"เจดีย์ศรีพุทธคยา" ณ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ จ.นครสวรรค์

"เจดีย์ศรีพุทธคยา" ณ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ จ.นครสวรรค์

 

 

 

 

 

 

 


เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง   ภาพ :  นัทพล ทิพย์วาทีอมร

 

"เจดีย์ศรีพุทธคยา"

ณ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ จ.นครสวรรค์

 

 

เจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ สร้างขึ้น ณ ยอดเขาโพธิสัตว์ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต.ทำนบ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ได้จำลองแบบสถาปัตยกรรมและงานพุทธศิลป์มากจาก เจดีย์พุทธคยา ณ เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย โดยได้ย่อขนาดลงมาให้เหมาะสมกับสถานที่ มีความสูง ๒๘ เมตร เสมอเหมือนพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ และมีความกว้างประมาณ ๑๖x ๒๐ เมตร

 

ปรัชญาและความมุ่งหมาย ในการสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อเป็นเครื่องหมายของการตรัสรู้ การเกิดและดับ เป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไปในประเทศไทยและในโลกครบ ๕,๐๐๐ ปี เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสาวกทุกพระองค์ แด่ผู้มีคุณต่อแผ่นดินไทยทั้งสิ้นทั้งปวง ที่สำคัญเพื่อเป็นการทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ 

 


วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อรองรับการประกาศสันติภาพของโลก ที่องค์การสหประชาชาติให้ วันวิสาขบูชา เป็น วันวิสาขบูชาโลก ซึ่งจะบังเกิดสันติสุขและสันติธรรมแก่เมธีชนชาวโลกสืบไป อีกทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกของชนในชาติให้รู้จักสามัคคี เชิดชูกเอกลักษณ์ของชาติที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น


เจดีย์ศรีพุทธคยา เริ่มการก่อสร้างโดยวางศิลาฤกษ์เมื่อ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ มีลักษณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมทรงกรวยยอดเจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำ ประดับลวดลายปูนปั้น ทางเข้าสู่เจดีย์จะเป็น โทรณะ หรือซุ้มประตูปราสาทพร สำหรับผู้ที่เข้าไปสักการะองค์เจดีย์ มีลักษณะเป็นเสาสลักลวดลายแบบอินเดีย เมื่อเข้าถึงเจดีย์จะผ่านประตูชั้นล่าง จะมีซุ้มพระพุทธรูปยืนศิลปะอินเดียทั้งสองข้าง มีหน้าบันใหญ่อยู่ด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งและรอบๆ จะเป็นซุ้มพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ มีซุ้มพระพุทธรูปนั่งอยู่รอบฐานเจดีย์ 


ชั้นที่สอง มีลักษณะเป็นมุขเด็จทั้งซ้ายขวาในระดับนี้มีการตกแต่งแผงกลาง ๔ ทิศ รายรอบด้วยมุมพระพุทธรูป ส่วนเหนือขึ้นไป ตรงกลางจะเป็นหน้าบันประดิษฐานพระพุทธรูปตามมุม แกะลวดลายปูนปั้นหน้ากาล เป็นเครื่องเตือนสติว่า ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะกาลเวลากลืนกินทุกอย่างแม้แต่ตัวเอง องค์พระเจดีย์แต่ละด้านประดับด้วยหน้าบัน ซุ้มพระ และหน้ากาลลดหลั่นกันไปถึงยอด


ภายในองค์เจดีย์ จะมีทั้งสิ้น ๔ ชั้น ชั้นล่าง เป็นสถานที่ใช้ปฏิบัติธรรม ประดิษฐาน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพ่อดำ แกะสลักจากหินพิเศษ ซึ่งได้จากภายในวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ เป็นพระประธาน ซึ่งห้องนี้ได้ใช้เป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมของ พระนวกะในโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ ๘๕ รูป เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ระหว่างวันที่ ๒๘ เมษายน - ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมาด้วย


ชั้นที่ ๑ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธเมตตาสันติภาพ เนื้อสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง ๘๙ นิ้ว สูง ๔.๑๙ เมตร สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ชั้นที่ ๒ เป็นห้องที่ประดิษฐาน พระศรีอริยเมตไตรยศรีศากยสิงห์ ขนาดหน้าตัก ๑๐๙ นิ้ว สูง ๔ เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสที่เฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ 


ชั้นที่ ๓ ในชั้นนี้ ได้จำลอง พระคันธกุฎี ที่ประทับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาไว้ ผู้ที่จะขึ้นมายังห้องนี้ได้ จะร้องรับสัจจะว่าจะถือศีลบริสุทธิ์อย่างน้อย ๑ ข้อ ถวายเป็นธรรมบูชาแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะนี้ เจดีย์ศรีพุทธคยา กำลังอยู่ระหว่างการทำงานด้านตกแต่งชิ้นส่วนองค์ประกอบเจดีย์ ซึ่งมีประมาณ ๑,๕๐๐ ชิ้น รอบนอกองค์เจดีย์กำลังสร้างสระมุจลินทร์ทั้งคู่ โทระณะ (ประตูแห่งความหลุดพ้น) เสาอโศก และวิหารพระอุปคุต

 

ปริศนาธรรมพระไม่มีหน้า

พระภควัมบดี(พระอยู่เย็นเป็นสุข หรือ พระไม่มีหน้า) เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจากแนวคิดของ พระเทพโมลี ที่ออกแบบเป็นรูปลักษณ์เหมือนพระสังกัจจายน์ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ปางขัดสมาธิเพชร บนกลีบบัว ๓ ชั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พระองค์นี้มีลักษณะเหมือนกันทั้งสองด้าน หมายถึง ไม่มีหน้า ไม่มีหลัง และไม่มีหน้าตา ปริศนาธรรมแก่พุทธศาสนิกชนในเรื่องของการทำความดีโดยไม่หวังผลตอนแทน คือ การทำความดีที่ไม่เอาหน้าในสังคม พระองค์นี้ประดิษฐานอยู่กลางเขาโพธิสัตว์ หน้าตักกว้าง ๕ เมตร สูง ๑๐ เมตร ประกอบด้วยรัศมีประภามณฑล และฉัตรทองอีก ๙ ชั้น สูงราว ๔ เมตร รวมความสูงทั้งสิ้น ๑๔ เมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นปูชนียสักการะ ปกป้อง คุ้มครอง ป้องกัน สนับสนุน ส่งเสริมสถาบัน และเอกลักษณ์ของชาติให้มั่นคงสถาพร

สอบถามรายละเอียดได้ที่ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ ตั้งอยู่ ณ บ้านเขาโคกเผ่น ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ โครงการจัดสร้างเจดีย์ศรีพุทคยา เฉลิมพระเกียรติฯ (ฝ่ายหารายได้) ๑๔๒ หมู่บ้านปัญญา ถนนพัฒนาการ ซอย ๓๐ แขวงสวนหลวง กรุงเทพฯ ๑๐๒๕๐ โทรศัพท์ ๐-๒๗๑๙-๔๐๘๓-๕ โทรสาร ๐-๒๗๑๙-๔๐๘๖