‘จงเป็นนักสังเกตการณ์ ผู้ตั้งคำถามเปลี่ยนชีวิต’

‘จงเป็นนักสังเกตการณ์ ผู้ตั้งคำถามเปลี่ยนชีวิต’

 

 

CHANGE  Share  ศิริรัตน์ ศิริวรรณ (โค้ชบี)

วิทยากรด้านการพัฒนาผู้นำและการสื่อสาร

และโค้ชที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (Professional Certified Coach / PCC)

บริษัท บี วินนิ่ง เทรน แอนด์ โค้ช จำกัด This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. , www.bewinning.biz

 

 

‘จงเป็นนักสังเกตการณ์ ผู้ตั้งคำถามเปลี่ยนชีวิต’

 

ในฐานะโค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ ผู้เขียนใช้ทักษะการตั้งคำถามอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นให้ผู้รับการโค้ชเกิดการตระหนักรู้ความจริงเกี่ยวกับวิธีคิด และอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่า เรามักเข้าใจปัญหาของผู้อื่นมากกว่าปัญหาของตนเอง เปรียบเสมือนคนที่ไม่สามารถมองเห็นใบหน้าของตนเองได้ แต่คนอื่นมองเห็น เราจะมองเห็นหน้าของเราเมื่อเราส่องกระจก

 

องค์กรหลายแห่งจึงจ้างโค้ชมาทำหน้าที่เป็น ‘กระจกสะท้อนความจริง’ ให้แก่ผู้บริหารและพนักงานของตนเพื่อให้คนเหล่านั้นเข้าใจความเป็นจริงเกี่ยวกับสิ่งที่กีดขวางตนเองไม่ให้บรรลุเป้าหมาย หรือก้าวไปไกลได้กว่าจุดที่ตนดำรงอยู่ โค้ชจะตั้งคำถามโดยปราศจากอคติหลากหลายคำถามเพื่อให้ผู้รับการโค้ชคิด ทบทวน ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง และสถานการณ์ที่ตนเผชิญอยู่จนหาทางออกได้ ภายใต้บรรยากาศของการสนทนาที่เต็มไปด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

 

ที่จริง ทุกคนสามารถเป็นโค้ชหรือกระจกสะท้อนความจริงให้แก่ชีวิตของตนเองได้ แต่ความท้าทายคือ เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ท้าทายบางอย่าง เรามักมีอารมณ์ร่วมกับสถานการณ์นั้น เราสูญเสียความสามารถในการมองตนเอง ผู้อื่น และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง เราจึงไม่สามารถทำหน้าที่กระจกสะท้อนความจริงและตั้งคำถามที่เป็นกลางและสร้างสรรค์แบบที่โค้ชซึ่งเป็นคนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในสถานการณ์ทำได้ เช่น แทนที่เราจะถามตนเองว่า “ฉันต้องการอะไรในชีวิตกันแน่?” เรากลับตั้งคำถามกับตนเองว่า “ทำไมฉันถึงต้องมาเจอเรื่องแย่ๆแบบนี้ด้วย?” หรือแทนที่เราจะตั้งถามว่า “ทางออกของเรื่องนี้คืออะไร?” เรากลับถามว่า “เขาทำกับฉันอย่างนี้ได้อย่างไร?” คำถามย้อนอดีตเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้เราพ้นทุกข์ และเติบโต ในทางตรงกันข้าม เราจะยิ่งจมดิ่งลงไปในความทุกข์มากขึ้นแบบถอนตัวได้ยาก เพราะเมื่อเราพูด ถาม รู้สึก และคิดถึงอดีตบ่อยเกินไป สมองซึ่งทำหน้าที่สร้างความเชื่อมโยงข้อมูลก็จะยิ่งผูกเรื่องราวต่างๆเป็นปมแน่นขึ้นๆ

 

ดังนั้น ผู้เขียนแนะนำว่า หากเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้ทุกข์ใจ หรือสถานการณ์ท้าทายใดๆก็ตาม ให้ลองดึงตัวเองออกมาจากเรื่องนี้ ลองมองเข้าไปด้วยสายตาของผู้สังเกตการณ์ (Observer) ไม่ใช่สายตาของเหยื่อ (Victim) ผู้สังเกตการณ์จะไม่รู้สึกเจ็บเพราะอยู่นอกวง แต่หากยังอยู่ในวงเป็นเหยื่อ เป็นตัวละครหนึ่งในสถานการณ์ ยิ่งคิดก็ยิ่งเจ็บ ยิ่งคิดยิ่งจม เมื่อสวมบทของผู้สังเกตการณ์แล้ว ลองตั้งคำถามกับตนเองว่า “ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เรามองเห็นอะไร?” ผู้เขียนเคยตั้งคำถามลักษณะนี้กับผู้รับการโค้ชที่ติดอยู่ในเรื่องราวที่ทำให้ทุกข์ใจและไม่สามารถถอนตนเองออกมาได้ เมื่อผู้เขียนกระตุ้นให้เขาดึงตัวเองออกมานอกสถานการณ์และมองเข้าไปในเรื่องราวนั้นเหมือนกำลังดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ผู้เขียนพบว่าผู้รับการโค้ชเกือบทุกคนมีมุมมองต่อตนเอง ผู้อื่น และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างไปจากเดิม มีความเป็นกลางมากขึ้น เริ่มกลับมาอยู่กับปัจจุบัน และเริ่มมองไปถึงเป้าหมายในวันข้างหน้า รวมถึงคิดค้นวิธีการต่างๆที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น

 

มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงมองเห็นแล้วว่า มนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้สามารถเป็นโค้ชหรือกระจกสะท้อนความจริงให้แก่ชีวิตตนเองได้เมื่อตนสามารถปรับบทบาทของตนมาเป็นผู้สังเกตการณ์ และตั้งคำถามแบบผู้สังเกตการณ์ที่อยากรู้อยากเห็นว่า “เกิดอะไรขึ้น?” “ฉันมองเรื่องนี้อย่างไร?” “ฉันเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง?” “ฉันมีทางเลือกอะไรบ้าง?” “สิ่งแรกที่ฉันจะทำคืออะไร?” เป็นต้น

 

คำถามมีหลากหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตัวอย่างข้างต้นที่ผู้เขียนยกมา จะตั้งคำถามอะไร ก็ขึ้นอยู่กับคำตอบก่อนหน้า ประเด็นสำคัญคือ การตั้งคำถามต้องทำด้วยจิตใจที่เป็นกลางแบบผู้สังเกตการณ์จึงจะทำให้เราเห็นทุกข์ พ้นทุกข์ เรียนรู้จากทุกข์ และดับทุกข์ได้โดยแท้จริง

 

 

 

 

ติดต่อสอบถามรายละเอียด บริษัท บี วินนิ่ง เทรน แอนด์ โค้ช จำกัด โทรศัพท์ : 02-438 283002-438 2830, 08-1720-078608-1720-0786 อีเมล์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. www.bewinning.biz