มหกรรมการแสดงไทย -จีน สุดยิ่งใหญ่ เพิ่มการเรียนรู้หลักสูตรศิลปกรรมฯ มศว

มหกรรมการแสดงไทย -จีน สุดยิ่งใหญ่ เพิ่มการเรียนรู้หลักสูตรศิลปกรรมฯ มศว

 

  

 

 

 

มหกรรมการแสดงไทย -จีน สุดยิ่งใหญ่
เพิ่มการเรียนรู้หลักสูตรศิลปกรรมฯ มศว

 

 

ศิลปะการร่ายรำหรือนาฏศิลป์เป็นการแสดงออกถึงความเป็นอารยะของประเทศ โดยมีมนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ อนุรักษ์และถ่ายทอดสืบต่อในรูปแบบตามกาลสมัยเช่นเดียวกับงาน “มหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย-จีน” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของล่าสุด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ

ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกระบวนการสร้างสรรค์องค์ความรู้และการพัฒนาการแสดงของไทยกับจีนให้แก่การเรียนการสอนในศิลป์และศาสตร์ด้านนี้ ไม่เฉพาะความเพลิดเพลินที่จะได้รับจากการชมการแสดงซึ่งสวยงามและหาดูหาชมได้ไม่บ่อยนักเช่นนี้

นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน กล่าวถึงการได้มาชมการแสดงนาฎศิลป์จีนและไทยนี้ว่า “ผมเป็นคนแรกที่แนะนำให้ศูนย์วัฒนธรรมจีนได้มีโอกาสพบกับเพื่อนใหม่คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อจะได้ทั้งสองฝ่ายได้นำสิ่งที่ดีของตนเอง มาแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ที่ต่างฝ่ายต่างมีเหมือนกัน คือการเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมให้แก่คนรุ่นใหม่ที่เขากำลังเรียนหรือสนใจในศาสตร์ด้านนี้ ซึ่งผมเห็นว่าจีนยิ่งใหญ่ได้จากบทเรียนความอดอยาก การต่อสู้และความเสียสละของคนในชาติที่ทำเพื่อชาติมากกว่าเพื่อตัวเอง

ประวัติศาสตร์ได้ถูกถ่ายทอดลงในรูปแบบของการแสดงและการท่วงท่าการร่ายรำ ทุกอย่างคือวัฒนธรรมที่สั่งสมและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น สิ่งนี้คือสิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้จากคนจีนให้มากเพราะจีนกับไทยมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันและต่างฝ่ายต่างก็มีลักษณะพิเศษของตนเอง เราจะต้องสร้างสำนึกให้กับเด็กรุ่นใหม่ให้เห็นถึงความทุ่มเท เสียสละ ความรักชาติของคนจีน ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองหรืออยากจะเอาตัวให้รอดเท่านั้นพอ”

ด้าน รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสนับสนุนนิสิตให้ได้เรียนรู้ในศาสตร์ความถนัดของตนเอง โครงการมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้งที่ 5 นี้แสดงว่าคณะศิลปกรรมศาสตร์กำลังทำให้นิสิตไทยกับจีนได้แลกเปลี่ยนศิลปะซึ่งกันและกันอย่างตรงไปตรงมา สวยงามและยิ่งใหญ่ อีกด้านหนึ่งเราก็ได้ทำหน้าที่ของการเป็นผู้รับใช้สังคมเพราเราเอาวิชาการความรู้ไปสู่ชุมชนได้อย่างเข้มแข็งและเห็นผลว่าสถาบันการศึกษามีบทบาทเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติจีนและไทยให้แน่น
แฟ้นด้วยสื่อการแสดงศิลปวัฒนธรรมนี่เอง”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า “งานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย-จีน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้วโดย มศว ร่วมมือกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ปีนี้มีนักแสดงที่มีความสามารถจากเมืองหางโจวมาแสดงศิลปวัฒนธรรม 12 ชุดการแสดง และมีนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ของ มศว เรา ร่วมแสดงอีก 6 ชุด แต่ละชุดก็สวยงามและยากด้วย จึงถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างกันและเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างไทย-จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นโดยใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นสื่อ”

การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน ครั้งนี้ ประกอบด้วย 20 ชุดการแสดงจากไทยและจีนสลับไปมา อาทิ การแสดงจากจีน ประกอบด้วย การแสดงชุดความรื่นเริงในเทศกาลตรุษจีน การแสดงประสานเสียงจากฝ่ายจีนในชุดที่ชื่อว่า คืนหนึ่งในปักกิ่ง ระบำฮู หลุน เป่ย เอ่อ การขับร้องเดี่ยวในเพลง ‘จิตใจที่งดงาม’ การแสดงชุด ความทรงจำเมืองหางโจว ระบำหงเจี่ยเอ่อ เป็นต้น ส่วนการแสดงที่นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ได้นำมาแสดงให้ชม ได้แก่ นาฎลีลาล้านนา ลีลาสะบัดชัยมงคล การแสดงดนตรีไทย “เดี่ยวอาหนูสู่สัมพันธ์ไทยจีน” การบรรเลงหมู่กู่เจิ้ง เพลงสากลและเพลงจีน กาแสดงชุด บุหงาการังนารี การแสดงรำ ‘มาลัยข้าวตอกดอกไม้สวรรค์’ การแสดงชุดหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา เป็นต้น

สร้างรอยยิ้มความสุขและเสียงปรบมือแห่งความชื่นชอบประทับใจชุดแล้วชุดเล่า เพราะกว่าที่การแสดงแต่ละชุดจะสามารถนำมาโชว์ได้นั้นต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนัก อาทิ การแสดงชุด ระบำฮู หลุน เป่ย เอ่อร์ ที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจได้อย่างมากเมื่อนักแสดงสาวจีนร่วม 10 คน ได้หยิบถ้วย 4 ใบที่อยู่บนศรีษะมาถือไว้ที่มือข้างละ 2 ใบพร้อมกับร่ายรำด้วยความพลิ้วไหวตลอดเวลา โดยที่ไม่มีอะไรยึดติดเอาไว้เลยก่อนที่จะเอาถ้วย 4 ใบขึ้นไปไว้ในศรีษะเหมือนเดิม นี่คือระบำพื้นบ้านของชาวมองโกเลียผสมผสานการเต้นแบบใหม่ แสดงลักษณะเฉพาะของชนเผ่ามองโกลว่าสามารถจะเทินสิ่งของไว้บนศรีษะโดยไม่ตกหล่น หรือแม้แต่แก้วเสียงสูงแหลมดังกังวานหวานของนักร้องสาวชาวจีนตัวเล็กๆ คนหนึ่งในบทเพลง จิตใจที่งดงาม ก็สะท้อนให้เห็นความพากเพียรเรียนรู้ทักษะการร้องเพลงในแบบฉบับวัฒนธรรมเพลงจีนที่ไพเราะจับใจ กับเนื้อหาที่สื่อถึงความสุขที่ได้รับจากธรรมชาติจนทำให้มีจิตใจที่เบิกบานได้ทุกวัน

ขณะที่การแสดงของนิสิตไทยก็ยากไม่แพ้กับการฝึกฝนของการแสดงจากจีน เช่น การแสดงดนตรีไทยชุด เดี่ยวอาหนูสู่สัมพันธ์ไทยจีน เป็นเพลงไทยสำเนียงจีนที่มีหลายเพลง เช่น เพลงอาเฮีย เพลงจีนวังหลัง เพลงจีนขิมใหญ่และเพลงอาหนู ซึ่งเพลงอาหนูเป็นเพลงไทยสำเนียงจีนที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักดนตรีไทยมานาน และการบรรเลงหมู่กู่เจิ้ง ในเพลง Take me to your heart เป็นเพลงป๊อบมาเรียบเรียงใหม่เพื่อให้นิสิตไทยได้เล่นกับกู่เจิ้งเครื่องดนตรีของจีน เรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการแสดงดนตรีของไทย-จีนที่ยากอยู่เหมือนกัน ดังนั้นการแสดงแต่ละชุดจึงมีความโดดเด่นอลังการที่เหล่านักแสดงเยาวชนนิสิตนักศึกษาไทยและจีน ได้ร่วมกันฝึกซ้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน จนสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม ไพเราะซาบซึ้งตรึงใจตรึงตราผู้ชมเป็นอย่างมาก

มหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้งที่ 5 นี้ได้ช่วยเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ไทยและจีน ให้สามารถพัฒนา ผสมผสาน แลกเปลี่ยนทักษะและเทคนิคใหม่ๆ ในการเรียนหลักสูตรด้านการแสดงหรือศิลปกรรมศาสตร์ของทั้งสองชาตินี้ ไปสู่ความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพการแสดงนาฎศิลป์แบบสมัยใหม่และแบบดั้งเดิมได้อย่างภูมิใจ ว่าเป็นสิ่งแสดงความเป็นอารยะประเทศและมีคุณค่าอย่างยั่งยืนต่อไป.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มศว ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อคุณภัทรพร หงษ์ทอง

โทร.02-649-500002-649-5000 ต่อ 15924 หรือ 081-296-6411081-296-6411 (มือถือ)