พระอาจารย์สุบิน ปณีโต ๒๗ ปี แห่งการก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แบบชีวิตพอเพียง

พระอาจารย์สุบิน ปณีโต ๒๗ ปี แห่งการก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แบบชีวิตพอเพียง

 

 

 

 

เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง   ภาพ :  นัทพล ทิพย์วาทีอมร

 

พระอาจารย์สุบิน ปณีโต

๒๗ ปี แห่งการก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แบบชีวิตพอเพียง

-------------------

เป็นเวลากว่า ๒๗ ปี ที่พระอาจารย์สุบิน ปณีโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดไผ่ล้อม อ.เมือง จ.ตราด ผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จนวันนี้มีกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ในจังหวัดตราดแล้ว ประมาณ ๑๖๕ กลุ่ม มีสมาชิกทั้งจังหวัดตราดอยู่ กว่า ๕๐,๐๐๐ คน โดยคาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนจนถึงสิ้นปี ๒๕๕๐ ประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท ขณะเดียวกันท่านยังให้คำปรึกษา แนะนำกับชาวบ้านจากจังหวัดต่างๆที่สนใจเรื่องการตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ โดยวัตถุประสงค์หลักของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ คือการใช้ธรรมะนำเงิน เพื่อให้เงินเป็นทางผ่านที่จะก่อให้เกิดการประสานกลุ่มคนรวมกัน เพื่อสร้างท้องถิ่นที่เข้มแข็งและยั่งยืน และพระอาจารย์สุบินได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างน่าใจดังนี้ ....

 

-จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์มาจากอะไรครับ?

เกิดจากชุมชนที่มีฐานรากที่ค่อนข้างลำบาก คนที่มีการศึกษาก็ไม่ค่อยจะกลับบ้านเกิด ทำให้ฐานรากมีแต่คนแก่ คนที่เกเร คนที่ไม่มีโอกาสได้ศึกษา แล้วก็ทิ้งให้อยู่ในชุมชนจนกลายเป็นภาระ ทำให้ชุมชนพัฒนาได้ยาก เพราะทุน ความรู้ก็ไม่ค่อยมี แล้ววิธีการจัดการบริหารก็ไม่ค่อยเป็น ชุมชนรวมตัวกันไม่ติด คนชุมชนนั้นก็ต้องไปหาแหล่งทุนจากนายทุนต่างๆ ดอกเบี้ยก็แพง บางก็ถูกยึดที่ที่ทำมาหากิน หรือบางคนก็ถูกยึดบ้าน จนกลายเป็นคนเร่รอน ไม่มีที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง บางคนไปสร้างตัวในสลัมก็เกิดปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อสังคมพึ่งพากันไม่ได้ก็กลายเป็นคนตัวใครตัวมัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่อาตมาให้พวกเขาได้รวมตัวกันให้เกิดเป็นเงินทุน แล้วจึงเกิดเป็นกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์

จริงๆมันเหมือนหนอไม้อ่อนที่จะต้องอาศัยเวลา แต่สิ่งที่ให้พวกเขาทำกันนี้ก็เป็นการใช้เงินทุนของพวกเขาเอง จากคนละ ๑๐ บาท หรือร้อยบาท ตรงนี้ก็เป็นการให้พวกเขาประหยัดอดออม เพื่อพวกเขารู้จักการออมแล้วจะต้องสอนให้เขาหัดบริหารการหยิบยืม จากความเดือดร้อนมากหรือเดือดร้อนน้อยจะได้จุนเจือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มันก็เป็นหนทางให้คนเหล่านี้เกิดความคุ้นเคย เกิดความเป็นพี่เป็นน้อง และให้รู้สึกความเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น ฉะนั้น ความรักความสามัคคีในชุมชนก็จะเกิดตามมา ถ้าเราให้เขาต่างคนต่างอยู่ ชุมชนเองก็จะเกิดปัญหา เกิดความแตกแยก เหมือนกับการเลือกตั้งทุกครั้งก็จะเกิดความขัดแย้งกันตลอด เพราะชีวิตของพวกเขาไม่มีกิจกรรมอะไรที่จะทำรวมกัน แล้วกิจกรรมที่ทำแล้วไม่ยั่งยืนพวกเขาก็อยู่ไม่ได้ อาตมาจึงหากิจกรรมให้พวกเขาทำกันแบบยั่งยืน

-แสดงว่านี่เป็นเหตุผลหลักที่จัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ขึ้นใช่ไหมครับ?

ใช่แล้ว เพราะถ้าไม่ได้ทำแบบนี้คนแก่ก็จะขาดการเหลียวแล ถูกทิ้งให้อยู่กันตามลำพัง หลักประกันในชีวิตก็ไม่มี หรือบางคราวลูกหลานก็เอาลูกๆ มาให้คนแก่เลี้ยง ในที่สุดอาตมาจึงเอาเงินมาเป็นเครื่องมือ มาเป็นกองทุนให้กับคนแก่ได้มีไว้ใช้รักษาตัวเองในยามป่วย ยามพิการ และยามตาย เป็นเงินที่พวกเขาสามารถอดออมไว้ได้บ้าง มันก็จะไม่เป็นภาระให้กับภาครัฐมากนัก ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็มีชีวิตอยู่กันไปวันๆหนึ่ง ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย

 

-แล้วกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แตกต่างจากกองทุนหมู่บ้านฯ ยังไงครับ?

จริงๆ กองทุนหมู่บ้านจะให้เงินชาวบ้านมาแบบไม่มีเงื่อนไข แต่ชุมชนเหมือนเราให้มีดให้พร้าแต่ไม่ได้ให้ปัญญาไป ก็เลยไม่รู้จะเองไปทำอะไร ในที่สุดพวกเขาก็เอาเงินไปเข้าโครงการฟุ้งเฟ้อ ตรงนั้นมันก็เลยขาดการชี้นำ เรียกว่าขาดคนพากระทำในทางที่มั่นคงของชีวิต การที่ได้เงินจากกองทุนไปแล้วก็ทำให้พวกเขาได้ใช้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น อย่ามองว่ากองทุนนี้ไม่ดี แต่อาตมาอยากให้ลองนึกภาพดูว่า ให้ของดีๆ ส่วนคนใช้มันไม่ดี ทำยังไงของมันก็ดีไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่มีปัญญาที่จะให้ดีได้ แบบนี้เราให้ของก็ต้องให้วิธีใช้ด้วย แต่ที่ผ่านมาให้ของไป แต่ไม่ได้บอกวิธีใช้ คิดดูเราเองเอาเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ก็ยังงงอยู่เหมือนกัน พอใช้ไม่ถูกแล้วที่สุดของมันก็เสียได้เหมือนกัน กองทุนฯให้ทุนแต่ไม่ได้ให้ปัญญา ปัญหาจึงตามคือภาระหนี้สิน ดังนั้น การตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ขึ้นมาเพื่อเป็นกองทุนที่เข้าไปสนับสนุนให้ครอบครัวอบอุ่นให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นให้สังคมรักใคร่สามัคคีเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น และก็เป็นแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ การศึกษา

-กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์มาถึงวันนี้เข้มแข็งแค่ไหนแล้วครับ?

ก็เห็นได้ง่ายๆ วันนี้ชาวบ้านที่เกิดมีปัญหาเกิดการยึดที่ยึดทางกัน กองทุนกลุ่มสัจจะนี้ก็สามารถไปช่วยถ่ายทอนออกมาได้ และก็มีสวัสดิการให้ในยามป่วยยามแก่ยามพิการ เป็นการช่วยจัดสรรช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ ตรงนี้มันเหมือนกับต้นไม้ที่ใช้ดอกใช้ใบใช้ลูกเป็นปุ๋ยของตัวมันเอง ตอนนี้ชุมชนเองก็ต้องทำกำไรมาเลี้ยวตัวเองให้ได้ด้วยการจัดการมันก็ต้องนึกถึงธรรมชาติ ให้จัดการเป็นธรรมชาติ ไม่เหมือนตอนนี้ใบดอกลูกร่วงหล่นลงมาก็ถูกสาดไปที่อื่นหมด เพราะจัดการเองไม่เป็น ในที่สุดเขาก็เหลือแต่หน้าดิน ฝนตกลงมาก็ไหลไปเกี่ยวรากลอยๆ ในที่สุดก็ต้องล้ม นี่ก็คือความเป็นจริงของสังคม ตรงนี้จึงต้องอาศัยคนพาชี้นำหรือทำให้ดู ตามกำลังที่จะทำได้

-เงื่อนไขของคนที่จะเป็นสมาชิกกลุ่มต้องปลอดจากสิ่งเสพติด?

อาตมาได้ตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าใครไม่สูบบุหรี่ไม่ดื่มเหล้าไม่เล่นการพนันก็จะมีเงินให้กู้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย เพราะถ้าไม่ไปลุ่มหลงในอบายมุข และทำระบบของการบริหารจัดการด้วยการทำบัญชีครัวเรือนเหล่านี้ ทางกลุ่มก็จะให้ยืมเงินโดยปลอดดอกเบี้ยไม่ต้องเสียค่าบำรุงใดๆ แต่วันนี้ก็ยังมีคนทำได้ไม่มาก ตรงนี้ก็ต้องพยายามกันต่อไป ใครเลิกได้ก็จะมีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตพวกเขา โดยไม่ต้องไปเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ หรือ ร้อยละ ๒๐ ตามที่นายทุนคอยขูดรีดกันอยู่ แล้วเมื่อทำให้พวกเขาเครียดสังคมไม่เอื้อในที่สุดเขาก็ต้องเอาเงินที่กู้ไปซื้อเหล้ากิน ครอบครัวแตกแยก ครอบครัวขัดแย้ง เพราะไม่รู้จะไปพึ่งใคร

 

-เงื่อนไขเหล่านี้ก็ถือว่าพระอาจารย์ให้ยึดหลักศีล ๕ ใช่ไหมครับ?

อาตมาคิดว่าตรงนี้ก็เหมือนเป็นการพัฒนาคุณธรรมทำให้พวกเขาต้องขยัน เพราะเขาจะอยู่แบบนี้ได้จะต้องเป็นคนขยัน ประหยัด แล้วถ้าอยากจะอยู่ในสังคมนี้เขาจะต้องซื่อสัตย์ หากไม่ซื่อสัตย์เพื่อนๆ ก็อาจไม่คบ จะไปกู้หรือยืมใครก็คงไม่มีใครให้กู้ เพราะถ้าเขาไม่เชื่อใจเขาก็ไม่เอาด้วย ฉะนั้น เมื่อขยัน ซื่อสัตย์ อดออม มันก็จะมีทุนเหลือ ปกติทุนเหล่านี้สอนพวกเขาแทนที่จะเอาเงินไปใช้จ่ายด้วยการซื้อเหล้า เล่นการพนันกันหมด ทำให้พวกเขาได้นึกถึงว่าจะต้องมีเงินออมของทุกเดือน ก็เลยหมดไม่ได้ ใช้หมดไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะไม่มีเงินออม

ส่วนคนที่กู้ไปก็จะต้องใช้หนี้เขา สิ่งเหล่านี้จะสอนโดยตรงไม่ได้มันก็เลยต้องสอนด้วยการอิงธรรมะมานำกิจกรรม โดยเอากิจกรรมเหล่านี้มาสอนคน แต่จะให้ไปขึ้นเทศน์บนธรรมมาศแล้วสอนให้พวกเขาทำยังนี้อย่างเดียว โดยเป็นภาคทฤษฎีก็ไม่สามารถไปแก้ปัญหาได้ ฉะนั้นมันเลยต้องแก้ด้วยการปฏิบัติที่จะนำไปแก้ที่ปัญหาได้ แล้วต้องคอยมองปัญหาว่าปัญหาของพวกเขาตรงนี้มันติดตรงไหน แล้วเราจะช่วยจัดการอย่างไร ทำให้ทุกวันจะอาตมาจะต้องออกไปตรวจการทำบัญชีของกลุ่มสัจจะ เพื่อตรวจสอบแล้วก็ชี้แนะพวกเขา เพราะทุกอย่างจะต้องบริหารให้รวดเร็วขึ้น เราจะเห็นว่าไม่มีอะไรที่จะอยู่คงที่ สังเกตได้จากรถสมัยก่อนที่วิ่งช้า มาวันนี้รถก็มีการพัฒนาให้วิ่งได้เร็วขึ้น หรือโทรศัพท์ที่ออกมาใช้กันครั้งแรกก็แท่งใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้มีการพัฒนาเหลืออันเล็กนิดเดียว

-วันนี้กลุ่มสัจจะที่พระอาจารย์ได้นำร่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ มาถึงวันนี้มีกี่กลุ่มครับ?

ตอนนี้ก็มีกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ในจังหวัดตราด ประมาณ ๑๖๕ กลุ่ม แล้วอาตมาก็คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนจนถึงสิ้นปีนี้ประมาณร้อยกว่าล้านบาท มีสมาชิกทั้งจังหวัดตราดอยู่ ๕๐,๐๐๐ คน

 

-วันนี้พระอาจารย์ยังอยากทำโครงการอะไรอีกครับ?

วันนี้อาตมามาทำตรงนี้ไม่ใช่อยากทำ แต่ทำเพราะต้องการจะทำให้ดู เพราะต้องการให้ชาวบ้านเห็นว่า ที่จริงความสามารถมีอยู่ เพียงแต่ว่าไม่มีใครมาชี้นำ จึงทำให้ไม่มีใครกล้าทำ ดังนั้น เราจึงต้องมาช่วยชาวบ้านทำและพัฒนา เพื่อให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้ พวกเขาจะได้ไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น และอนาคตถ้าทำสวัสดิการดีๆ ในอนาคตเด็กๆที่เรียนหนังสือจบก็อยากจะกลับบ้าน มาช่วยกันพัฒนาชุมชน และครอบครัว วันนี้หลายคนต้องจากบ้านเพราะทุนไม่ค่อยมี สวัสดิการก็ไม่ค่อยมี ทำให้ชีวิตพวกเขาต้องผันตัวเองไปทำงานตามโรงงานต่างๆ แล้วก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ บางคนก็ไปขายแรงงานต่างประเทศก็ถูกหลอกลวงไม่ใช่น้อย

สิ่งเหล่านี้เกิดจากความยากจนทั้งนั้น มาถึงวันนี้อาตมายังได้รณรงค์ให้ชาวบ้านช่วยแก้ปัญหากันต่อไปอีก เพื่อให้พวกเขามีส่วนจัดการที่สาธารณะริมถนน ก็มาช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อจะจัดไว้เป็นบำนาญในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ตรงนี้จะเป็นกิจกรรมร่วมกัน แล้วก็ทำให้พวกเขาอยู่กันอย่างมีความหวัง พอต้นไม้มันโตขึ้นมันก็จะเลี้ยงคน คนก็จะช่วยต้นไม้ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

 

-วันนี้ถ้ามองกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้ไหมครับ?

ที่จริงเราพยายามที่จะประยุกต์คำว่า เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงว่าจะทำยังไงถึงจะเกิดความพอดี การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงได้กับการค้าทุกชนิดให้สำเร็จได้มันต้องมีข้อมูลว่ามีการซื้อขายกันออกไปมากน้อยแค่ไหนมันก็ต้องมีข้อมูลหมด แต่วันนี้ชุมชนอยู่ในสภาพที่ไม่มีข้อมูลเลย การเกษตรจึงยากจนขัดสนมากขึ้น เพราะทำแล้วไม่เคยเก็บข้อมูลว่าปีนี้ปลูกอะไรไป ขาดทุนไปเท่าไหร่ก็ไม่มีการกำหนด ตรงนี้จึงทำให้เกษตรกรเสียเปรียบที่ทำงานแล้วไม่มีระบบการจัดการข้อมูล ฉะนั้น ให้ทำออกมากี่ปีก็แพ้เขาหมด วันนี้ทำให้เกษตรกรไม่สามารถพัฒนาทันเพื่อนเพราะไม่มีข้อมูล แต่ถ้าเกษตรกรรู้จักการทำข้อมูล หรือบัญชีครัวเรือนก็จะนำไปสู่ความเข้มแข็ง บรรลุเป้าหมายของเศรษฐกิจพอเพียง

เหมือนชาวจีนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย จากที่ไม่มีอะไรเลย แต่เขามีความขยัน ประหยัด อดทน พวกเขาถึงได้ร่ำรวยกัน และการใช้อะไรตามสมควรที่ไม่เกิน เพราะถ้ากินเกินมันก็ทุกข์ แบกอะไรเกินมันก็ไม่ไหว วันนี้คนบริโภคเกินก็ไม่ค่อยมีใครรู้ ก่อหนี้สินกันมากมาย เพราะเห็นเพื่อนมีก็อยากมีตามเพื่อน ยุคสังคมวันนี้เป็นยุคสังคมบริโภค คนก็เน้นไปที่บริโภคกันเยอะ ตรงนี้เราจะทำอย่างไรให้คนมารวมตัวกัน ลองดู มด ผึ้ง มันคาบเกสรกันคนละนิดมันก็ยังได้น้ำผึ้งกันเป็นขวดเป็นไห ซึ่งถ้าคนในชุมชนช่วยกันคนละนิดในอนาคตก็จะมีทุนเป็นของตัวเอง หรืออย่างเงิน ๑๐ บาท ที่ดูว่าน้อย แต่ถ้ามันมาเรื่อยๆ วันหนึ่งมันก็มากขึ้นเอง

-ปัจจุบันมีญาติโยมยังเห็นเงินเป็นพระเจ้า พระอาจารย์อยากให้หลักธรรมอะไรครับ?

วันนี้คนเรากำลังหันหลังให้ธรรมะ สนใจแต่วัตถุจนกระทั่งลืมความเป็นธรรม เพราะถูกความโลภเข้ามาครอบงำ จนลืมความดีความงามไปเสียส่วนมาก ครอบครัวก็แตกแยก สังคมก็แตกร้าว แล้วก็มีการก้าวกร่ายกันอย่างไม่เกรงใจกัน การช่วยเหลือ หรือความปรารถนาดีก็เริ่มถดถอยไปเรื่อยๆ นี่เป็นวัฒนธรรมที่กำลังถูกทำลาย ตรงนี้ทำให้อาตมาต้องนำชาวบ้านปลูกให้ก่อประโยชน์ เพราะตอนนี้ภาวะโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ คาดกันว่าน้ำจะท่วมในอนาคต วันนี้หากทุกคนดำเนินชีวิตด้วยการอิงธรรมะอาตมาเชื่อว่าชีวิตเขาจะสมบูรณ์

 

ชาติภูมิพระอาจารย์สุบิน ปณีโต

พระอาจารย์สุบิน ปณีโต เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๙๖ ที่บ้านเกาะขวาง ต.ห้วยแร้ง อ.เมือง จ.ตราด เป็นบุตรคนที่ ๓ ของนายจอย-นางชม สัมนา จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนจุฬามณี บรรพชาเป็นสามเณรปี ๒๕๑๖ และอุปสมบทเมื่ออายุ ๒๐ ปี ณ วัดบางปรือ อ.เมือง จ.ตราด หลังจากอุปสมทบได้เดินทางไปจำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้ตัดสินใจยึดมั่นในเพศบรรพชิตและเปลี่ยนทัศนะจากที่เคยชอบเครื่องรางของขลังมาเป็นการสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านพุทธทาส

เมื่อเดินทางกลับมาที่ตราด ท่านได้เดินธุดงค์ปักกลดอยู่ป่าช้าไปตามจังหวัดต่างๆ กระทั่งไปจำพรรษาอยู่ในถ้ำจนอาพาธเป็นไข้มาลาเรีย เดินทางขึ้นเหนือแล้วย้อนกลับมาภาคกลาง ลงไปภาคใต้ แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดทุ่งเขา ต.แสนตุ้ง อ.เมือง จ.ตราด เป็นพรรษาที่ ๑๐ ในปี ๒๕๒๕ หลังออกพรรษาปี ๒๕๒๖ พระอาจารย์สุบินจัดบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนขึ้น โดยให้สามเณรอยู่ที่วัดหนึ่งสัปดาห์ แล้วพาออกเดินธุดงค์โดยไม่มีการแจ้งเวลาล่วงหน้า ไม่บอกสถานที่เดินและที่พักล่วงหน้า ส่วนใหญ่จะเดินเวลากลางวัน เพื่อให้สัมผัสความเป็นจริง พร้อมกับสอนเณรจากความลำบากว่า

พ่อแม่ลำบากกว่าเรา ร้อนกว่าเรา เรามาตากแดดแบบนี้ร้อนหรือไม่ ร้อนอย่างไร ไม่ใช่มาสอนในห้องแอร์ เอาประสบการณ์จริงของความยากลำบากมาสอนเพื่อให้เกิดความสำนึก ถ้าอยู่วัดไม่มีทางรู้ความลำบาก เพราะมีโยมพ่อโยมแม่มาเลี้ยงตลอด เราพาเขาออกเดิน ไม่บอกให้รู้ว่าจะไปไหน เช้าขึ้นออกบิณฑบาตก็ไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่ต้องกลัวอด พอชาวบ้านเห็นพระเณรมามาก โยมก็จะหุงข้าวเพิ่มเอง แล้วก็พอฉันทุกแห่ง ถ้าประกาศไปก่อน อาหารจะเหลือมาก" นี่เป็นวิธีการสอนเณรโดยให้เผชิญประสบการณ์ตรงด้วยการปฏิบัติจริงของพระอาจารย์สุบิน

 

 

ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์

พระครูสังฆรักษ์ธรงวุฒิ รองเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม กล่าวว่า ครั้งแรกเราดำเนินการประสานไปยังวัดต่างๆที่มีแนวร่วมบรรยายให้ความรู้กับประชาชนด้วยพระบรมราโชวาทบัญญัติ ๔ ประการ แล้วก็มีการจัดตั้งกลุ่มสัจจะฯขึ้นมาทันทีโดยที่ไม่ทันให้พวกเขารู้ตัว มาวันนี้กลุ่มสัจจะถือว่าประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งคงเป็นบารมีของสามท่านเจ้าคุณ (พระวิมลเมธาจารย์,พระราชเขมากร สุนทรธรรมนิวิฎฐ์ และพระบูรเขตต์คณาจารย์ สุทธิสารวรนายก สังฆปาโมกข์ ซึ่งเป็นที่เครพบูชาของคนเมืองตราด ที่ได้วางรากฐานเอาไว้ยาวนาน คือการสร้างบุคลากรเป็นหลักมากกว่าการสร้างวัตถุ แล้วท่านก็ส่งเสริมการศึกษามาอย่างต่อเนื่องเกือบ ๑๐๐ ปี แล้ว

"สิ่งที่ภูมิใจคือ ๑.เราในฐานะนักบวชสามารถคิดนำประชาชนให้มองเห็นปัญหาในอนาคตข้างหน้า เช่น โลกร้อนก็ให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ หรือการจะเกิดปัญหาการเงินเราก็ให้พวกเขาต้องเป็นกองทุน รวมทั้งสารพิษจากผลไม้ในพื้นดินเราก็คิดเอาจุลินทรีย์มานำเสนอก่อน แล้วประชาชนได้เห็นประโยชน์จากที่เราคิด แล้วเป็นประโยชน์ในระดับประเทศชาติด้วย อาตมาภูมิใจมากที่พระสงฆ์เรามีส่วนเป็นผู้นำของชุมชน"

 

ความรู้สึกของสมาชิกกลุ่มสัจจะฯ

นายฉลวย(เลี้ย) เทียนคันฉัตร อายุ ๗๙ ปี ที่ปรึกษากลุ่มสัจจะฯ กล่าวว่า วันนี้ได้เข้ามาช่วยชี้แนะให้กลุ่มสัจจะฯ ให้ดำเนินการไปอย่างถูกต้องตามแนวคิดของ พระอาจารย์สุบิน ปณีโต ซึ่งการจัดตั้งกลุ่มสัจจะฯ นี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะเป็นตัวอย่างให้กับคนในชุมชนได้เข้ามาเป็นสมาชิกได้เข้ารู้จักการออมเงินกันภายในชุมชนกันเอง วันนี้สมาชิกทุกคนเข้าใจแล้วว่า กลุ่มสัจจะก็คือการฝากเงินเอาไว้ให้มีเงินออมเลี้ยงตัวเองในยามแก่หรือเจ็บป่วยเราก็ยังมีเงินสวัสดิการตรงนี้เข้ามาให้ความช่วยเหลือได้ หรือถ้าเราเสียชีวิตเราก็ยังมีเงินตรงนี้เข้ามาช่วยเช่นกัน

นางจินดา รัตนพิทักษ์ ประธานกลุ่มสัจจะบ้านหนองปรือ กล่าวเสริมว่า การจัดตั้งกลุ่มสัจจะฯ นี้ถือว่าดีมาก เพราะเงินได้ถูกหมุนเวียนภายในหมู่บ้านเอง หากเราไปกู้ยืมกลุ่มข้างนอกเงินก็จะถูกนำออกไปจากหมู่บ้านเรา แต่กลุ่มสัจจะเงินทุกสิ้นปีจะมีที่ปันผลก็ได้นำมาช่วยสมาชิกที่ป่วยโดยไม่ต้องไปกู้ที่อื่น สมาชิกเสียชีวิตเราก็มีเงินปันผลเข้าไปช่วยเหลือ และวันนี้เฉพาะกลุ่มเราเองมีสมาชิกเข้าร่วมแล้ว ๓๐๗ คน ฉะนั้น หากกลุ่มชาวบ้านตามจังหวัดต่างๆ ถ้านำแบบอย่างการตั้งกลุ่มสัจจะฯไปดำเนินการก็คิดว่าจะช่วยเหลือผู้คนในชุมชนของท่านได้มาก