"รสนา"ร่ายระทึกมหากาพย์สมุทัยค่าไฟแพง

"รสนา"ร่ายระทึกมหากาพย์สมุทัยค่าไฟแพง

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

"รสนา"ร่ายระทึกมหากาพย์สมุทัยค่าไฟแพง เริ่มสมัยรัฐบาลทักษิณสานต่อด้วยรัฐบาลพล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

 

ฤดูการเลือกตั้งในสมัยนี้ พรรคการเมืองที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน ต่างโยนความผิดให้อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ทำให้ค่าไฟแพง อันที่จริงสมุทัยค่าไฟแพงเป็นมหากาพย์ที่สืบเนื่องกันมายาวนาน เกิดจากอนันตริยกรรมทางการเมืองของพรรคคนละขั้วแต่หัวใจเดียวกันเรื่องนโยบายพลังงาน ช่วยกันต่อยอดออกกฎกติกาไปในแนวทางเดียวกัน จนมาแสดงผลออกมาให้คนทั่วประเทศได้รู้สึกตัว ค่าไฟแพงมหาโหดในช่วงจังหวะนี้
 
เริ่มต้นมาตั้งแต่การแปรรูป ปตท.ของรัฐบาลทักษิณ ที่แปรรูปโดยไม่แยกกิจการก๊าซออกจากการแปรรูปเสียก่อนตามที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นมีมติครม.ไว้หากจะแปรรูป
 
สมัยปี2543พรรคไทยรักไทยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับที่ออกมาในสมัยพรรคประชาธิปัตย์จากเงื่อนไขกู้เงิน IMF ซึ่งมีกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจรวมอยู่ด้วย แต่เมื่อได้รับเลือกเป็นรัฐบาลในเดือนมกราคม ปี 2544 รัฐบาลทักษิณก็เร่งรัดแปรรูป ปตท.ในปลายปี2544นั้นเลย และเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นข่าวฮือฮาว่าขายหุ้นหมดภายใน77วินาที ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นนอมินีเข้ามากว้านซื้อ จำได้ว่ามีคนไปเข้าแถวยาวเหยียดรอจองหุ้นตั้งแต่ตี5 แต่ก็เข้าแถวเก้อกันไป
 
การแปรรูปปตท.ได้รวบเอากิจการก๊าซ ท่อส่งก๊าซ แปรรูปไปด้วย เพราะคนแปรรูปรู้ดีว่ากิจการก๊าซธรรมชาติจะทำให้หุ้นปตท.สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมากในภายหลัง การแปรรูปให้เอกชนเป็นเจ้าของหุ้น 49% แลกกับเม็ดเงินจากการแปรรูปเพียง 28,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันหุ้นเอกชน 49% เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มหลายแสนล้านบาท นอกจากนี้ยังสามารถซื้อ-ขายเพื่อหากำไรจากการขึ้นลงราคาของหุ้นได้ ผิดกับกระทรวงการคลังเจ้าของหุ้นแทนคนไทย 51% ต้องถือไว้เฉยๆจะเอาไปซื้อ -ขาย ปั่นหุ้นแบบเอกชนไม่ได้ ได้แต่ถือไว้นิ่งๆเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของหุ้นเสียงข้างมาก แต่ที่สำคัญคือรัฐบาลผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่เคยใช้อำนาจกำกับราคาพลังงานให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยเจ้าของหุ้นส่วนตัวจริงเลยสักครั้ง
 
แม้รัฐบาลประชาธิปัตย์เคยมีมติ ครม.ว่าหากจะแปรรูป ปตท.ให้แยกกิจการก๊าซออกมาเพราะมีสาธารณสมบัติอยู่เป็นจำนวนมาก และปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีก๊าซมากกว่าน้ำมัน แต่รัฐบาลทักษิณก็เร่งรัดแปรรูปปตท. โดยไม่แยกท่อส่งก๊าซ แต่มีมติ ครม.ว่าจะแยกท่อส่งก๊าซภายใน 1ปี
 
เมื่อครบ1 ปีรัฐบาลทักษิณก็ไม่ได้แยกท่อก๊าซตามที่มีมติแต่อย่างไร ต่อมา น.พ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในขณะนั้นได้มีหนังสือเมื่อ24 กรกฎาคม 2546 ขอถอนเรื่องพิจารณาแยกท่อก๊าซออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี อ้างว่ากระทรวงพลังงานขอถอนเรื่องแยกท่อก๊าซออกไปก่อน เพื่อพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับทิศทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของกระทรวงพลังงาน หลังจากนั้นก็เงียบหายไปเลย ทำให้ท่อก๊าซทั้งระบบถูกครอบครอง ใช้ประโยชน์โดยปตท.และเป็นปัจจัยสำคัญในธุรกิจค้าขายก๊าซ ที่ปตท.ยึดไว้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เป็นสมุทัยหลักของค่าไฟแพง รวมถึงก๊าซหุงต้มและ ราคาน้ำมันแพงเว่อร์ด้วย ใช่หรือไม่??!!
 
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงนำเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อสิงหาคม 2549 ให้เพิกถอนการแปรรูป ปตท. แม้ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีในปี 2550 ไม่เพิกถอนการแปรรูป ปตท.แต่สั่งให้ปตท.คืนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ได้แก่ท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมัน เป็นต้น และห้ามปตท.ใช้อำนาจมหาชนอีก
 
จากปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ปตท.คืนท่อก๊าซเฉพาะส่วนที่อยู่บนบก แต่ท่อก๊าซในทะเลไม่ยอมคืน ทั้งที่มติครม.สมัยรัฐบาลพล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติครม.มอบหมายให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา แต่การที่ปตท.คืนท่อก๊าซเฉพาะบนบก โดยไม่คืนท่อก๊าซในทะเลตามการตรวจสอบของสตง. แต่ไปแจ้งศาลปกครองฯ ว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่ สตง.ไม่ได้รับรอง จึงเป็นคดีพิพาทยืดเยื้ออยู่ในศาลปกครองฯจนถึงปัจจุบันนี้
 
 
เมื่อพล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชายึดอำนาจเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ไม่ได้แก้ไขกรณีที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ทิ้งปัญหาโครงสร้างพลังงานแพงเอาไว้ คือกรณีที่เป็นมหากาพย์การทวงท่อก๊าซในทะเลส่วนที่ปตท.ยังคืนไม่ครบถ้วนตามที่ สตง.ตรวจสอบว่าต้องคืน ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะมีการฟ้องต่อศาลปกครองฯหลายครั้ง แม้จะถูกศาลปกครองฯยกคำร้อง แต่ในคำสั่งที่ 800/2557 ศาลปกครองสูงสุดได้อธิบายว่า “การไม่ปฏิบัติตามมติครม. เป็นเรื่องการบริหารงานภายในของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการให้ปฏิบัติให้ครบถ้วนได้ ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการ”
 
แต่พล.อ ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีก็ไม่สั่งการให้ปฏิบัติแก้ไข มูลนิธิฯจึงนำเรื่องไปร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)ในปี 2558 และคตง.ได้วินิจฉัยเสร็จสิ้นในปี2559 สรุปว่า ปตท.ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วนคือท่อส่งก๊าซในทะเล เป็นมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาท และมีหนังสือถึงพล.อ ประยุทธ์ให้ดำเนินการสั่งให้ปตท.คืนทรัพย์สินภายใน60 วัน ตามพรป.ตรวจเงินแผ่นดิน 2542 มาตรา44 ซึ่งครบกำหนด60วัน เมื่อ 24 ตุลาคม 2559 แต่นายกรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติ กลับส่งเรื่องให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า ท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติที่ปตท.ต้องคืนหรือไม่ ตั้งแต่ ปี 2560 จนบัดนี้ 6 ปีแล้ว ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำสั่งตัดสินว่าท่อส่งก๊าซในทะเลเป็นสมบัติของแผ่นดินหรือของ ปตท.
 
การเป็นนายกรัฐมนตรีคสช.ที่อ้างว่าจะเข้าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แก้ไขสิ่งผิดของรัฐบาลก่อน แต่ไม่ได้เข้ามาแก้ไขจัดการการคืนท่อส่งก๊าซที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งที่เป็นอำนาจ หน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่สามารถทำได้เลยตามความที่ปรากฎในคำสั่ที่800/2557 และคำวินิจฉัยของ คตง.
 
ท่อก๊าซบนบกที่ปตท.คืนให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังให้ปตท.เช่าเป็นเวลา30ปี ในราคาปีละ 550 ล้านบาท แต่ปตท.เก็บค่าผ่านท่อจาก กฟผ.และเอกชนที่ใช้ก๊าซผ่านท่อในระยะเวลา 12ปี ที่ดิฉันเคยทำข้อมูลไว้ จากปี2544-2556 เป็นเงินสูงถึง 295,074 ล้านบาท แต่จ่ายค่าเช่ามูลค่าเพียง 4,897 ล้านบาท ท่อส่งก๊าซถูกคำนวณมูลค่าบัญชีตอนแปรรูปเพียง 46,000 ล้านบาท แต่ปตท.นำมาตีมูลค่าใหม่ ( re-value ) ในปี2552 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 105,000 - 120,000 ล้านบาท ตามการประเมินจากอายุใช้งานเพิ่มขึ้น และนำมาเพิ่มอัตราค่าผ่านท่อ ทำให้ปตท.มีผลกำไรเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนต้องแบกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ยิ่งท่อส่งก๊าซยังไม่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ปตท. ก็จะสามารถทำกำไรต่อไปเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายพลังงานก็ต้องแพงต่อไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่
 
ต่อมาในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเครือข่ายของทักษิณ ได้เปลี่ยนกฎกติกาจากการที่รัฐบาลในอดีตกำหนดว่าก๊าซในอ่าวไทยให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก่อนภาคอื่น เมื่อมีก๊าซเหลือจึงให้อุตสาหกรรม ยานยนต์ และปิโตรเคมีได้ใช้ แต่รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์กลับมีมติ
 
ครม.เปลี่ยนให้ปิโตรเคมี (อุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติก)ได้ใช้พร้อมกับก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ปตท.ที่ผูกขาดธุรกิจก๊าซตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ครอบครองโรงแยกก๊าซ ท่อส่งก๊าซทั้งระบบ และมีสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ได้ทำสัญญาขายก๊าซอ่าวไทยให้บริษัทปิโตรเคมีในเครือได้ใช้ก่อนภาคอื่นด้วยราคาภายในประเทศซึ่งมีราคาถูกมาก เป็นการแย่งใช้ก๊าซอ่าวไทยและผลักไสภาคส่วนอื่นไปใช้ก๊าซนำเข้าราคาแพง เช่นก๊าซหุงต้มของภาคครัวเรือนราคาแพงเกินจริง ส่วนกฟผ.และโรงไฟฟ้าต้องใช้ก๊าซในราคาเฉลี่ย3 แหล่งจากอ่าวไทย พม่า และ LNG ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซในประเทศ เป็นสาเหตุทำให้ค่าไฟแพง นี่แหละคือสมุทัย(สาเหตุ)ไฟแพงของจริง
 
เมื่อพล.อ ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศ นอกจากไม่ได้แก้ไขในสิ่งผิดที่รัฐบาลทักษิณ และพรรคการเมืองในเครือทักษิณทำไว้ แต่กลับรับช่วงที่ทำแล้วในยุคทักษิณ เอามาทำอยู่และทำต่อ ในการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน คือ
 
1)ยกเลิกราคาควบคุมก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนที่เคยมีราคาประมาณ 10บาทต่อกิโลกรัมซึ่งเป็นราคาก่อนภาษี
 
2) ลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม และอ้างอิงราคานำเข้า 100% จากประเทศซาอุดิอารเบีย ทำให้ครัวเรือนต้องใช้ก๊าซหุงต้มในประเทศแพงขึ้นเรื่อยๆ
 
3) ปล่อยให้บริษัทปิโตรเคมีในเครือปตท.ได้ใช้ก๊าซอ่าวไทยซึ่งมีราคาถูกกว่า ส่วนกฟผ.ใช้ก๊าซเฉลี่ยจาก3แหล่ง( pool gas) ที่มีราคาแพงกว่า เพียงแค่รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีมาตรการให้ปิโตรเคมีใช้ก๊าซราคาเดียวกับกฟผ.ก็จะลดค่าใช้จ่ายได้ปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท ช่วยลดค่าเอฟทีชาวบ้านได้ 25สต./หน่วย
 
 
นี่ถ้าหาก ครัวเรือน และรัฐวิสาหกิจ กฟผ.ได้ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยด้วยราคาภายในประเทศ เหมือนแต่ก่อน ราคาไฟฟ้าจะยิ่งถูกลงอีกมาก
 
4)กพชที่นายกเป็นประธานไม่ยอมให้ กฟผ.นำเข้า LNG ราคาถูกเข้ามาได้เอง แต่ต้องซื้อผ่านหัวคิวคือปตท. เมื่อค่าเชื้อเพลิงแพงบวกค่าหัวคิว ค่าไฟฟ้าก็แพงขึ้นด้วย ใช่หรือไม่
 
จึงเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลทุกยุคเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน โดยเฉพาะยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนกฎกติกาต่อยอดเพิ่มขึ้น พลังงานในยุคของพล.อ ประยุทธ์ จึงแพงทั้งน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และไฟฟ้า เรียกว่าแพงทั้งแผ่นดิน
 
การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตยทางการเมือง เพื่อให้รัฐบาลจากการเลีอกตั้งเข้ามาดูแลจัดสรรทรัพยากร งบประมาณ และผลประโยชน์ อย่างเท่าเทียมเพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้ประชาชนอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและพลังงาน ไม่ใช่การใช้อำนาจที่ได้รับจากประชาชนไปสร้างอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจให้กลุ่มทุนร่ำรวยผิดปกติบนความเดือดร้อนเกินกว่าปกติของประชาชน

 

รสนา โตสิตระกูล
28 เมษายน 2566