“นโยบายพลังงานของพรรคการเมืองไม่ยืนข้างประชาชน ใช่หรือไม่!?”

“นโยบายพลังงานของพรรคการเมืองไม่ยืนข้างประชาชน ใช่หรือไม่!?”

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“นโยบายพลังงานของพรรคการเมืองไม่ยืนข้างประชาชน ใช่หรือไม่!?”

 


น่าเสียดายที่นักการเมืองที่เรียกตัวเองว่าคนรุ่นใหม่ ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของพลังงานดีพอว่า โครงสร้างพลังงานที่ผูกขาดทั้งระบบเป็นความไม่เป็นธรรมในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศอย่างไร และยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำในประเทศอย่างไร การที่ประเทศไทยมีราคาพลังงานที่สูงเกินจริงย่อมส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน


การที่รัฐบาลคสช.ปล่อยให้ บริษัทพลังงานเอกชนผูกขาดก๊าซทั้งระบบโดยออกแบบการประมูลที่เปิดทางให้บริษัทพลังงานสามารถครอบครองแหล่งก๊าซใหญ่ที่สุดของประเทศทั้ง2แหล่งคือ เอราวัณ และบงกช และเมื่อผนวกกับการครอบครองระบบท่อส่งก๊าซที่เป็นสาธารณสมบัติที่ยังไม่ได้จัดการส่งคืนแผ่นดินให้ครบถ้วน ย่อมทำให้เกิดการผูกขาดกิจการก๊าซต้นน้ำอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ใช่หรือไม่ ? ทั้งที่รัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตเคยบัญญัติว่า “รัฐต้องไม่ปล่อยให้เอกชนผูกขาด ตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” เพราะการผูกขาดของเอกชนเป็นโอกาสที่จะสามารถเอาเปรียบประชาชนด้านราคาในกิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานนั่นเอง ใช่หรือไม่?


นอกจากนี้บริษัทพลังงานเอกชนก็ยังผูกขาดกิจการกลางน้ำไว้อีกด้วย คือระบบโรงแยกก๊าซทั้งหมด 6โรง อยู่ในมือของบริษัทเดียว ทำให้ธุรกิจการแยกก๊าซอยู่ในระบบผูกขาด และจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือบริษัทพลังงานแห่งนี้ มากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้ก๊าซ ใช่หรือไม่?


ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลคสช.ยังเอื้อให้เกิดการผูกขาดล้วงกระเป๋าประชาชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยการประกาศยกเลิกราคาควบคุมก๊าซหุงต้มตั้งแต่ปีแรกที่ยึดอำนาจในเดือนธันวาคม ปี2557 ที่รัฐบาลในอดีตเคยกำหนดราคาก๊าซหุงต้มขายให้ประชาชนในราคา 333 $/ตัน (หรือกิโลกรัมละประมาณ 10 บาท)ใช่หรือไม่?


หลังจากนั้น รัฐบาลคสช.ก็มีมติให้ประชาชนต้องซื้อก๊าซหุงต้มที่ผลิตจากก๊าซในอ่าวไทยในราคานำเข้าจากซาอุดิอารเบียทั้ง100% และราคาอ้างอิงของซาอุดิอารเบียที่ใช้ ก็เลือกใช้ราคาจร (Spot)ที่มีราคาแพงกว่าราคาตกลงล่วงหน้า (contract price) อีกด้วย โดยอ้างว่าเพื่อให้มีการแข่งขันใช่หรือไม่


ทั้งๆที่ปริมาณก๊าซหุงต้มที่ได้จากก๊าซในอ่าวไทย เพียงพอให้ใช้ในภาคครัวเรือน และในภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งมีการนำเข้าเพื่อส่งออกเพียง 6-10% เท่านั้น แต่ทำเสมือนว่าไทยต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศทั้ง100% ใช่หรือไม่


จึงกล่าวได้ว่ารัฐบาลคสช.เป็นผู้กำหนดให้มีการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มแบบสุดลิ่ม ที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายเงินซื้อก๊าซหุงต้มในราคาแพงกว่าตลาดโลกเพราะมีค่าโสหุ้ยนำเข้าและค่าสมทบกองทุนน้ำมันบวกอยู่ในราคาก๊าซหุงต้มที่ขายประชาชน ใช่หรือไม่?


อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือบริษัทพลังงานแห่งเดียวเท่านั้น ที่ได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการประมูลได้ก๊าซในแหล่งบงกช เอราวัณ เพราะจะได้ก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทยเพื่อป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือของตนเพื่อสร้างกำไรมหาศาลให้ธุรกิจนี้ ใช่หรือไม่?


การที่บริษัทพลังงานแห่งเดียวครอบครองกิจการก๊าซตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งรวมกิจการขายปลีกก๊าซหุงต้มให้ประชาชน จึงสมควรเรียกได้ว่าเป็นการผูกขาดกิจการก๊าซในประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ ใช่หรือไม่?


เมื่อผนวกกับมติคสช.ที่มัดตราสังประชาชน โดยอาศัยอำนาจรัฐจากการรัฐประหาร กำหนดให้ประชาชนต้องใช้ราคาก๊าซหุงต้มในราคานำเข้า จึงเอื้อต่อเอกชนในการทำกำไรมหาศาลจากทรัพยากรในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ใช่หรือไม่?


การเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ให้มีการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติก็เพื่อไม่ให้บริษัทเอกชนผูกขาดกิจการพลังงานที่เป็นสาธารณูปโภคไว้เสียทั้งหมด รัฐบาลจะได้มีส่วนในกรรมสิทธิปิโตรเลียมที่ได้รับจากระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้รัฐบาลสามารถกำหนดราคาก๊าซหุงต้มที่เป็นธรรมต่อประชาชนคนไทย ที่มีส่วนเป็นเจ้าของทรัพยากรก๊าซในอ่าวไทย


แต่ดูเหมือนทั้งรัฐบาลคสช.และรวมถึงรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้ง ก็คงไม่เข้าใจในความสำคัญของกรรมสิทธิปิโตรเลียมในส่วนของรัฐบาลที่จะต้องมีไว้เพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชน


การคาดหวังให้บริษัทเอกชนมาดูแลราคาก๊าซและน้ำมันให้ประชาชน อย่างเป็นธรรม ดูยากจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ เพราะพลังงานราคายิ่งแพงเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลต่อราคาหุ้นขาขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ราคาพลังงานที่สูงมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนที่หาเช้ากินค่ำเท่านั้น


และกิจการด้านพลังงานของเอกชนมีไว้เพื่อทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อดูแลประชาชนที่ไม่ได้มีหุ้นในบริษัทเอกชน


ดังนั้นสิ่งที่ตัวแทนพรรคการเมืองส่วนใหญ่พูดถึงนโยบายพลังงานของตน “ในเวทีที่จัดขึ้นโดยกลุ่มแกนนำที่เป็นอดีตประธานบอร์ดบริษัทพลังงานเอกชน และบรรดาผู้ถือหุ้นในบริษัทนั้น” ว่ามอบความไว้วางใจให้บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ดูแลราคาพลังงานให้ประชาชนในประเทศ หากมิใช่เพราะความไร้เดียงสา ขาดความเข้าใจในโครงสร้างที่มีการผูกขาดที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ถือหุ้น มากกว่าประชาชนแล้วละก็ ย่อมแสดงว่าพรรคการเมืองที่แสดงวิสัยทัศน์เช่นนั้น เป็นการประกาศจุดยืนเลือกข้างกลุ่มทุนผูกขาดพลังงาน มากกว่าจะแสดงถึงทัศนะก้าวหน้าของพรรคที่จะมุ่งปฏิรูปไม่ให้เอกชนผูกขาดพลังงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง ใช่หรือไม่ ?

รสนา โตสิตระกูล
16 มีนาคม 2562