กงจักร หรือ ดอกบัว โดย เฒ่าธรรมชาติ

กงจักร หรือ ดอกบัว โดย เฒ่าธรรมชาติ

 

 

CHANGE  Share  เฒ่าธรรมชาติ

 

 

กงจักร หรือดอกบัว โดยเต่าธรรมชาติ

     สุภาษิตไทยที่เป็นคำพังเพยว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” เป็นคำสอนที่มีอยู่ในตำนานพระพุทธศาสนา หมายถึง ผู้ที่มีมโนคติทัศนวิสัยที่ผิดเพี้ยน เห็นสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูก เห็นสิ่งที่ถูกเป็นสิ่งที่ผิด ไม่รู้จักบาป ไม่รู้จักบุญ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ หันหลังให้ความสว่าง เดินเข้าหาความมืดมิดย่อมไม่มีทางรอดจากความทุกข์ยากและความวิบัติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

 

 

CHANGE  Share  เฒ่าธรรมชาติ

 

 

กงจักร หรือดอกบัว โดยเต่าธรรมชาติ

     สุภาษิตไทยที่เป็นคำพังเพยว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” เป็นคำสอนที่มีอยู่ในตำนานพระพุทธศาสนา หมายถึง ผู้ที่มีมโนคติทัศนวิสัยที่ผิดเพี้ยน เห็นสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูก เห็นสิ่งที่ถูกเป็นสิ่งที่ผิด ไม่รู้จักบาป ไม่รู้จักบุญ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ หันหลังให้ความสว่าง เดินเข้าหาความมืดมิดย่อมไม่มีทางรอดจากความทุกข์ยากและความวิบัติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

     มโนคติทัศนวิสัยที่ว่านี้ คือ คุณสมบัติของจิตที่รับรู้และซึมซับการรับรู้ และความคิดอ่านที่เกิดจากการรับรู้ในเรื่องราวต่างๆ ทั้งกุศลและอกุศล สั่งสมเรื่อยๆ ไป จนกลายเป็นความเชื่อถือและความเห็นฝังตัวอยู่ในกมลสันดานที่เรียกว่า ทิฏฐิ ถ้าเป็นความเห็นที่ถูกต้องดีงามเป็นประโยชน์ก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เป็นอกุศล  เป็นโทษ เป็นภัย ก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ สำหรับความเห็นที่ผิดทำนองคลองธรรม ถึงขนาดเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิในขั้นที่รุนแรงถึงขนาดที่น้อมรับเอานรกมาสู่ตน แทนสวรรค์และนิพพาน กันเลยทีเดียว

     ภาวะที่เห็นผิดบ้าง ถูกบ้าง เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่ย่อมมีทั้งความโง่เขลา และความเฉลียวฉลาด และแต่ละบุคลก็ยังมีโง่หรือฉลาดบางเรื่อง บางเวลา บางสถานการณ์ แตกต่างกันออกไป เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมใหญ่น้อย ก็ย่อมเกิดความขัดแย้งกันได้อยู่เสมอเป็นปกติ และเป็นสิ่งบอกเหตุสำคัญสำหรับหยุดยั้งการกระทำใดๆ ที่จะเกิดความทุกข์ยากหรือความเสียหายทั้งในส่วนบุคคล หรือทั้งสังคมโดยรวม เบื้องหลังของความขัดแย้ง ย่อมมีเห็นผิดที่เกิดจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นผลผลิตของความโง่เขลา(อวิชชา)และมิจฉาทิฏฐิทั้งสิ้น

 

ถ้าหากกิเลส ตัณหา อุปาทาน ยังไม่หนาแน่นถึงขนาดเห็นกงจักรเป็นดอกบัว สังคมนั้นก็ผ่านพ้นปัญหาแห่งความขัดแย้งไปได้ ด้วยหลักธรรมของศาสนาที่ซึมซับหยั่งรากเป็นสัมมาทิฏฐิอยู่ในใจคน จนเกิดความละอายชั่วกลัวบาป ประกอบด้วยความเคารพยำเกรงในพระธรรมวินัยและตัวบทกฎหมายที่เป็นกติกาของบ้านเมือง ซึ่งบัญญัติขึ้นตามหลักของศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ที่มีผลบังคับใช้โดยกำหนดบทลงโทษ เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายจากการกระทำผิดต่อบุคคลหรือสถาบันทางศาสนาและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อผ่านพ้นความขัดแย้งไปได้ บุคคลหรือสังคมนั้นๆ จะได้รับการเรียนรู้ เกิดการปรับเปลี่ยนมโนคติทัศนวิสัยกันใหม่ ทำให้เกิดความคิดเห็นและการกระทำการที่ชอบประกอบด้วยธรรม ยังความสันติสุขกลับคืนมาสู่สังคมได้

     เมื่อหันกลับมามองภาวะความขัดแย้งในสังคมไทยในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งด้านอาณาจักรและ ศาสนจักร ซึ่งทำท่าจะรุนแรงบานปลาย เป็นผลกระทบต่อความมั่นคงต่อสถาบันหลักของชาติทั้ง 3 สถาบัน (ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์) จนถึงขั้นที่ต้องปฏิรูปกันขนานใหญ่ เพราะบุคคลที่ประกอบเป็นกลไกของสถาบันทั้ง 3 ล้วนอยู่ในวังวนของความขัดแย้งที่มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม จนถึงขั้นเห็นกงจักรเป็นดอกบัว มีเป็นจำนวนมาก หากไม่มีกระบวนการใดๆ สามารถเข้ามาปรับเปลี่ยนมโนทัศนคติที่ผิด หรือมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายให้ถูกที่ถูกทาง และทันเวลาแล้ว ผลที่สังคมจะได้รับอาจเป็นบทเรียนราคาแพงที่สุดของสังคมไทย และพุทธบริษัทในสยามประเทศนี้

     ชาวไทยที่เป็นชาวพุทธถึง 80% ของประชากรไทย ทั้งที่เป็นนักบวช (สงฆ์) และฆราวาส ควรทำขณะนี้ก็คือ สงบกาย สงบใจ ตั้งสติรู้ตัวอยู่กับกายใจของตนเอง จนเกิดสติต่อเนื่องเป็นสมาธิ จิตบริสุทธิ์ สงบเย็น ไม่เกาะเกี่ยวกับอารมณ์ที่ทำให้จิตขุ่นมัว (รัก โลภ โกรธ หลง ริษยา อาฆาต พยาบาท) รำลึกอยู่แต่ในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นพระธรรมที่พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสสอนไว้เป็นแนวทางหลักสำหรับการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งครอบคลุมพุทธบริษัททุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกฐานะ ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์ หรือเป็นฆราวาส พระธรรมที่เป็นแนวทางหลักที่สำคัญนี้ได้แก่โอวาทปาฏิโมกข์ แล้วน้อมโอวาทปาฏิโมกข์นั้นเข้ามาไว้ในจิตใจ นำไปประพฤติปฏิบัติทันที และปฏิบัติต่อเนื่องไปตลอดชีวิตด้วยความไม่ประมาท ดังนี้

พระโอวาทปาฏิโมกข์

การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตใจของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติ คือ ความอดกลั้น เป็นความเพียร เครื่องผากิเลสอย่างยิ่ง

ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันเยี่ยม

ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะ

การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ความเป็นผู้ประมาณในภัตตาหาร การอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด

การประกอบ โดยเอื้อเฟื้อในอธิจิต

นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

     ชาวพุทธที่เข้าถึงธรรมของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาส เมื่อปฏิบัติตามพระโอวาทปาฏิโมกข์ ด้วยความรู้ ความเข้าใจ โดยไม่บิดเบือนคำสอนและพระธรรมวินัย จะเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะมีความละอายชั่ว กลัวบาป หันกลับมายุติความขัดแย้งที่รุนแรงในครั้งนี้ได้ เพราะตระหนักกันดีในความจริงของทุกข์โทษที่จะได้รับสำหรับผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวว่า กฎแห่งกรรมนั่นมีอยู่จริง และจะไม่มีวันหยุดยั้งกลบเกลื่อนหรือหลีกเลี่ยง ด้วยวิธีการบิดเบือนพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าที่เป็นกฎของธรรมชาติได้เลย นี่คือทางรอดทางเดียวของสังคมไทยและพุทธบริษัทจากหายนะที่มีโอกาสสูงและเป็นไปได้ในขณะนี้.