ตะลุยเมืองธรรมะ...เมืองมรดกโลก

ตะลุยเมืองธรรมะ...เมืองมรดกโลก

 

 

 

 

เรื่อง  : สุทธิคุณ    กองทอง   ภาพ :   ชวกรณ์  สะอาดเอี่ยม

 

ตะลุยเมืองธรรมะ...เมืองมรดกโลก               

 

ตะลุยเมืองมรดกโลก... "แคนดี" นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา นำโดย นางยุวดี บุญครอง บอสใหญ่แห่งบริษัท เอเชีย เทเลวิชั่น แอนด์ มีเดีย จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังรายการคอนเสิร์ตเวทีไท บ้านเลขที่ ๕ @ ไทยแลนด์ และบริษัท พีโอพี ทราเวล จำกัด เป็นผู้นำตะลุยตลอดการเดินทาง ระหว่างวันศุกร์ที่ ๑๗-๒๐ มีนาคม ๒๕๔๙

 

คณะของเรา ๑๗ ชีวิต ได้พร้อมกันที่สนามบินดอนเมือง เที่ยวบินที่ ทีจี ๓๐๗ ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่เมืองโคลัมโบ ประมาณ ๓ ชั่วโมง ๒๐ นาที แต่กว่าจะเข้าเมืองโคลัมโบได้ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่ยอมให้นำเครื่องสังฆทานเข้าประเทศ โดยต่างอ้างว่าของดังกล่าวไม่น่าจะมาทำบุญ แต่จะเอามาขายมากกว่า

 

ดังนั้นต้องเสียภาษีตามจำนวนที่นำมา พอมาถึงตรงนี้ทำให้คณะของเราอารมณ์เสียพอสมควร เพราะเรานำของมาถวายวัด ทำไมต้องเสียภาษี ในที่สุดคณะของเราก็ผ่านอุปสรรคตรงนี้ไปได้ด้วยดี มาถึงตรงนี้หลายคนเชื่อกันว่า น่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยช่วยให้สามารถนำสังฆทานเข้าประเทศศรีลังกาได้อย่างปาฏิหาริย์

 

เช้าวันเสาร์ หลังจากรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะของเรามุ่งหน้าไปยัง วัดกัลยาณีวิหาร ซึ่งนับว่าเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนิกชนที่สำคัญที่สุด และเป็นสถานที่ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาสั่งสอนที่ศรีลังกามานานกว่า ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว วัดนี้ถูกทำลายโดยชาวอินเดียที่บุกรุก แต่ได้รับการซ่อมแซมขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ ๑๘-๑๙

 

ต่อจากนั้น คณะได้สักการบูชาต้นโพธิ์ โดยใช้ผ้าสีพันรอบต้นโพธิ์ ๓ รอบ ตามประเพณีของชาวศรีลังกา โดยมีชาวบ้านต่างมาร่วมยินดีเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันคณะของเรายังได้เข้าพบและรับพรจาก พระ ดร.มหินทะ สังฆรักขิตะ เจ้าอาวาสวัดเคละนีย์มหาวิหาร เคละนิย ศรีลังกา (วัดกัลยาณีวิหาร)

 

ต่อมาก็ได้ออกเดินทางสู่เมือง แคนดี เมืองแห่งมรดกโลก เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ ๕๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เป็นเมืองที่มีประชากรเป็นอันดับสอง รองจากโคลัมโบ และในอดีตแคนดีเคยเป็นเมืองหลวงของกษัตริย์แห่งอาณาจักรสิงหล ก่อนการยกดินแดนให้กับจักรวรรดิอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๑๕ หลังจากที่ได้ต่อต้านชาวโปรตุเกสและชาวดัตช์มานานถึงสามศตวรรษ

แคนดีแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา วัดวาอารามในเมืองนี้ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมไว้ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

 

นอกจากนี้ คณะของเราได้เข้าไปชมศิลปะการร่ายรำของชาวแคนเดียน ซึ่งชาวต่างชาติให้ความสนใจในการเข้าชมศิลปะร่ายรำเป็นอย่างมาก และได้เดินทางเข้าไปกราบนมัสการและสักการบูชา พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์สำหรับพุทธศาสนิกชนในศรีลังกาและทั่วโลก

 

ขณะเดียวกัน สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ ดาลาดา มาลิกาวา หรือ วัดพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งประดิษฐานพระทนต์ (ฟัน)ของพระพุทธเจ้า

 

ก่อนที่คณะของเราจะได้เข้าไปกราบพระธาตุเขี้ยวแก้ว ก็ต้องรอเข้าคิวเป็นเวลานานอยู่เหมือนกัน ซึ่งต้องปลื้มปีติเป็นอย่างมากเพราะได้เห็นชาวแคนเดียนต่างเข้าคิวเพื่อเข้ากราบนมัสการพระเขี้ยวแก้ว

 

เช้าวันอาทิตย์ ทางคณะยังได้ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ เจริญภาวนา เบื้องหน้าพระประธานของวัดพระเขี้ยวแก้ว จากนั้นได้เข้าเฝ้า พระมหานายกสยามวงศ์ ธิบบุตุวาเว ศรี สิทธารถ สุมังคะละ มหานายกเถระ สยามนิกาย (มัลวัตตะ มหานิกาย) มัลวัตตุ มหาวิหาร เมืองแคนดี ศรีลังกา

 

เมื่อเสร็จภารกิจที่เมืองแคนดีแล้ว ได้เดินทางกลับสู่เมืองโคลัมโบ โดยใช้เวลาเดินทางครั้งนั้นเป็นเวลา ๓ ชั่วโมง ได้ร่วมกันทำบุญพร้อมกับถวายสังฆทานแด่ พระธรรมาโศกะเถระ เจ้าอาวาสวัดพระนอนจำลอง และเดินทางกลับสู่กรุงเทพฯ ด้วยสายการบินไทยเที่ยวบินที่ ทีจี ๓๐๘ โดยสวัสดิภาพ

 

 

พระธาตุเขี้ยวแก้วในศรีลังกา

ตามตำนานประวัติพระบรมสารีริกธาตุ (คัมภีร์ทาฐะวังสะ) กล่าวว่า หลังจากการถวายเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้าแล้ว พระบรมสารีริกธาตุ (กระดูก) ปรากฏสัณฐานเล็กสุด เท่ากับเมล็ดพันธุ์ผักกาด และใหญ่สุดเท่ากับเมล็ดถั่วแตก ด้วยพระพุทธาธิษฐาน พระทันตธาตุ (ฟัน) ของพระพุทธเจ้ามีลักษณะคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ให้พุทธศาสนิกชนรู้ว่า พระพุทธองค์ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์ เจริญจิตภาวนาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระทันตธาตุประดิษฐาน ๔ แห่ง ณ เทวโลกให้เหล่าเทพเทวดาบูชา ณ นาคภพ ให้เหล่านาคบูชา วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว ในประเทศจีน และ ณ วัดพระธาตุเขี้ยวแก้วในประเทศศรีลังกา

ครั้นเมื่อถวายพระเลิงพระพุทธสรีระนั้น พระอรหันต์เขมะ อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วเบื้องล่างข้างขวา (ฟันพระพุทธเจ้า) สู่กลิงครัฐในชมทวีป (อินเดีย) ต่อมาเจ้าชายทันตะกุมาร เจ้าหญิงเหมะมาลา อัญเชิญพระธาตุเขี้ยวแก้วสู่ศรีลังกาใน พ.ศ. ๘๔๕ ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดศรีลันละดา มาลิกาวะ เมืองแคนดี

นับตั้งแต่พระอรหันต์เขมะ อัญเชิญพระธาตุเขี้ยวแก้วจากเชิงจิตตกาน (สถานที่ประชุมเพลิง) ประดิษฐานในชมพูทวีป เจ้าเมืองเหล่าเสนาอำมาตย์ ผู้ไม่มีความเลื่อมใสในพระทันตธาตุ ได้ทดลองทุบพระธาตุเขี้ยวแก้ว องค์พระทันตธาตุแสดงปฏิหาริย์ลอยขึ้นในอากาศ เปล่งแสงรัศมีจ้า รอดพ้นจากการทำลาย ทำให้ผู้คนมีความเคารพนับถือมากมาย ในศรีลังกาสมัยอยู่ภายใต้การปกครองของโปสตุเกส ได้มีการวางแผนทำลายองค์พระธาตุหลายครั้ง แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ณ บริเวณวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว ได้เขียนจารึกประวัติพระทันตธาตุ น่าสนใจศึกษายิ่ง

นอกจากนี้ใน พ.ศ. ๒๕๔๘ ชมรมอาสาาสมัครชาวพุทธ นำโดย นายโฆสิต สุวินิจจิต และ นางยุวดี บุญครอง ประธาน พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้จัดสร้างหล่อ มหาบาตร (บาตรใหญ่) ความกว้างปากบาตร ๙๙ ซม. ความสูง ๑๓๙ ซม. พร้อมฐานบาตรเพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา อันจักนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล อนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา