"รสนา"เตือนอัยการไม่ส่งฟ้องคดีเลี่ยงภาษีคอนเดนเซท

"รสนา"เตือนอัยการไม่ส่งฟ้องคดีเลี่ยงภาษีคอนเดนเซท

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

"รสนา"เตือนอัยการไม่ส่งฟ้องคดีเลี่ยงภาษีคอนเดนเซท ทั้งที่อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องแล้ว มีความผิดถ้าทำให้คดีขาดอายุความ

 

 

มีกระบวนการแทรกแซง อัยการไม่ฟ้องบริษัทลูกปตท.ที่หลีกเลี่ยงภาษีคอนเดนเซท ทั้งที่อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องแล้วตั้งแต่2563 จะเตะถ่วงให้คดีขาดอายุความ ใช่หรือไม่
 
ช่วงนี้ชื่อของสำนักงานอัยการสูงสุดกำลังขึ้นหม้อ ได้รับความสนใจเพราะถูกจับตาดูการทำคดีตู้ห่าว จีนพันธุ์สีเทาที่ทำผิดกฎหมายหลายคดี เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและทางการเมืองซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่จะพิสูจน์ว่าอัยการมีความเป็นอิสระจากโลภคติ และภยาคติที่จะเข้ามาแทรกแซงการทำคดีเอาผิดนายตู้ห่าวหรือไม่ หรือเป็นเพียงองค์กรอิสระแต่ในนาม
 
ที่ตั้งคำถามว่าอัยการมีอิสระทำคดีโดยไม่ถูกแทรกแซงจากเงินและอำนาจหรือไม่ เพราะมีหลายคดีที่น่าสงสัย กรณีที่ดิฉันติดตามคือเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีปิโตรเลียมเหลวแหล่งเจดีเอตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี2553 จนบัดนี้สำนักอัยการยังปล่อยให้ข้อหาทะยอยขาดอายุความไปจนเกือบหมด แบบกรณีนายบอสกระทิงแดง ทั้งที่ 2 กรณีมีการติดตามและอื้อฉาวข่าวดังเป็นพักๆ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ใช่หรือไม่
 
ความเดิมของคดีที่ดิฉันพูดถึงคือแหล่งเจดีเอที่เป็นแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) มีข้อตกลงระหว่างไทยกับมาเลเซียว่าคอนเดนเซท (ปิโตรเลียมเหลว) ที่ผลิตจากพื้นที่นี้เป็นรายได้ของไทย และมาเลเซียแบ่งกันคนละ 50% หากมีการขายให้ไทยและมาเลเซียจะไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าขายให้ประเทศที่3 ต้องเก็บภาษี 10% ปรากฎว่าบริษัท Carigali-PTTEP Operating Sdn Bhd (CPOC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทคาริคารี่ ของมาเลเซีย และบริษัทลูกของปตท.และ Carigali-Hess Operating Company Sdn Bhd (CHESS) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทคาริคารี่ และบริษัทลูกของบริษัทเฮสส์ อเมริกาได้สำแดงเอกสารเท็จว่าส่งคอนเดนเซท มาขายไทยจึงไม่ต้องเสียภาษี แต่ปรากฎบริษัทCPOC และ CHESS ได้ขายให้กับบริษัท KARNEL OIL ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เพื่อส่งมาขายปตท. ตามข้อตกลงของเจดีเอ คอนเดนเสทที่ขายให้ประเทศที่ไม่ใช่ไทย และมาเลเซีย ต้องเสียภาษี 10% แต่มีการอ้างว่า KARNEL OIL จะส่งมาขายประเทศไทยอยู่แล้วเลยไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่ CPOC และ CHESS สามารถขายตรงมาที่ไทยโดยไม่ต้องขายผ่านตัวกลางแต่ประการใด การขายผ่านตัวกลางอีกทอดย่อมทำให้ปิโตรเลียมเหลวต้องถูกบวกค่าใช้จ่ายและกำไรเพิ่มขึ้นให้กับบริษัทที่3 ใช่หรือไม่
 
คดีนี้มีข้าราชการไทย3 กระทรวงที่พยายามช่วยกันตีความว่าบริษัทเอกชนนั้นไม่ต้องเสียภาษี โดยอ้างว่าให้ดูแค่จุดหมายปลายทางว่าคือประเทศไทย จะมีการขายผ่านกี่ทอด(Physical movement) ก็ถือว่าไม่มีความต่างในเมื่อจุดหมายปลายทางคือประเทศไทย ดังนั้นจึงตีความว่าไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่การเสียภาษีเกิดขึ้นที่จุดของการส่งมอบสินค้า (Tax Point) ไม่ใช่เกิดที่จุดหมายปลายทาง ถ้าผู้รับมอบไม่ใช่บริษัทไทยแต่เป็นบริษัทประเทศที่3 ก็ต้องเสียภาษีทั้งสิ้น ถ้าการตีความถูกบิดเบือนจากข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ ต่อไปประเทศไทยจะเสียประโยชน์ที่จะไม่ได้ภาษีจากการขายน้ำมันดิบและคอนเดนเซทในแหล่งJDAตลอดไป เพราะผู้ค้าน้ำมันเอกชนจะตั้งพ่อค้าคนกลางมารับซื้อก่อนส่งมาให้ไทย เพื่อบวกโสหุ้ยและกำไรเพิ่ม ทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นแทนที่จะได้ประโยชน์ได้น้ำมันดิบ และปิโตเลียมเหลวราคาถูกจากพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย ก็จะกลายเป็นว่าคนไทยต้องแบกภาระจ่ายแพงขึ้นโดยไม่จำเป็น เพราะเอกชนจะมีตัวกลางมารับช่วงเป็นพ่อค้าคนกลางกี่ทอดก็ได้ตามการตีความของข้าราชการหัวหมอจาก 3 กระทรวง ที่จะเปิดช่องทำให้เอกชนผู้ค้าน้ำมันขายน้ำมันคนไทยแพงขึ้น ได้กำไรมากขึ้น แต่สามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ใช่หรือไม่
 
ดิฉันเขียนบทความให้ตรวจสอบกรณีนี้ไว้ตั้งแต่ปี2560-2564 ว่ามีการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีปิโตรเลียมเหลวจากแหล่งเจดีเอของบริษัทบริษัท CPOC และ บริษัท CHESS กรณีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 และคดีนี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้แต่งตั้งพนักงานอัยการมาสอบสวนร่วมกับดีเอสไอตั้งแต่เริ่มต้นพบว่ามีความผิดจริง และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องแล้วตั้งแต่ 14 กันยายน 2563 แม้คดีนี้กว่าจะตรวจสอบเสร็จสิ้นจนอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ก็ใช้เวลาถึง10ปี ทำให้ มีหลายข้อหาขาดอายุความไป แต่ก็ยังมีข้อหาที่ไม่ขาดอายุความเหลืออยู่ แต่พนักงานอัยการก็ยังไม่นำผู้ต้องหาส่งฟ้องเพื่อให้อายุความหยุดลง ใช่หรือไม่
 

 
ดังปรากฎว่าเมื่อ 6 ตุลาคม 2564 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักอัยการสูงสุดมีหนังสือแจ้งคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับบริษัทที่เกี่ยวข้องบางข้อหาที่ขาดอายุความไปแล้ว ดิฉันได้เขียนบทความทักท้วงไว้เมื่อ 16 พย. 2564 ว่าคดีนี้ยังมีข้อหาที่ไม่หมดอายุความอยู่ และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องไปแล้วตั้งแต่ 14 กันยายน 2563 พนักงานอัยการจึงไม่ควรโยกโย้ ถ่วงเวลาให้ข้อหาขาดอายุความไปอีก แบบเดียวกับที่กำลังทำกับคดีของบอส กระทิงแดง ใช่หรือไม่
 
มีข่าวมาว่า ขณะนี้มีผู้มีอำนาจระดับสูงซึ่งเป็นบุคคลภายนอกพยายามเข้ามาแทรกแซงคดีทั้งที่คดีนี้ซึ่งเป็นคดีต่างประเทศ อัยการสูงสุดต้องเป็นผู้สั่งฟ้อง และก็ได้มีการสั่งฟ้องคดีแล้วจึงถือว่าเป็นข้อยุติในชั้นสำนักงานอัยการตั้งแต่14 กันยายน 2563 พนักงานอัยการควรรีบนำผู้ต้องหาฟ้องศาลให้ศาลเป็นผู้พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่กลับถ่วงเวลานานกว่า2 ปี เป็นการเปิดช่องทางในการวิ่งเต้นคดี และแทรกแซงการล้มคดี จนเกิดข้อครหาต่อสำนักงานอัยการ ใช่หรือไม่
 
ถ้าอัยการทำให้คดีนี้ล่าช้าต่อไป จนเกิดความเสียหายหรือคดีขาดอายุความอีก ย่อมแสดงว่ามีเจตนา จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช่หรือไม่
 
องค์กรอัยการเป็นยุติธรรมต้นน้ำ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ยุติธรรมต้นน้ำทั้ง 2 องค์กรกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าถูกแทรกแซงได้ จากเงินและอำนาจ ใช่หรือไม่
 
คดีนี้มีความสำคัญถ้าอัยการปล่อยให้คดีขาดอายุความ เอาตัวคนผิดมาลงโทษไม่ได้ จะทำให้รัฐไทยไม่ได้ภาษีจากแหล่งเจดีเอ กลายเป็นรูรั่วใหญ่ของกระเป๋าเงินของแผ่นดิน และทำให้ประชาชนต้องแบกรับราคาน้ำมันแพงต่อไปอย่างไร้ความเป็นธรรม
รสนา โตสิตระกูล
15 มกราคม 2566