รสนาประกาศเมื่อรฟม.ดื้อไม่หยุดรื้อทำลายอาคารอนุรักษ์ ประชาสังคมก็ยืนหยัดสู้ไม่ถอย

รสนาประกาศเมื่อรฟม.ดื้อไม่หยุดรื้อทำลายอาคารอนุรักษ์ ประชาสังคมก็ยืนหยัดสู้ไม่ถอย

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

รสนาประกาศเมื่อรฟม.ดื้อไม่หยุดรื้อทำลายอาคารอนุรักษ์ ประชาสังคมก็ยืนหยัดสู้ไม่ถอย

 

 

เมื่อรฟม.ดื้อไม่หยุดรื้อทำลายอาคารอนุรักษ์บนถนนพระสุเมรุเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน ประชาสังคมก็ยืนหยัดสู้ไม่ถอยเช่นกัน
 
ผลการประชุมเมื่อวานนี้ (6 มีนาคม 2566) 3 ฝ่ายระหว่างกรมศิลปากร รฟม. และประชาคมกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ ที่กรมศิลปากร เรื่องขอให้รฟม.ทบทวนการรื้ออาคารอนุรักษ์7คูหา แต่ผลสรุป คือ รฟม.ไม่รับปากจะทบทวนขยับทางขึ้นลงเพื่อเลี่ยงการรื้ออาคารเก่าที่กำลังรอขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ตามกฎหมาย
 
การที่รฟม.สร้างรถไฟฟ้าในเกาะรัตนโกสินทร์เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งแพงกว่ารถไฟฟ้าบนดินลอยฟ้า เพื่ออะไร !? เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับโบราณวัตถุ โบราณสถานอันมีคุณค่า ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมเคยมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งผลการตรวจสอบของกรมศิลปากรว่า”ตลอดเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีม่วงในรัศมี 1 กิโลเมตรโดยรอบมีโบราณสถานที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน เป็นจำนวน 310 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ อาคารอนุรักษ์ริมถนนพระสุเมรุ จึงมีเครื่องหมายคำถามตัวโตว่า ทำไม?ในเมื่อรัฐต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมหาศาลในการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว ยังต้องสูญเสียอาคารอนุรักษ์อันทรงคุณค่า จากการทำสถานีขึ้นลงอีกเล่า !?
 
ถ้ารฟม. ชนะในการรื้ออาคารอนุรักษ์ 7 คูหานี้เพื่อทำทางขึ้นลงได้สำเร็จ ก็จะมีอีกหลายที่ที่เราจะได้เห็นการรื้ออาคารอนุรักษ์ โบราณสถานและทำเทียมขี้นมาแบบสถานีรถไฟฟ้าสามยอด อาคารที่จะถูกรื้อต่อไป คือโบราณสถานโรงพิมพ์ศรีหงส์ เพื่อก่อสร้างสถานีบางขุนพรหม , สถานีศรีย่าน จะมีการรื้อโบราณสถานตึกแขก เป็นต้น อาคารเหล่านี้ อธิบดีกรมศิลปากรในอดีตล้วนแต่มีคำสั่งห้ามรื้อและขอให้ไปหาที่อื่นทำสถานีขึ้นลงแทนแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะอิทธิพลของกลุ่มทุนการเมืองที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ระยะสั้นยิ่งกว่าคำนึงถึงความงดงามทางภูมิสถาปัตยกรรมอันยืนยาวของมหานครอันเก่าแก่ ดังเช่นกรณีอาคารอนุรักษ์ 7 คูหาบนถนนพระสุเมรุนั้น อดีตอธิบดีสั่งห้ามมาตั้งแต่ปี2559 ,2563, 2565 ผ่านมา 7 ปี รฟม.ไม่ยอมทบทวนดื้อดึงจะรื้ออาคารอนุรักษ์ทิ้งให้ได้
 
ทั้งที่ในวันประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมานักวิชาการด้านการอนุรักษ์จากสภาสถาปนิก และสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ทักท้วงไม่เห็นด้วยกับการยืนยันจะรื้ออาคาร และตัดแปะเข้าไปใหม่ เพราะผิดหลักการอนุรักษ์ และนักวิชาการเชื่อมั่นว่ารฟม.มีความสามารถ มีองค์ความรู้ในการทำได้ดีกว่านี้ อยู่ที่ระดับบริหารจะมีวิสัยทัศน์มองเห็นคุณค่าของอาคารอนุรักษ์กับการพัฒนาเมืองหรือไม่
 
การอนุรักษ์ตามหลักอารยะสากลต้องคำนึงถึงการรักษาความเป็นของเดิมแท้ (Authenticity) ความสวยงามของอาคารซึ่งแบบอย่างการออกแบบหรือการก่อสร้างในสมัยหนึ่งๆ ที่มีความพิเศษและมีคุณค่าด้านศิลปะสถาปัตยกรรม และวิศวกรรม แต่อาคารเลียนแบบที่บริษัทออกแบบไม่สามารถแม้แต่จะรักษารูปทรงอาคารรับความโค้งของถนนพระสุเมรุในช่วงนั้นได้ ทำให้ความงาม สุนทรียภาพของอาคารอนุรักษ์หมดไป ดังภาพเปรียบเทียบที่นำมาให้ผู้อ่านได้เห็น
 
 
ดิฉันอยากให้รฟม.และกรมศิลปากรตระหนักว่ามรดกรัตนโกสินทร์ที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้นั้นไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของพวกท่านทีจะตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ฟังเสียงทักท้วง ประชาชนมีสิทธิที่จะปกป้องและสนับสนุนการพัฒนาเมืองให้ทันสมัยโดยรักษาความงามและความมีรสนิยมไว้อย่างสมสมัย
 
หากรฟม.ยังไม่ยอมถอยในเรื่องนี้ ฝ่ายประชาสังคมกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ก็จะสู้ไม่ถอยเช่นกัน…
รสนา โตสิตระกูล
7 มีนาคม 2566