รสนาระบุค่าไฟภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจของไทยเปรียบเทียบราคากับเพื่อนบ้านแพงเป็นอันดับ2 รองจากประเทศกัมพูชา

รสนาระบุค่าไฟภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจของไทยเปรียบเทียบราคากับเพื่อนบ้านแพงเป็นอันดับ2 รองจากประเทศกัมพูชา

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

รสนาระบุค่าไฟภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจของไทยเปรียบเทียบราคากับเพื่อนบ้านแพงเป็นอันดับ2 รองจากประเทศกัมพูชา 

 

 
ค่าไฟจากเดือนกันยายน2565 ได้ปรับขึ้นมาเป็น 4.72บาท/หน่วย ที่ยังไม่ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งรวมแล้วกิน5บาท/หน่วย
 
ค่าไฟตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จะถูกปรับเพิ่มเป็น 5-6 บาท/หน่วย เมื่อรวมกับภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นจะพุ่งทะลุแพงเป็นอันดับ1 แซงหน้ากัมพูชาที่ค่าไฟครัวเรือนอยู่ที่หน่วยละ 5.36 บาทเป็นแน่ และราคาจะแพงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันราคาสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้านได้เลยเพราะต้นทุนพลังงานของเราสูงกว่าเพื่อนบ้าน การลงทุนจะย้ายฐานไปเวียดนามที่ค่าไฟบ้านอยู่ที่ 2.90บาท/หน่วย และค่าไฟภาคธุรกิจอยู่ที่ 2.77 บาท
 
การที่ค่าไฟ ค่าน้ำมันที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการใช้ชีวิตและทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ราคาสินค้าแพงไปด้วย ประชาชนจะลำบากมากขึ้น ค่าครองชีพสูง ค่าแรงต่ำ ต่อให้ได้ค่าแรงวันละ600 บาท ก็ไม่สารถรับกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงตามราคาค่าไฟ ค่าน้ำมันได้ หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหาค่าไฟแพงที่ต้นเหตุ
 
รัฐบาลต้องหยุดเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน เพราะเป็นต้นเหตุค่าไฟแพง
1)รัฐบาลเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานด้วยการทำสัญญาซื้อไฟจากเอกชน และสปป.ลาวจนล้นระบบ แต่ยังไม่หยุดซื้อ ปัจจุบันไทยใช้ไฟสูงสุด 3.2 หมื่นเมกกะวัตต์ แต่มีไฟสำรองถึง 5หมื่นกว่าเมกะวัตต์ สูงเกิน 50% ของความต้องการใช้ แต่รัฐบาลยังมีแผนจะเดินหน้าซื้อไปเรื่อยๆ ไม่มีขีดจำกัด จนเอกชนได้สิทธิผลิตไฟขายกฟผ.รวมแล้วประมาณ70% ส่วนรัฐผลิตเองเพียง30% และจะมีสัดส่วนลดลงไปเรื่อยๆ ถ้ารัฐบาลไม่หยุดซื้อเอกชนและจากสปป.ลาว
 
2)ไฟที่ซื้อจากเอกชน + การประกันกำไรให้เอกชน ที่แม้ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย เรียกว่าค่าความพร้อมจ่ายประมาณ25% + นโยบายรัฐที่ซื้อไฟเอกชนหน่วยละ3-8 บาท ซึ่งแพงกว่า ที่กฟผ.ขายส่งไฟให้ กฟน.และกฟภ.ที่2.57บาท/หน่วย ค่าซื้อไฟที่แพงกว่าต้นทุนขายของกฟผ.จะถูกผลักมาอยู่ในค่าเอฟที (ค่าไฟผันแปร)ที่ให้ประชาชนและภาคธุรกิจเป็นผู้จ่าย ส่งผลให้ค่าสินค้าแพงขึ้น ประชาชนยากจนลงเพราะถูกล้วงกระเป๋า แต่ทุนพลังงานรวยขึ้นจนติดอันดับเศรษฐีของประเทศ
 
3)รัฐบาลเอื้อให้บริษัทปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในราคาในประเทศที่ถูกกว่ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า การใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าต้องใช้ราคาเฉลี่ย (Pool Gas) จากก๊าซ LNG , ก๊าซจากพม่า และก๊าซอ่าวไทย ทำให้มีต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟมีราคาที่สูงกว่า ส่งผลให้ค่าไฟแพง แต่ธุรกิจปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซราคาในประเทศ ไม่ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาเฉลี่ย จึงมีราคาถูกกว่าผู้ใช้รายอื่น ทำให้ธุรกิจปิโตรเคมีมีกำไรสูง แต่ประชาชนแบกภาระค่าไฟแพง
 

 
กิจการไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญได้คุ้มครองไว้ โดยกำหนดให้รัฐเป็นเจ้าของ หรือรัฐจะทำให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของของรัฐน้อยกว่า 51% ไม่ได้ เพราะจะทำให้รัฐไม่สามารถคุ้มครองให้ประชาชนเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีราคาที่ไม่เป็นภาระเกินสมควร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา56 ที่อยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐบัญญัติไว้
 
รัฐบาลจึงมีหน้าที่ต้องจัดการแก้ปัญหาค่าไฟแพงที่ต้นเหตุ ไม่ใช่เพียงเอาภาษีมาชดเชยการใช้ไฟของครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่ถึง300หน่วยเท่านั้น เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
 
สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายสิ่งแวดล้อม เครือข่ายไฟฟ้า ประปา และยาเพื่อชาติและประชาชน สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และอีก133 องค์กรได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าไฟแพงที่ต้นเหตุ และปฏิบัติตามหน้าที่แห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา56 โดยเคร่งครัด หยุดเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน
 
รสนา โตสิตระกูล
24 ธ.ค 2565