสร้างกระแสสังคมให้หันกลับมาสนใจตนเอง รวมไปถึงบุคคลหน้าใหม่ที่มีความปรารถนาเข้าสู่วงการต้องการเรียกร้องให้ตนเป็นที่สนใจและรู้จักของสังคมก็ตาม ไม่ว่าผู้กล่าวตำหนิติเตียนจะเป็นบุคคลใดหรือมีจุดประสงค์อย่างใดก็ตาม เรามักจะได้พบกับสูตรสำเร็จที่ว่าด้วย “การตำหนิติเตียน” ในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยบนพื้นฐานของการแสดงเหตุผลที่แทบจะหาข้อแตกต่างกันไม่ได้มากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาที่มีความคาบเกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้ามารับผิดชอบทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเจตนามรณ์ของการดำเนินการต่างๆ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ประการแรกรูปธรรมที่มองเห็นได้ชัดเจนที่ถูกหยิบยกมาตำหนิได้ง่ายที่สุดก็คือ “เพศ” ไม่ว่าจะเป็นการออกมาให้เหตุผลในทำนองว่า ให้ความสำคัญกับเพศหญิงน้อยทั้งที่โลกนี้ประกอบด้วยผู้หญิงจำนวนใกล้เคียงกับผู้ชาย, ผู้หญิงมีศักยภาพและสามารถทำงานได้ไม่ต่างจากผู้ชาย, สังคมปัจจุบันผู้หญิงไม่ใช่ช้างเท้าหลังอีกต่อไป หรือใช้เงื่อนไขเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือความเท่าเทียมกันระหว่างเพศมากล่าวอ้างตามแต่ที่เหตุการณ์จะเอื้ออำนวย

ประการต่อมาที่นิยมนำมาใช้เป็นหลักในการตำนิที่กระทำกันอยู่บ่อยครั้งได้แก่ ประเด็นในเรื่อง  “สถาบันการศึกษา” โดยเฉพาะการแต่งตั้งที่มีการแข่งขันในเรื่องจำนวนบุคคลที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิชาเดียวกันแต่ต่างสถาบัน เราจึงได้ยินคำเปรียบเปรยว่าเป็นสีต่างๆ บ้างก็ว่าเป็นยุคของสีนั้นที่เข้ามาคุม ลามไปถึงว่าบุคคลที่มีอำนาจแต่งตั้งคนจากรั้วสีเดียวกันมาสืบทอดอำนาจหรือบังคับบัญชาหน่วยภายใต้สังกัด รวมไปถึง “สถาบันในรูปองค์กรต่างๆ” กรณียอดนิยมที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ได้แก่ การแต่งตั้งบุคคลในระดับกระทรวงที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงจำนวนข้าราชการที่ได้ดิบได้ดีในกระทรวงนั้นๆ ว่ามีที่มาเดียวกับหน่วยงานที่ปลัดกระทรวงไต่เต้าเติบโตมาก่อน หรือแม้แต่การแต่งตั้งบุคคลในระดับกรมที่อ้างว่าอธิบดีมักจะแต่งตั้งบุคคลคุ้นเคยที่มาจากสำนักหรือหน่วยงานระดับกองที่ตนเองเคยปฏิบัติหน้าที่มาก่อน ทำนองว่าเห็นพวกเดียวกันดีกว่าคนอื่น

ประการที่สามก็คือในเรื่อง “สัดส่วน” ของกลุ่มที่มีจำนวนไม่เท่าเทียมหรือสมดุลกัน ดังนั้นเราจึงได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงสัดส่วนของกลุ่มวิชาชีพหรือกลุ่มผลประโยชน์หนึ่งๆ ที่มีจำนวนที่นั่งมากกว่ากลุ่มอื่นๆ  เช่น ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ ที่เข้าไปดำรงตำแหน่งแล้วปรากฏว่ามีจำนวนโดดเด่นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นไปตามที่มาของผู้มีอำนาจที่มักจะแต่งตั้งบุคคลที่มาจากกลุ่มวิชาชีพเดียวกัน ซึ่งมักได้รับโต้แย้งกลับไปว่าจำเป็นต้องแต่งตั้งจากคนที่รู้จักฝีมือเป็นอย่างดี ซึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าต้องเป็นบุคคลในวิชาชีพเดียวกันที่มีความรู้จักมักคุ้นกันทางใดทางหนึ่ง หรือไม่ก็ใช้ข้ออ้างแบบดั้งเดิมว่าเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์และเงื่อนไขในเวลานั้น

ผลพวงที่ตามมาจาก “ปริมาณ” หรือ “สัดส่วน” ที่มักถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ ผลลัพธ์ที่ปรากฏหรือลักษณะเฉพาะที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นจากการมีกลุ่มวิชาชีพนั้นๆ จำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น ถ้าเป็นนักวิชาการก็จะโดนต่อว่าเป็นพวกร้อนวิชา หัวชนฝา เก่งแต่พูดทำไม่เป็น พวกกอดตำราหรือบ้าทฤษฎี บ้าน้ำลายเพ้อเจ้อ หอคอยงาช้างที่ไม่เคยลงมาสัมผัสกับความทุกข์ยากของสังคม หากเป็นกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพวกเผด็จการบ้าอำนาจ วันๆ ไม่ทำอะไรเอาแต่ชะเลียเจ้านาย ทำนองว่า “ ได้ครับพี่ ดีครับนาย เหมาะสมครับท่าน” โดยจะเห็นว่ามีกลุ่มวิชาชีพที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากจากการเข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับในวาระต่างๆ ก็คือ นักกฎหมายที่มักจะถูกกล่าวหาด้วยคำพูดติดปากยอดนิยมว่าเป็น “เนติบริกร”

หากกลุ่มที่แต่งตั้งประกอบด้วยผู้อาวุโสจำนวนมาก เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็จะออกมาในเชิงว่า ไดโนเสาร์เต่าล้านปี หน้าเก่า หลังเขา หลงยุค ตกขอบ บางกรณีถึงกับไล่ให้กลับบ้านไปเลี้ยงหลานดีกว่า ตรงกันข้ามหากการไม่มีผู้อาวุโสได้รับการแต่งตั้งก็จะมีเสียงออกมาในทำนองว่า ไม่มีผู้รู้จริงที่เคยผ่านเหตุการณ์หรือมีประสบการณ์มาก่อน ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่มีบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสังคม แรงกว่านั้นก็คือไม่เห็นหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ตรงกันข้ามหากมีสัดส่วนของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เสียงวิจารณ์จะประสานออกมาในทำนองว่า ละอ่อน ไม่ประสา ไม่มีประสบการณ์ ผลีผลาม เดี๋ยวก็ตกม้าตาย วัยรุ่นใจร้อน เด็กเมื่อวานซืน ฯลฯ

หากเป็นกลุ่มบุคคลที่มีภาพพจน์เกี่ยวข้องกับการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ อาทิ นักธุรกิจหรือนักการเมือง เสียงตำหนิจะออกมาในลักษณะของการเข้ามาตักตวงประโยชน์ที่ไม่พึงได้ จ้องเอาแต่ผลประโยชน์แก่ตนเอง เช่น รักชาติจนน้ำลายไหล ร้อยชักห้า..หก..เจ็ดสิบ วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง บ้างก็วิจารณ์ว่านักการเมืองกับนักธุรกิจเป็นเทือกเถาเหล่ากอเดียวกัน หรือกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมต่างๆ ที่ออกมาบุคลิกลักษณะเดียวกับ “ศรีธนญชัย” กะล่อน เ อาตัวรอดไปวันๆ เอาสาระและเชื่อถือไม่ได้

หากเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลที่เคยมาส่วนร่วมได้กลับมาทำหน้าที่อีกครั้งหนึ่งเพื่อมุ่งหวังให้บุคคลที่มีประสบการณ์ได้กลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้งานนั้นๆ ไม่เริ่มต้นจากศูนย์ใหม่ แต่เสียงสะท้อนกลับออกมาในทำนองว่าเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” หรือการนำกลุ่มบุคคลที่มีทัศนะหรือความคิดเห็นแตกต่างมาเพื่อร่วมงานกันเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบครอบ มีความหลากหลายมุมมองรอบด้านที่ไม่เหมือนกัน ก็จะถูกกล่าวหาไปว่า เอาคู่ขัดแย้งมาร่วมงานไม่มีทางที่งานนั้นจะสำเร็จ หรือไม่ก็กล่าวถึงระยะเวลาว่างานที่ได้รับมอบหมายจะไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด หรือบ้างก็กล่าวพาดพิงไปกว่านั้นว่าผู้แต่งตั้งไม่มีความจริงใจที่จะให้งานนั้นๆ ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีคำตำหนิติเตียนอื่นๆ อีกมากมายตามแต่ที่จะสรรหามากล่าวได้ไม่สิ้นสุดตามแต่กรณี

.... ดังนั้นไม่ว่าผู้ดำเนินการจะมีความตั้งใจดีอย่างใดก็ไม่อาจหลีกพ้นความพยายามค้นหาข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ของนักวิพากษ์วิจารณ์ที่ชื่นชอบการตำหนิติเตียน โดยปราศจากนำเสนอทางออกหรือข้อเสนอแนะที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ผู้เขียนจึงอยากให้การตำหนิติเตียนวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องที่เกิดจากความจริงใจ ปรารถนาและมุ่งหวังให้เกิดสิ่งที่ดียิ่งขึ้นในบ้านเมือง ตามคำกล่าวที่ว่า “ติเพื่อก่อ” มากกว่าการทำสงครามน้ำลายเข้าห้ำหั่นกัน ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใดทั้งสิ้น.