รสนาขอให้นักการเมืองที่ดูแล รฟม.ยุติการรื้ออาคารอนุรักษ์บนถ.พระสุเมรุเป็นทางขึ้นลงรถใต้ดินสายสีม่วง

รสนาขอให้นักการเมืองที่ดูแล รฟม.ยุติการรื้ออาคารอนุรักษ์บนถ.พระสุเมรุเป็นทางขึ้นลงรถใต้ดินสายสีม่วง

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

รสนาขอให้นักการเมืองที่ดูแล รฟม.ยุติการรื้ออาคารอนุรักษ์บนถ.พระสุเมรุเป็นทางขึ้นลงรถใต้ดินสายสีม่วง

 

 

เมื่อต้นปี2565 ดิฉันทำหนังสือสอบถามอธิบดีกรมศิลปากรว่าอาคารที่ รฟม.จะรื้อถอนเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง เป็นอาคารที่มีสถานะเป็น “โบราณสถาน” ตามนิยามของพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) หรือไม่ และได้คำตอบจากท่านอธิบดีกรมศิลปากรว่าเป็นอาคารที่กำลังจะขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ตามกฎหมายจริง
 
อธิบดีกรมศิลปากรยังได้แจ้งดิฉันว่าทางกรมฯได้ทำหนังสือไปถึงรฟม.ตั้งแต่ปี 2559 เรื่องการให้หลีกเลี่ยงการรื้อถอนอาคารที่มีสถานะเป็นโบราณสถานและได้ส่งหนังสือถึงรฟม.อีกครั้งแจ้งเรื่องที่ดิฉันร้องเรียนขอให้ยับยั้งการรื้อถอนอาคารดังกล่าวเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน
 
ปัจจุบันรฟม.ได้ดำเนินการให้ผู้เช่าที่อาศัยอยู่ในอาคาร7คูหาที่จะรื้อดังกล่าวย้ายออกไปหมดแล้ว และมีข่าวว่ามีใบจัดจ้างการรื้อออกมาแล้วโดยจะทำการรื้อถอนภายในสิ้นเดือนมกราคม 2566
 
ตึกแถวเก่า 7 คูหาที่จะถูกรื้อถอน เป็นตึกเก่าอายุกว่า 80 ปี บนถนนพระสุเมรุ มีรูปแบบก่ออิฐถือปูน 2 ช้ันรูปเเบบอิทธิพลตะวันตก และถูกระบุเป็นอาคารที่มีคุณค่าในแผนที่ชุมชนรัตนโกสินทร์ 2547 ซึ่งเป็นมรดกสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า มีความเป็นโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ตึกแถวดังกล่าวมีทั้งหมด14 คูหา แบ่งเป็น 2 ชุด ชุดละ 7 คูหาเรียงต่อกัน ทั้ง 2 ชุดถูกคั่นด้วยซอยเล็กๆ ส่วนของชุดทางด้านขวาจะเป็นจุดที่จะถูกรื้อถอนเพื่อทำเป็นทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าซึ่งจะทำให้อาคารเก่าในเกาะรัตนโกสินทร์ที่มีคุณค่าควรแก่การรักษาไว้ต้องหายไปครึ่งหนึ่ง ถ้ามองมาจากด้านถนนพระอาทิตย์ จะเห็นตึกแถวเก่าทั้ง 2 ชุดนี้เรียงรายรับสายตาอยู่พอดี เพราะเป็นช่วงโค้งของถนน เป็นทัศนียภาพที่สวยงาม ถ้าหายไปครึ่งหนึ่งบรรยากาศก็จะขาดความต่อเนื่อง เพราะถนนพระสุเมรุนี้เชื่อมต่อมาจากย่านถนนพระอาทิตย์ ป้อมพระสุเมรุ ซึ่งนำไปสู่ป้อมมหากาฬ ภูเขาทอง และโลหะปราสาท เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ยังคงความสวยงามและถ่ายทอดบรรยากาศทางวัฒนธรรมของเมืองเก่าอย่างครบถ้วนบนถนนพระสุเมรุตึกแถวเก่า 2 ชุดนี้เป็นแนวสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ย่านนี้ เพราะรอบด้านเป็นอาคารใหม่ไปเกือบหมดแล้ว
 
 
ทางเครือข่ายอนุรักษ์อาคารเก่าบนถนนพระสุเมรุอันประกอบด้วยกลุ่มสถาปนิก วิศวกรโครงสร้าง ศิลปิน นักส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ช่างภาพ และกลุ่มประชาชนนักอนุรักษ์เป็นจำนวนมาก มีความห่วงใยเรื่องการรื้อถอนอาคารอนุรักษ์ดังกล่าว และมีความเห็นพ้องกันว่าสามารถออกแบบทางขึ้นลงรถไฟใต้ดิน และปล่องระบายอากาศได้โดยสามารถเหลีกลี่ยงการใช้อาคารชุดนี้เพื่อประโยชน์ของการอนุรักษ์อาคารเก่าในเกาะรัตนโกสินทร์เพื่อรักษาบรรยากาศความต่อเนื่องของย่านเมืองเก่าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางศิลปวัฒนธรรม เนื่องจากถนนพระสุเมรุเป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมโยงจากย่านถนนพระอาทิตย์เลาะมาตามแนวกำแพงเมืองไปบรรจบกับสะพานผ่านฟ้า ภูเขาทอง และโลหะปราสาทซึ่งมีความงดงามและควรค่าต่อการอนุรักษ์ไว้
 
ดิฉันร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์อาคารเก่าบนถนพระสุเมรุได้ร่วมกันทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรอีกครั้งเพื่อขอเข้าพบหารือ และขอให้ท่านอธิบดีโปรดเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมไตรภาคี ประกอบด้วย 1)ท่านอธิบดี และตัวแทนทางกรมศิลปากร
 
2)ผู้บริหาร รฟม. และคณะ 3)ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ฯที่เป็นภาคประชาสังคมประกอบด้วยสถาปนิก และวิศวกรโครงสร้างที่มีประสบการณ์ในการออกแบบอาคารที่มีชั้นใต้ดินลึกลักษณะคล้ายกันกับสถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วง น่าจะมีประโยชน์หากได้พูดคุยรับฟังความเห็นกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งการรักษาอาคารอนุรักษ์อันทรงคุณค่าอย่างสูงให้คงอยู่คู่กับความงามบนย่านเมืองเก่าบนถนนพระสุเมรุควบคู่กับความทันสมัยของการมีรถไฟใต้ดินในเกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างทางขึ้นลงรถไฟใต้ดินไม่ล่าช้า และในขณะเดียวกันก็จะมีความชัดเจนว่าจะมีการดูแลอาคารอนุรักษ์ไปพร้อมๆกันด้วย
 
ดิฉันพร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายอนุรักษ์ฯ ผู้ลงรายชื่อท้ายหนังสือได้ส่งไปรษณีย์ด่วนพร้อมไปรษณีย์ตอบรับถึงท่านอธิบดีกรมศิลปากร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะอนุเคราะห์เร่งรัดจัดการประชุมไตรภาคีเพื่อประโยชน์ในการหารือรับฟังข้อเสนอทางออกที่เหมาะสมในการสร้างทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดินที่สามารถหลีกเลี่ยงการรื้อถอนและอนุรักษ์อาคารอันทรงคุณค่าดังกล่าวไปพร้อมๆกัน
รสนา โตสิตระกูล
25 ธ.ค 2565