"ก้อนหินก้อนอิฐก็ขลังได้" ปรัชญาชีวิตของ...สุมนา อภินรเศรษฐ์

"ก้อนหินก้อนอิฐก็ขลังได้" ปรัชญาชีวิตของ...สุมนา อภินรเศรษฐ์

 

 

 

 

เรื่อง  : สุทธิคุณ    กองทอง   ภาพ :  ชาญณรงค์ พรดิลกรัตน์ 

 

"ก้อนหินก้อนอิฐก็ขลังได้" ปรัชญาชีวิตของ...สุมนา อภินรเศรษฐ์

 

"เรื่องของกฎแห่งกรรม เชื่อว่าใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าเราไม่อยากมีความทุกข์ อย่าไปเสียเลยกับความชั่ว เหมือนกับที่เราได้เห็นรูปลิง ที่มีปิดหู ปิดตา ปิดปาก ปิดทวาร ถึงยังไม่ครบ ๕ อย่าง เราเพียงปิดความโกรธให้กับเขาอย่างหนึ่ง หรือปิดใจ จริงๆ คนเราถ้าเข้าใจในเรื่องใฝ่สูงใฝ่ต่ำแล้ว จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ประมาท"

  นี่เป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิตของ สุมนา อภินรเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท จูติค เทรดดิ้งแอนด์คอนซัลเทนท์ จำกัด และ ประธานคณะกรรมการโครงการจัดสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ จ.นครสวรรค์

 

 ทั้งนี้ สุมนา อธิบายเรื่อง "ใฝ่สูงใฝ่ต่ำ" ให้ฟังว่า คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าใฝ่ต่ำคือคนเลว ใฝ่สูงก็คือคนดี ความจริงแล้วไม่ใช่ ในทางศาสนากล่าวเอาไว้ว่า ผู้ที่ใฝ่สูง คือ ผู้ที่ใช้สติปัญญาของตัวเองคิด ใฝ่ต่ำก็คือผู้ที่ใช้จิตใจของตัวเองตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ แต่ถ้าเราคิดว่ามีพระพุทธเจ้า หรือมีพระเจ้าสร้างโลกขึ้นมา ที่เราได้เดินอยู่ครบ ๓๒ เท้าเราอยู่สุดท้าย ศีรษะเราอยู่ข้างบน 

 

 ดังนั้น ถ้าเรานับจากเท้าขึ้นมา หัวใจเราจะอยู่ต่ำกว่าสมอง ซึ่งถ้าเราใฝ่สูงก็คือ การที่เราใช้สมอง สติปัญญา สติสัมปชัญญะของเราคิดก่อนทำ  ถ้าเราใฝ่ต่ำก็คือ เราใช้ความต้องการตามหัวใจของเราตัดสินใจ เหมือนเราอยากตบใครบางคนก็ตัดสินใจตบเลย แล้วในที่สุดก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา กลับได้ความโกรธคืนมาด้วย นี่จึงเป็นที่มาของเรื่องการใฝ่สูงใฝ่ต่ำ แม้เราจะไม่ใช่เป็นคนใฝ่สูง แต่เราใฝ่ในเรื่องของธรรมะ คือเราจะทำอะไรก็จะใช้สติปัญญาของเรามาควบคุมอารมณ์ให้กลายเป็นคนใฝ่สูงได้เหมือนกัน

 สุมนา พูดถึงรื่องการทำบุญว่า ทำมาตั้งแต่เป็นเด็ก เนื่องจากคุณพ่อสอนว่า เราเกิดมาเป็นผู้ให้ ไม่ใช่ผู้รับ ถ้าเราให้ถึงเขาจะไม่เห็น แต่สิ่งที่เราจะได้รับคือสิ่งที่เรามองไม่เห็น อย่างน้อยเราได้ความสบายใจ ท่านย้ำว่าจะทำอะไรก็ได้อย่าไปเอาหน้าตา เช่น การสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยาครั้งนี้ ผู้ที่เหนื่อยมากคือผู้ที่เริ่มต้น ถือเป็นคนที่ทำบุญแบบไหว้พระพุทธรูปไม่มีหน้า เพราะสร้างได้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว เรามาช่วยต่อยอด เหมือนเขาหุงข้าวเสร็จแล้ว เพียงแค่มาดูว่าข้าวนั้นระอุหรือยัง แล้วเอาน้ำใส่นิดหน่อยก็รับประทานได้แล้ว

 

 ย้อนไปในวัยเด็ก คุณพ่อยังสอนให้สวดมนต์ไหว้พระทุกวัน แล้วท่านจะเอาน้ำมาพรมตามศีรษะลูกๆ เหมือนเป็นน้ำมนต์ จริงๆ แล้วน้ำที่คุณพ่อพรมให้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอะไรก็เป็นน้ำมนต์ทั้งนั้น พี่น้องทั้ง ๑๐ คน จะทำอะไรท่านจะสอนไม่ให้โกรธใคร การไม่โกรธก็เป็นลาภอันประเสริฐ ประกอบกับใครทำอะไรเรา นาทีสุดท้ายเราก็พ้น เพราะทุกคนเกิดมาในโลกนี้จะประสบความสุขความสำเร็จไปตลอดชีวิต หรือทุกวัน เป็นไปไม่ได้ 

 

 ฉะนั้น คนจะเจอความทุกข์อะไรในแต่ละวันนั้น ถือว่าเป็นวิบากรรมของเรา ในที่สุดเราจะพ้นวิบากกรรม เนื่องจากความดีที่เราสะสมไว้ ตรงนี้ต้องเชื่อว่าวันนี้เราต้องทำดีไว้ก่อน อย่าไปเชื่อว่าทำดีตั้งแต่ชาติที่แล้วนั้น ไม่ใช่การกระทำในชาตินี้ จะบ่งบอกให้เรารู้ว่าเราจะแคล้วคลาดไหม 

 

 อย่างไรก็ตาม สุมนา พูดถึงการแขวนพระเครื่องไว้อย่างน่าคิดว่า การแขวนพระถ้าเราเข้าถึงพระพุทธศาสนา จะพบว่าคนเราจะแขวนหรือไม่แขวน สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หากเราไปไหว้ก้อนหินก้อนอิฐ ก้อนไหนก็ตาม ถ้าใจเราคิดว่าก้อนหินนั้นศักดิ์สิทธิ์ สิ่งนั้นก็ศักดิ์สิทธิ์ หรือมีความขลังได้เช่นกัน แต่ถ้าเราไปยึดเหนี่ยวอยู่กับครอบครัว เราก็ไม่รู้ว่าใครจะไปก่อนกัน เพราะเป็นวัฏจักร เกิด แก่ เจ็บ ตาย

 

 เหมือนเราได้ร่วมกันสร้างเจดีย์ ก็เป็นสิ่งที่เราให้เราได้ยึดเหนี่ยวว่าเราได้ทำบุญแล้ว เราอาจได้ไปถึงสวรรค์ หรืออาจจะพ้นทุกข์พ้นโศกพ้นโรคพ้นภัย ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ให้เรายึดเหนี่ยวในจิตใจ ดังนั้น การแขวนพระเป็นความหวัง เป็นความเชื่อของแต่ละคน บางคนมีกระดาษเพียงใบเดียว ไม่รู้ไปเก็บมาจากไหน แล้วบอกว่ากระดาษใบนี้เป็นสิ่งประเสริฐ ก็เป็นความเชื่อของเขา ตรงนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจของเรานั่นเอง

 "ถ้าทุกคนไม่รักเรา ทุกคนว่าเรา ตรงนี้คือเป็นธรรมดาของโลก อันพระปฏิมายังราคิน เรามนุษย์คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา การที่คนจะพูดถึงเราในทางไม่ดี พระพุทธเจ้าบอกแล้วว่า สิ่งที่ออกจากตัวเราเป็นของเสียทั้งนั้น ดูซิ ขี้หู ขี้ตา ขี้ปาก  หรือขี้อะไรก็แล้วแต่ ที่ออกจากร่างกายเราเป็นของเสียทั้งนั้น ปากของคนที่พูดนินทาก็มีพูดดีและไม่ดี อย่าเก็บไปคิด เพียงเราทำใจให้สบาย และสิ่งที่ระงับสิ่งเหล่านี้ได้คือ ความไม่โกรธ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่ให้ความรัก ความเข้าใจ การเสียสละ และการให้อภัย" สุมนา กล่าวทิ้งท้าย