20 ความอัศจรรย์ที่ค้นพบจากการปฏิบัติธรรม..
20 ความอัศจรรย์ที่ค้นพบจากการปฏิบัติธรรม..
1. การขัดเกลาตนเอง ควรเริ่มจากกิเลสตัวที่มีกำลังมากที่สุด ไม่ใช่กิเลสตัวที่มีกำลังน้อยที่สุด เพราะเมื่อทำให้กิเลสตัวที่มีกำลังมากอ่อนแรงได้ ความอดทนอดกลั้นจะเพิ่มขึ้น ภูมิคุ้มกันกิเลสตัวเล็กๆ จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องอาศัยความพยายามมากนัก
2. โทสะ เห็นง่าย เกิดง่าย สร้างความสูญเสียรุนแรง แต่ในเบื้องต้นกำจัดง่ายกว่า โลภะ ราคะ และโมหะ
3. เมื่อกำจัดกิเลสหยาบๆ ได้บางส่วน กิเลสชั้นละเอียดจะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มีความแนบเนียนกว่า พบว่า มันคือสิ่งที่เราไม่อยากสละ เนื่องจากมันสร้างความพอใจให้เรา จำเป็นต้องอาศัยกำลังสติเป็นอย่างมากในการเท่าทันระวังตน
4. แม้ไม่พูดในทางร้าย แต่เรายังคิดร้ายอยู่เสมอ ความคิดร้ายนั้น ปรุงแต่งขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นกระบวนการ มิใช่สิ่งที่จงใจสร้างขึ้นเอง ดังนั้นเราจึงไม่ควรยอมรับว่า ความคิดคือตัวตนของเรา และการคิดดีตลอดเวลาก็เป็นไปไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ หนทางแก้ไขคือ เมื่อเกิดความคิดทางร้าย ให้มีสติน้อมเข้ามาพิจารณา จับจ้องไปที่ตัวความคิด จะพบว่าทุกความคิดจะหายไปเองตามธรรมชาติ ทำเช่นนี้เรื่อยๆ จะรู้สึกว่า กาย วาจา สำรวมขึ้น ความคิดฟุ้งซ่านน้อยลง ความอยากพูดน้อยลง อยากเป็นผู้ฟังมากขึ้น เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น
5. ลาภคือเงินทองวัตถุ ยศคือตำแหน่งความสำคัญ สรรเสริญคือคำชื่นชม สุขคือความอิ่มใจ บรรดาสี่อย่างนี้ เงินทองคือส่วนที่สามารถสละง่ายที่สุด และที่เราต้องการเงินทอง ตำแหน่ง และคำสรรเสริญ ก็เพราะเราต้องการความสุข ดังนั้น ผู้ที่สามารถมีความสุขด้วยวิธีง่ายๆ จะมีความต้องการเงินทอง ตำแหน่ง และคำชื่นชมน้อยลงไปด้วย
6. การเกรงกลัวผู้มีอำนาจ เป็นเรื่องธรรมดาของปุทุชน แต่เมื่อเรารู้สึกพอใจในสิ่งที่ตนมี และเรียนรู้ที่จะขยายขอบเขตความเมตตาไปได้ระดับหนึ่ง จิตใจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าประหลาด ใจจะไม่นึกกลัวผู้มีอำนาจอย่างไร้เหตุผล อีกทั้งยังรู้สึกเห็นใจผู้ที่ด้อยกว่าตน อยากช่วยเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์ มิใช่ช่วยในฐานะผู้ที่วิเศษกว่าเขา ความอ่อนน้อมถ่อมตนจะเพิ่มขึ้น ความอยากเป็นคนยิ่งใหญ่ เป็นคนสำคัญจะน้อยลง มีความภูมิใจ พอใจในความธรรมดาของชีวิต ทำให้ชีวิตมีความเรียบง่ายยิ่งขึ้น ซับซ้อนน้อยลง
7. การทำงานด้วยจิตว่าง เมื่อเริ่มต้น จำเป็นต้องอาศัยความรักในหน้าที่ แต่ความรักเพียงอย่างเดียว ไม่ทำให้เกิดภาวะทำงานด้วยจิตว่างได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องอาศัยวิปัสสนาควบคู่ไปด้วย คือความรู้สึกตัวอยู่กับสิ่งที่ทำตรงหน้า การรู้สึกตัวนี้ ช่วยให้งานที่ทำอยู่มีความสนุกสนานเพิ่มขึ้น และความสนุกสนานนี่เองที่สร้างสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิ และความรู้สึกตัวขณะที่ทำงาน เมื่อนั้น การทำงานด้วยจิตว่างก็จะเกิดขึ้นมาได้ การงานที่ทำอยู่จะสามารถพัฒนาไปได้แบบก้าวกระโดด
8. การทำสมาธิ วิปัสสนา คือเหตุแห่งการละวาง ไม่ใช่ผล สมาธิ วิปัสสนาไม่ใช่เป้าหมาย หากแต่เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ผลลัพธ์ คือการละวาง การทำสมาธิ วิปัสสนาเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดความละวางได้ช้า จำเป็นต้องยึดมั่นหลักของความเมตตา ทาน และศีลควบคู่ไปด้วย จิตจึงมีกำลังสามารถละวางได้เพิ่มขึ้น
9. ข้าศึกร้ายแรงของการปฏิบัติธรรมคือการเพ่งโทษผู้อื่น เนื่องจากทุกครั้งที่เพ่งโทษผู้อื่น อัตตาจะขยายเผ่าพันธุ์เพิ่มมากขึ้น บ้างครั้งการเพ่งโทษผู้อื่นก็มาในรูปความหวังดี การอบรมสั่งสอน ผลที่ได้จากการเพ่งโทษผู้อื่น ก็คือความอ่อนแอ ความตกต่ำของจิต จิตที่เพ่งโทษผู้อื่น จะกลายเป็นจิตที่มีความยโสโอหัง เป็นอัตตาที่มาในคราบของปัญญาซึ่งผู้สนใจการปฏิบัติธรรมไม่ควรบ่มเพราะให้เกิดขึ้น
10. เมื่อปฏิบัติธรรมไประดับหนึ่ง จะพบว่า จิตใจแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือจิตสำนึกดีงาม ส่วนหนึ่งคือจิตใต้สำนึกที่เต็มไปด้วยกิเลส ถ้ามีจิตสำนึกที่ดีงามมาก แต่จิตใต้สำนึกมีกิเลสมาก ชีวิตจะมีความทุกข์ เนื่องจากช่องว่างระหว่างสิ่งที่รู้ กับสิ่งที่ทำได้ ยังห่างไกลกันมาก วิปัสสนา และสมาธินี่เองคือส่วนที่สร้างสมดุลให้เกิดขึ้น เนื่องจากจิตถอยตนเองออกมาเป็นผู้สังเกต เมื่อสังเกตมากขึ้นๆ ช่องว่างระหว่างความรู้ กับสิ่งที่ทำได้จะน้อยลง ความสมดุล ความสุขจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการปฏิบัติในขั้นภาวนาจึงมีความสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นแล้ว ผู้ศึกษาธรรมะจะกลายเป็นคนสองบุคลิก ทำให้เกิดความทุกข์อันเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในจิตใจของตนเอง ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงพูดเสมอว่า ธรรมะของท่าน ไม่ใช่หลักปรัชญา หากแต่คือหลักปฏิบัติที่ต้องอาศัยการภาวนาทางจิตเข้าไปด้วยจึงจะเห็นผลลัพธ์สูงสุด
11. การแสวงหาความสุข จะทำให้เกิดความทุกข์ตามมา ต่อเมื่อหยุดแสวงหา ความสุขจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นความสุขอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเย็นเหมือนน้ำ นิ่ง และราบเรียบ เราอาจเรียกความสุขชนิดนี้ว่า ความเบิกบาน หนทางในการได้มานั้น จะต้องละวางทั้งความสุข และความทุกข์ แล้วความเป็นกลางของจิตจะเกิด เมื่อความเป็นกลางเกิด ความเบิกบานจะงอกงามขึ้นเองโดยไม่จำเป็นต้องแสวงหา
12. ความศรัทธานั้นจำเป็นมากในช่วงต้น แต่ต้องละวางลงบ้างในช่วงกลาง เนื่องจาก ตัวศรัทธานี่เอง จะเป็นเครื่องกัน ลดทอนความกล้าหาญในการเพ่งมองชีวิตตามความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม แม้จะลดทอนลงในช่วงกลางของการปฏิบัติ แต่ในช่วงต่อๆ ไป ความศรัทธาที่แท้จริงจะค่อยๆ งอกงามขึ้นเอง เป็นความศรัทธาที่ต่างจากช่วงต้น เพราะเป็นความศรัทธาที่ถูกทดสอบด้วยปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
13. หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ คือการขูดเกลาความชั่วของตน เราอาจเรียกความชั่วนี้ว่า กิเลส เราสามารถขูดเกลากิเลสได้ผ่านการทำงาน การใช้ชีวิต การมีความรัก การมีครอบครัว รวมถึงการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ การขูดเกลากิเลสนี้เป็นหน้าที่อันดับหนึ่งของทุกคน ของมนุษยชาติ ทำอย่างไรความโลภ โกรธ หลงของเราจะลดลง ความรู้จักพอ สมาธิ ความขยันขันแข็งของเราจะเพิ่มมากขึ้น เราไม่สามารถแยกการขูดเกลากิเลสออกจากชีวิตได้ เพราะที่สุดแล้ว การขูดเกลากิเลสจะส่งผลโดยตรงต่อความเจริญก้าวหน้า และความสุขในชีวิตของเรา
14. ชีวิตที่เรียบง่ายนั้น ไม่ได้ทำง่ายอย่างชื่อ เพราะต้องใช้สติปัญญา และการตกผลึกชีวิตอย่างหนักหน่วงจึงเกิดขึ้นได้ ชีวิตที่เรียบง่าย คือชีวิตของผู้มีกิเลสน้อย เป็นวิถีทางของผู้แสวงหาความร่ำรวยด้วยการทำลายความโลภ จนเกิดเป็นความสันโดษ มักน้อย และความพอใจ หากต้องการชีวิตที่เรียบง่ายอย่าเพียงแค่คิด เพราะความคิดไม่สามารถเท่าทันกิเลสได้ จำเป็นต้องมีหลักสมาธิ วิปัสสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น วิถีแห่งความเรียบง่าย จึงเป็นอีกภาคหนึ่งของวิถีแห่งการภาวนาอย่างแท้จริง
15. จริงอยู่การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตน แต่การส่งเสริมให้คนรอบข้าง สนใจในสิ่งเดียวกัน จะทำให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปง่ายขึ้น ทั้งนี้ไม่ควรแยกเวลา สถานที่ เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นทำลงที่ใจเป็นสำคัญ จึงสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ทุกสถานการณ์
16. เมื่อจิตเกิดการพัฒนา ชีวิตจะลงตัวมากขึ้น ไม่ใช่เพราะมีเงินมากขึ้น หรือหน้าที่ก้าวหน้าขึ้น แต่เป็นเพราะว่า ผู้ฝึกฝนจิตใจ จะกลายเป็นผู้อยู่เหนือสถานการ์ดีร้าย มีเรื่องร้ายก็ไม่สะเทือน มีเรื่องดีก็ไม่หวั่นไหว โลกจะกระทบใจได้น้อยลง เป็นผู้อาศัยอยู่ในโลก แต่ไม่ไหลตามโลก จะอาศัยปัจจัยภายนอกเพื่อสร้างความสุขน้อยลงเป็นลำดับ เพราะมีความสุขที่ระเบิดได้เองจากภายใน
17. การเห็นกิเลสของตนเองคือความสนุกสนานของชีวิต ไม่มีความสุขใดที่อิ่มใจมากไปกว่า ความสุขที่ได้จากการเห็นความชั่วช้าของตนเอง ต่อเมื่อเห็นความชั่วช้าของตนเองแล้ว ความชั่วช้าที่มีอยู่จะหยุดการเจริญเติบโต ทำให้มีแนวโน้มจะกำจัดความชั่วร้ายได้ง่ายขึ้น
18. การทำความดีนั้น เป็นเรื่องของการทวนกระแสกิเลส เบื้องต้น ผู้ปฏิบัติจะไม่อยากทำ ต่อเมื่อฝืนใจทำไปอย่างต่อเนื่อง ความดีที่กระทำจะค่อยๆ เพิ่มขนาด สามารถทำความดีใหญ่ๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
19. การปฏิบัติธรรม คือการสนใจตนเอง เพ่งจ้องความเลวของตนเอง มิใช่การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น คือการน้อมนำสถานการณ์ต่างๆ มาสอนใจตนเองจนเกิดสติปัญญา เห็นความเคลื่อนไหว ไม่มั่นคงของชีวิต ทำให้สามารถละวางสิ่งต่างๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น
20. การปฏิบัติธรรม คือการเสพกินผลไม้จากแดนสวรรค์ ผู้ไม่เคยเสพย่อมไม่สามารถเข้าถึงความอิ่มอร่อยนั้นได้ จำเป็นต้องใช้ตาของตน หูของตน จมูกของตน ลิ้นของตน กายของตน และใจของตน เข้าไปสัมผัสด้วยประสบการณ์ตรงของตนเอง
แล้วคุณจะรู้ว่า ธรรมะคืออะไร
แล้วคุณจะรู้ว่า ความอัศจรรย์ของชีวิต เกี่ยวข้องกับธรรมะอย่างไร!!!
-พศิน อินทรวงค์-