ไตรสิกขาประกันภัย

ไตรสิกขาประกันภัย

 

 

CHANGE  Share  เฒ่าธรรมชาติ

 

ไตรสิกขาประกันภัย

 

           ขึ้นชื่อว่า “ภัย” ไม่ว่าใครก็กลัว เพราะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์เดือดร้อน และเป็นปฏิปักษ์ต่อสวัสดิภาพของชีวิต จิตใจ ร่างกายและทรัพย์สิน สัญชาติญาณของการรักตัวกลัวภัยจึงมีอยู่ในสิ่งมีชีวิต

 

 

 

CHANGE  Share  เฒ่าธรรมชาติ

 

ไตรสิกขาประกันภัย

 

           ขึ้นชื่อว่า “ภัย” ไม่ว่าใครก็กลัว เพราะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์เดือดร้อน และเป็นปฏิปักษ์ต่อสวัสดิภาพของชีวิต จิตใจ ร่างกายและทรัพย์สิน สัญชาติญาณของการรักตัวกลัวภัยจึงมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งคน สัตว์ ต้นไม้ ใบหญ้า จุลินทรีย์ เชื้อเห็ด เชื้อรา ต่างก็ระวังตัวกลัวภัยด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งที่น่ากลัวของภัย ก็คือ ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานทางร่างกายและจิตใจจากบาดแผลและความสูญเสียและที่สุดของความสูญเสีย ก็คือการสูญเสียชีวิตและสิ่งที่เป็นที่รักของตน

     ตลอดเวลาอันยาวนานแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ชาวโลกได้ประสบกับภัยพิบัติในระดับที่เป็นสาธารณภัยมาโดยตลอด ทั้งภัยที่เกิดเองโดยธรรมชาติ และที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ภัยพิบัติระดับที่เป็นสาธารณภัยนี้ เป็นที่หวาดวิตกของสาธารณชน และไม่ปรารถนาจะให้เกิดขึ้น ณ ที่ใด ๆ ก็ตาม ที่ตนหรือสิ่งอันเป็นที่รักที่หวงแหนของตนจะตกเป็นเหยื่อของภัยนั้น ชาวโลกตระหนักกันดีว่า ภัย คือ “ชะตากรรม” สิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำได้คือ การสังเกตการณ์เฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อหลบหนี หลีกเลี่ยง หรือส่งสัญญาณเตือนภัยก่อนที่ภัยจะมาถึง และการบรรเทาทุกข์ เยียวยา ฟื้นฟู เมื่อภัยเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น เพราะมนุษย์ยังไม่มีหนทางที่จะประสบความสำเร็จในการควบคุมพลังอันยิ่งใหญ่มหาศาลของธรรมชาติ และยังไม่สามารถเอาชนะความโง่เขลาที่มีอยู่ประจำอยู่ในกระแสสันดาน อันตกอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของ กิเลส ตัณหา อุปาทานของมนุษย์เอง

     ภาพข่าวและเรื่องราวของภัยพิบัติถูกแพร่อยู่เสมอทางสื่อต่าง ๆ นอกจากทำให้เราได้เห็นสัจธรรมของความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และหมดสิ้นไปแล้ว ในท่ามกลางสภาพแห่งความพินาศย่อยยับนั้น ก็จะมีผู้รอดปลอดภัยบางคน หรือมีสิ่งก่อสร้างบางสิ่งที่ยังยืนตัวอยู่ได้ด้วยความเสียหายเพียงเล็กน้อยให้ได้พบเห็นอยู่เสมอ นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องราวมากมายของการตกเป็นเหยื่อของภัยอย่างน่าใจหาย เสมือนมีบางสิ่งบางอย่างที่ตามไล่ล่า และเรื่องราวของการรอดจากภัยได้เสมือนมีปาฏิหาริย์ หรือสิ่งลึกลับบางอย่างมาช่วยไว้ คำว่า โชคชะตา เคราะห์กรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีร้าย เจ้ากรรมนายเวร จึงมักจะเป็นคำตอบที่นำมาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว

     พระธรรมคำสอนในพุทธศาสนาได้กล่าวถึง “ภัย” ไว้ครบถ้วนทุกมิติ ทั้งภัยที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดแจ้ง และภัยที่แฝงอยู่ไม่อาจเห็นได้ด้วยปัญญาทางโลก ๆ การรักษาตนให้รอดปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นภัยชนิดใด ต้องยึดถือตามหลักศึกษาและปฏิบัติ 3 ประการ ชื่อว่า ไตรสิกขาบท ได้แก่

  1. ศีล คือ ระเบียบปฏิบัติทางกาย วาจา ใจ ในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ได้แก่ การไม่ฆ่าฟัน ข่มเหง ประทุษร้าย ร่างกายและชีวิตของสัตว์โลกใด ๆ ไม่ลักขโมย ยักยอก หลอกลวง คดโกง แย่งชิง เพื่อเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ล่วงละเมิดในภรรยาหรือสามีของผู้อื่น ไม่กล่าวเท็จ ขู่เข็ญ หยาบคาย ส่อเสียด ยุยง เหลวไหลไร้สาระ และไม่เสพย์สิ่งเสพย์ติดมึนเมาที่จะทำลายสติสัมปชัญญะและสุขภาพของกายและใจ
  2. สมาธิ คือ การฝึกอบรมจิตสำนึก ให้ระลึกรู้สึกอยู่ในความจริงแห่งกายและใจอยู่เสมอ ตั้งมั่นอยู่ในความสงบในกระแสแห่งกุศลธรรม ครองสติสัมปชัญญะโดยไม่หวั่นไหว ต่อบาปอกุศลทั้งปวง และ
  3. ปัญญา ที่เกิดจากการปฏิบัติตามข้อ 1 และ ข้อ 2 เกิดความประจักษ์แจ้งในสัจธรรมของธรรมชาติ กฎแห่งธรรม กฎแห่งกรรม กฎแห่งพระไตรลักษณ์ รู้เท่าทันในโลกและชีวิต รูปธรรมและนามธรรม ทั้งในส่วนที่เป็นคุณ และเป็นโทษ เป็นบุญและบาป ก็จะถึงซึ่งความพ้นทุกข์และพ้นภัยทั้งปวงได้

     การปฏิบัติตนตามไตรสิกขาบทนี้ เป็นมาตรการที่สามารถนำมาใช้ในการรับมือกับภัยทั้งหลายได้เป็นการประกันภัยที่เป็นพื้นฐานสำหรับการเตรียมกายและใจเพื่อเผชิญหน้ากับภัยทุกประการได้เป็นอย่างดี ชาวพุทธทั้งหลายจึงควรลงมือทำกันได้ทันทีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่มีความยุ่งยากในการทำประกัน ไม่มีเงินก็ประกันได้ ขอเพียงมีกาย มีใจ และมีความเพียรที่จะปฏิบัติให้ต่อเนื่องก็จะเห็นผลทันที เป็นการประกันภัยที่คุ้มค่ากว่าการประกันภัยใด ๆ ทั้งในปัจจุบันกาล และใน อนาคตกาลอันยาวไกล