บุคคลคุณภาพแห่งปี 2012 ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย “ใช้ชีวิตอย่างเกรงใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม”

บุคคลคุณภาพแห่งปี 2012 ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย “ใช้ชีวิตอย่างเกรงใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม”

 

 

 

นิตยสาร เชนจ์ อินทู CHANGE into

เรื่อง-ภาพ : ดร.ปัณฑิพาณ์ ธาราภิบาล

 

 

บุคคลคุณภาพแห่งปี 2012  ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย  
“ใช้ชีวิตอย่างเกรงใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม” 

 

 


ตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา ดิฉันประทับใจผู้บริหารหลายๆ คนที่ออกมาส่งเสริมให้พนักงานของตัวเองทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในโครงการพัฒนาสังคมต่างๆ วันนี้ดิฉันอยากนำเรื่องราวดีๆ ของ คุณตี๋-ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกิจการบรรษัท แผนกกิจการสาธารณะ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) มีผลงานเด่นๆ ด้านวิชาการ นอกจากงานประจำ ยังมีงานวิชาการอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะชอบการสอนและมีปณิธานแรงกล้าที่จะส่งเสริมความเข้าใจวิชาวิจัยตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะเป็นความเข้าใจพื้นฐานของนักการตลาด งานด้านวิชาการที่ว่าคือ 

1. งานสอน โดยสอนวิชาวิจัยตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค (Market Research Method and Consumer Behavior) มาตลอด 15 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งเป็นเวลา 10 ปี (7 ปีที่มหาวิทยาลับกรุงเทพ วิทยาลัยนานาชาติ BUIC และ 3 ปีที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยนานาชาติ MUIC) ปัจจุบันยังคงเป็นอาจารย์พิเศษวิชาการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (MIM) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (MBA) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (MBA) 

2. งานเขียน โดยมีความถนัดเขียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผู้บริโภค ปัจจุบันคือบทความในนิตยสารรายเดือน QM ในหัวข้อที่พูดถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในตลาดปัจจุบัน ชื่อ You Are What Customers See และหนังสือพิมพ์เชียงใหม่ธุรกิจรายสัปดาห์ ในคอลัมน์ “รักลูก (ค้า) ให้ถูกทาง” 

สำหรับบทบาทของผู้จัดการด้านกิจการสาธารณะ ทำให้จำเป็นที่จะต้องพบปะกับผู้คนในชุมชนอย่างมากมาย เพื่อเข้าใจสิ่งที่ชุมชนต้องการเพื่อนำไปพัฒนาความสุขในชุมชน มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐในหลายกระทรวง ทบวง กรม เพื่อเพิ่มศักยภาพของงานชุมชน ประสานงานกับผู้นำชุมชนในทุกระดับเพื่อจะได้เข้าถึงและเข้าใจชุมชนอย่างแท้จริง โดยใช้พื้นฐานความรู้ด้านการวิเคราะห์ผู้บริโภคให้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ “ความต้องการของชุมชน” ได้รับเลือกเป็นบุคคลคุณภาพแห่งปี 2012 โดยรับเลือกเป็นบุคคลตัวอย่างในภาคธุรกิจพาณิชย์ จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) เนื่องจากเป็นบุคคลที่ทุ่มเทในงานด้านชุมชนทั้งทางด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัว 

นอกจากนี้ยังมีการจัดการส่งเสริมให้พนักงานของเทสโก้ โลตัส ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เพราะพนักงานจำนวนกว่า 40,000 คนของเทสโก้ โลตัส จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยส่งต่อน้ำใจจากเทสโก้โลตัสไปยังชุมชน เทสโก้ โลตัส มีความตั้งใจที่จะเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน โดยกำหนดพันธกิจเพื่อชุมชนและปฏิบัติตาม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทย โดยผ่านการมีส่วนร่วมของพนักงานเทสโก้ โลตัส ที่จะร่วมพัฒนาชุมชนที่อาศัยอยู่ พันธกิจเพื่อชุมชนครอบคลุมสิ่งที่มีความจำเป็นดังนี้ 1. ร่วมใส่ใจสิ่งแวดล้อม 2. ช่วยเหลือชุมชนอย่างกระตือรือร้นในช่วงเวลาที่ลำบาก 3. เพิ่มทางเลือกที่จะทำให้ชุมชนมีสุขภาพดี 4. ซื้อและขายอย่างเป็นธรรม และ 5. ส่งเสริมการศึกษา 

ในการศึกษาของคุณตี๋เริ่มเรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบการศึกษาปริญญาตรีบัญชีบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สมัยนั้นเป็นภาควิชาบัญชีบริหารธุรกิจ ภายใต้คณะสังคมศาสตร์ รหัส 28 ซึ่งเป็นรหัสเดียวกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย และเป็นทีมเชียร์ลีดเดอร์คณะรุ่นเดียวกัน) จากนั้นไปเรียนจบมหาบัณฑิต MBA เกียรตินิยม ด้าน Business Research จาก Barry University รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ระหว่างเรียนเป็นนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น เป็นประธานนักศึกษา ประธานชมรมเชียร์ ประธานชมรมอาสา เมื่อเป็นนักศึกษาปีที่ 3 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศแผนการตลาด จากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย 

เรียกได้ว่าคุณชาคริตเริ่มงานด้านการตลาดตั้งแต่จบการศึกษา โดยดูแลด้านงานวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นหลัก ใช้งานวิจัยการตลาดเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภคเพื่อนำความเข้าใจที่ได้มาเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการตลาด เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความเสี่ยงที่น้อยที่สุด โดยเริ่มชีวิตการทำงานจากการเป็นผู้จัดการฝ่ายวิจัยบริษัทวิจัยด้านการตลาดเป็นเวลา 7 ปี ก่อนเข้าร่วมงานกับเทสโก้ โลตัส ตั้งแต่ปี 2546 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิจัยลูกค้า ดูแลงานวิจัยลูกค้าของเทสโก้ และเปลี่ยนไปดูแลงานการตลาดด้านแผนงานลูกค้าเมื่อปี 2552 และเข้ารับตำแหน่งด้านกิจการบรรษัท กิจการสาธารณะ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ช่วงใกล้เคียงกับมหาอุทกภัย ปี 2554) (?????) 

คราวนี้ลองมาฟังมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจกันบ้าง ในเมื่อการแข่งขันในธุรกิจสูงมากและมีคู่แข่งมากมาย ในขณะที่ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้นก็ทำให้เทสโก้ โลตัส ต้องสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ถูกใจลูกค้าให้มากที่สุดอย่างสม่ำเสมอ กลยุทธ์ที่เทสโก้ โลตัส ทำทุกวันนี้คือใช้การสร้างสรรค์คุณค่าที่ดีให้กับลูกค้าและชุมชน ด้วยการปฏิบัติตามพันธกิจที่จะตอบแทนชุมชนที่เทสโก้ โลตัส อาศัยอยู่ เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจของเทสโก้ โลตัส และเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชน เมื่อเทสโก้ โลตัส เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนก็ต้องร่วมส่งเสริมสิ่งดีๆ แก่ชุมชน แบ่งปันความสุขในช่วงเวลาที่ดีๆ และร่วมช่วยเหลือชุมชนในยามลำบาก 

นอกจากนี้ชีวิตส่วนตัวคุณชาคริตแต่งงานแล้ว แต่ไม่มีบุตร ภรรยาทำงานด้านการวิจัยด้านการแพทย์ มีสุขภาพดี เพราะคำนึงเรื่องการใช้ชีวิตที่ถูกต้องเสมอ ไม่ป่วยก็มีเงินเก็บมากขึ้น จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องของ 3 อ อาหาร : รับประทานอาหารที่ไม่มัน ไม่หวาน ไม่ขัดสี และรับประทานผักสดเป็นประจำ ทำอาหารรับประทานเองเป็นประจำ มีเมนูที่คิดเองมากมาย เช่น ข้าวกล้องคลุกเต้าหู้ยี้ เส้นหมี่ข้าวกล้องผัดเต้าเจี้ยว แกงเห็ด 

ออกกำลังกาย : เป็นประจำ สัปดาห์ละ 5 วัน มากน้อยต่างกัน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง เพราะมีโรคประจำตัวคือโรคเวียนศีรษะ Vertigo จึงทำให้ต้องดูแลสุขภาพอยู่เสมอ มองโลกในแง่ดี ใจบุญ ซึ่งเป็นนิสัยติดตัวมาตลอด และเลือกที่จะอยู่ในที่ที่มีอากาศสะอาด 

อีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่าคุณตี๋มีหลักในการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายมากๆ โดยเขามีความเกรงใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม เขาบอกว่า การมีชีวิตอยู่ในแต่ละวันทำให้ต้องมีการรบกวนบุคคลอื่นตลอดเวลา เพื่อสร้างชีวิตที่มีความสุขคือการผูกมิตรและมอบน้ำใจให้แก่กันด้วยการให้ไมตรีจิตกับเพื่อนร่วมงาน ผู้ที่เราติดต่องานด้วย รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 

“การมีชีวิตอยู่ในแต่ละวันทำให้เราต้องมีการรบกวนบุคคลอื่นตลอดเวลา เพื่อสร้างชีวิตที่มีความสุขคือการผูกมิตรและมอบน้ำใจให้แก่กันด้วยการให้ไมตรีจิตกับเพื่อนร่วมงาน ผู้ที่เราติดต่องานด้วย สร้างความไว้ใจ ไม่รบกวนเขา ไม่เอาเปรียบ ไม่ทำร้าย พอทำไปเรื่อยๆ ก็เป็นนิสัย ทำให้ชีวิตมีความสุข พอไม่มีศัตรู ทำอะไรก็ราบรื่น ความวุ่นวายในชีวิตก็จะน้อยลงตามไป 

“ความเกรงใจที่มีต้องเผื่อแผ่ถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช้ชีวิตที่ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินความจำเป็น สิ่งง่ายๆ คือการรับประทานอาหารให้หมดจาน เกรงใจเกษตรกรที่หาอาหารมาให้ ดื่มน้ำไม่เหลือทิ้ง เกรงใจน้ำ เลยไม่ใช้ฟุ่มเฟือย ใช้ถุงพลาสติกน้อยที่สุด เกรงใจสิ่งแวดล้อม เพราะถุงพลาสติกใช้เวลา 400 ปีเพื่อย่อยสลาย 

"ผมเคยขี่จักรยานไปซื้ออาหารแล้วลืมเอาภาชนะไป ผมยอมขี่จักรยานกลับมาเอาภาชนะที่บ้านใหม่ แม้ว่าระยะทางไม่ใกล้นัก แต่ก็ทำให้ผมสบายใจ แล้วผมยังใช้รถน้อยลง ผมเดินมากขึ้น ไม่สร้างมลพิษ เกรงใจคนทั่วไป ไม่อยากผลิตมลภาวะ จึงยอมจ่ายแพงขึ้นถ้าหากจะได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ทำอย่างนี้เพราะความเกรงใจต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นผู้ให้กับเราเสมอมา แม้จะเป็นคนส่วนน้อยในสังคมที่ทำ แต่ก็จะไม่มีวันหยุดทำ” 

นี่เป็นเรื่องราวดีๆ ของผู้บริหารที่ใช้ชีวิตอย่างเกรงใจธรรมชาติ ทำให้ดิฉันชื่นชมกับแนวคิดของคุณชาคริต และคิดว่าแนวคิดนี้น่าจะทำให้คนที่ใช้ชีวิตแบบไม่เกรงใจธรรมชาติคงได้หันมาดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นเช่นเดียวกัน  


//////////////// 
ดร.ปัณฑิพาณ์ ธาราภิบาล อดีตผู้คร่ำหวอดในสายอาชีพสื่อมวลชนมากว่า 15 ปี ด้วยบทสัมภาษณ์ที่สร้างความฮือฮาไปทั่วประเทศกับ “ชีวิตรักหม่อมลูกปลา” ในนิตยสารคุณหญิง ค่ายโน๊ตพับลิชชิ่ง จากนั้นผันสู่เครือฐานเศรษฐกิจ และช่วยงานการเมืองจนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 2 ขั้น ก่อนผันตนเองเดินสู่สายอาชีพพีอาร์ห้างค้าปลีกชั้นนำของเมืองไทย