"รสนา"เตือนอย่าให้ความดื้อดึงของรฟม.ที่จะรื้อโบราณสถาน

"รสนา"เตือนอย่าให้ความดื้อดึงของรฟม.ที่จะรื้อโบราณสถาน

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

"รสนา"เตือนอย่าให้ความดื้อดึงของรฟม.ที่จะรื้อโบราณสถานเพื่อเป็นทางขึ้นจากรถไฟฟ้า แต่เป็นทางลงที่แสดงความตกต่ำทางรสนิยมของผู้บริหาร รฟม. มากไปกว่านี้เลย 

 

 

สืบเนื่องจากการประชุม 3 ฝ่ายเมื่อวันที่6 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ท่านอธิบดีกรมศิลปากรเอื้อเฟื้อจัดขึ้นเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงสถานีผ่านฟ้า ที่ทางรฟม.จะใช้โบราณสถานตึกแถว7 คูหาเป็นทางขึ้นลงที่1 ซึ่งทางประชาคมกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์หวังจะเห็นการทบทวนของ รฟม.ในการขยับทางขึ้นลงของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงบนถนนพระสุเมรุ โดยไม่รื้อโบราณสถานตึกแถว 7 คูหาดังกล่าว แต่ในการประชุม 3 ฝ่ายรฟม.ไม่แสดงท่าทีที่จะรับไปพิจารณา ซ้ำยังดื้อดึงจะรื้อโบราณสถาน 7คูหาโดยไม่ทบทวน อ้างว่าไม่มีทางเลือกอื่น ไม่สามารถจะขยับจุดทางขึ้นลงรถไฟฟ้าได้
 
ดิฉันและสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯได้ลงไปสำรวจสถานที่จริง และพบว่ามีทางเลือกอื่นสำหรับใช้เป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าอีกอย่างน้อย 2แห่ง
 
1)ถัดจากโบราณสถานตึกแถว 7คูหาไปทางขวามือ ยังมีพื้นที่กว้างขวางอีกแห่งที่ไม่ใช่โบราณสถาน ทราบว่าเป็นพื้นที่ที่มีคนยกให้วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พื้นที่จุดนี้บริษัทที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้ามาเช่าพื้นที่ ทำเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า
 
2)ด้านหลังของโบราณสถานตึกแถว 7 คูหา อยู่ถัดจากโรงแรมขนาดเล็กแค่กำแพงกั้น เป็นโรงแรมขนาดเล็กที่เพิ่งปรับปรุง(Renovated) จากโกดังเก็บของมาเป็นโรงแรมเมื่อประมาณปี2563 นี้เอง
 
เมื่อ5ปีที่ผ่านมา อาคารนี้ยังเป็นโกดังเก็บของ ด้านหน้าติดคลองบางลำพู และมีสะพานข้ามไปฝั่งตรงข้าม ติดซอยวัดปรินายกที่สามารถเดินทะลุไปยังถนนราชดำเนินนอก ซึ่งสามารถถ่ายเทผู้โดยสารออกไปได้หลายทาง เหตุใด รฟม.จึงไม่เลือกใช้พื้นที่นี้ !?ทำไมต้องมายุ่งขิงกับโบราณสถาน !?
 
ดิฉันได้ติดตามเรื่องนี้ และได้อ่านเอกสารพบว่าตั้งแต่ปี 2558-2565 เป็นเวลา 7 ปีที่อดีตอธิบดีกรมศิลปากร 3 ท่านมีหนังสือแจ้ง รฟม.เป็นระยะ ตั้งแต่ปี 2558,2559 และ 2565 ให้หลีกเลี่ยงการรื้อทำลายโบราณสถานเป็นทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า โดยให้พิจารณาหาพื้นที่อื่นที่เหมาะสมกว่า แต่ รฟม. หาได้ปฏิบัติตามไม่ กลับดื้อดึงจะใช้โบราณสถานเป็นที่ขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมดำเนินการจะก่อสร้างสถานีผ่านฟ้าแล้ว โดยได้เวนคืนโบราณสถานตึกแถว 7 คูหาเพื่อใช้เป็นทางขึ้นลงสถานีผ่านฟ้า และได้ส่งแบบแปลนอาคารสถานีขึ้นลงเพื่อขอรับการอนุมัติจากอธิบดี ทั้งๆที่มีทางเลือกในการใช้พื้นที่อื่นที่ไม่ใช่โบราณสถานในบริเวณใกล้เคียงอีกอย่างน้อย 2 แห่ง แต่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา รฟม.ไม่เคยพิจารณาพื้นที่ดังกล่าวเป็นตัวเลือก แม้จะได้รับคำแนะนำจากอธิบดีกรมศิลปากรหลายคนแล้วก็ตาม
 
 
 
 
ข้อเสนอที่ทำได้ง่ายๆ คือ รฟม.สามารถขอเช่าใช้ที่วัดเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือขอเวนคืนโกดังด้านหลังมาทำทางขึ้นลงของรถไฟฟ้าแทน
 
แต่เหตุใดรฟม.ไม่เคยมีพื้นที่2แห่งนี้อยู่ใน “ตัวเลือก” ของ รฟม. มาก่อน ทราบมาว่า รฟม.เคยเลือกโบราณสถานตึกแถวอีก7คูหาทางด้านซ้ายมือ แต่มีการเจรจาต่อรองแล้ว รฟม.ก็ขยับมาเลือกโบราณสถานอีก 7คูหาทางด้านขวามือแทน แต่กลับไม่พิจารณาพื้นที่อื่นอีกอย่างน้อย 2 แห่งที่อยู่ติดกัน เพราะเหตุใด!?
 
รฟม.กรุณาออกมาชี้แจงประชาชนให้หายข้องใจว่า “เหตุใดจึงอ้างแต่ว่าไม่มีทางเลือกอื่น ต้องรื้อโบราณสถานเท่านั้น หรือมีอะไรซ่อนอยู่ในกอไผ่ !!!???”
 
สถานีสามยอดยังเป็นบทเรียนไม่เพียงพออีกหรือ!? ต้องสังเวยโบราณสถานอีกกี่แห่งจึงจะเพียงพอ !? การรักษาโบราณสถานที่เป็นของดั้งเดิม(Authenticity)ให้อยู่ร่วมกับความทันสมัยอย่างมีรสนิยม เป็นสิ่งที่ทำได้ และเป็นไปได้ อยู่ที่ผู้บริหาร รฟม. และผู้บริหารในบ้านเมืองนี้ยังมีวิสัยทัศน์ และรสนิยมทางสุนทรียภาพในการพัฒนาเมืองอย่างผู้บริหารบ้านเมืองอื่นในนานาอารยประเทศหรือไม่ ?
 
อย่าให้ความดื้อดึงของรฟม.ที่จะรื้อตึกโบราณสถานเพื่อเป็นทางขึ้นจากรถไฟฟ้า แต่เป็นทางลงที่แสดงความตกต่ำทางรสนิยมของผู้บริหาร รฟม. มากไปกว่านี้เลย
รสนา โตสิตระกูล
19 มีนาคม 2566