รสนาส่งหนังสือถึงนายกฯชี้ ผลเจรจาของคณะกรรมการกับบีทีเอสขัดต่อคำสั่งคสช.ที่3/2562

รสนาส่งหนังสือถึงนายกฯชี้ ผลเจรจาของคณะกรรมการกับบีทีเอสขัดต่อคำสั่งคสช.ที่3/2562

 

 

 
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
 
 
รสนาส่งหนังสือถึงนายกฯชี้ ผลเจรจาของคณะกรรมการกับบีทีเอสขัดต่อคำสั่งคสช.ที่3/2562 ขอให้เพิกถอนและหยุดบีบกทม.ต่อสัมปทานอีก 30ปีแลกหนี้รัฐบาล
 
 
 
วันนี้ (14 มิย.2565)ดิฉันส่งหนังสือขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชาพิจารณายกเลิกและเพิกถอนผลเจรจาระหว่างคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งมาตรา44 ของคสช.ที่3/2562 กับบริษัทผู้รับสัมปทาน(บีทีเอส) ในข้อ3 วรรคสอง ซึ่งผลการเจรจาดังกล่าวตัดสินให้ กทม.ต้องขยายเวลาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก(จากสถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช) ซึ่งจะหมดอายุในปี2572 โดยขยายเวลาไปถึงปี 2602 ในราคา65 บาทตลอดสายเพื่อแลกกับหนี้ค่าเดินรถส่วนต่อขยาย (2) ประมาณ 40,000 ล้านบาท และหนี้ค่าก่อสร้างส่วนต่อขยาย(2) อีกประมาณ 60,000 ล้านบาท (ตามเอกสารแนบ 1)
 
ผลสรุปดังกล่าวเป็นการเจรจาที่ขัดต่อสาระหลักในข้อ3 วรรคสี่ของคำสั่งคสช.ที่3/2562
ข้อ 3 วรรคสี่ ระบุว่า “ในการดําเนินการตามวรรคสองและวรรคสาม ต้องคํานึงถึงประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือผู้ใช้บริการ ความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้บริการ การประหยัดค่าโดยสาร และการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อภาครัฐอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม”นั้น
 
รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักจะหมดอายุสัมปทานในปี 2572 และตกเป็นสมบัติของ กทม. โดยคนกทม.เป็นผู้จ่ายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักผ่านค่าโดยสารตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี (2542-2572) เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักตกเป็นสมบัติกทม. ค่าโดยสารหลังปี 2572 หลังหมดสัญญาสัมปทานแล้วจะไม่มีต้นทุนค่าโครงสร้างระบบราง จะเหลือเพียงค่าใช้จ่ายการเดินรถ และค่าบำรุงรักษา เมื่อพิจารณาจากงบการเงินของบริษัทบีทีเอส พบว่าระหว่างปี 2557-2562 ต้นทุนการเดินรถเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 10 - 16 บาทต่อเที่ยว และในปี 2562 ที่การเดินรถรวมส่วนต่อขยายที่ (1 ) และ(2)มีต้นทุนเพียง 15.70 บาทเท่านั้น (เอกสารแนบที่2)
 
นอกจากค่าโดยสารจะถูกลงแล้ว กทม.ยังจะได้รับรายได้ในการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ ค่าโฆษณา และ ค่าเช่าการเชื่อมต่อกับพื้นที่เอกชนที่เป็นรายได้ต่อปีอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นรายได้ของ กทม. ในการพัฒนาเมืองกรุงเทพด้านขนส่งสาธารณะให้มีราคาถูกลงทั้งระบบได้ ดังนั้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยาย (1)+(2) จะมีราคาถูกลงกว่า65 บาทตลอดสาย และ กทม.ยังมีรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์และโฆษณาของกิจการรถไฟฟ้าตลอด 30ปี ไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท โดยคน กทม.ไม่ต้องแบกรับภาระค่าโดยสารแพงถึง65บาทอย่างแน่นอน
 
การที่คณะกรรมการเจรจาต่อรองกับผู้รับสัมปทาน และให้ขยายเวลาสัมปทานไปอีก 30 ปี ในราคา65 บาทย่อมขัดต่อคำสั่งคสช.ที่3/2562 ในข้อ3 วรรคสี่ระบุว่า “ที่ต้องคํานึงถึงประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือผู้ใช้บริการ ความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้บริการ การประหยัดค่าโดยสาร และการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อภาครัฐอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม”
 
กรณีการนำหนี้การเดินรถ และค่าก่อสร้างระบบรางในส่วนต่อขยาย(2) ที่ไม่ใช่สมบัติของ กทม. แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นสมบัติของ รฟม.กระทรวงคมนาคม ทั้งยังเป็นเส้นทางการเดินรถจากปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งอยู่นอกเขตการรับผิดชอบของ กทม.อีกด้วยนั้นมาบีบให้ผู้ว่าฯกทม.ต้องต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักไปอีก30 ปีในราคา65บาท เพื่อแลกกับการใช้หนี้ส่วนต่อขยาย(2)ที่ไม่ใช่ทรัพย์สินของ กทม.นั้นจึงขาดความเป็นธรรมอย่างยิ่ง
 
รัฐบาลย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าการก่อสร้างส่วนต่อขยาย(2)นั้นมีการประเมินผลแล้วว่าไม่คุ้มค่าเชิงธุรกิจ แม้จะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่สามารถช่วยให้ประชาชนจากปทุมธานี และสมุทรปราการเดินทางเข้ามาในกทม.ได้สะดวก แต่ค่าใช้จ่ายทั้งการเดินรถ และค่าก่อสร้างส่วนต่อขยาย(2)ก็ควรเป็นภาระของรัฐบาล และ/หรือกระทรวงคมนาคม ไม่ใช่ภาระของคน กทม.ที่ต้องแบกรับหนี้ก้อนนี้โดยแลกกับการที่คน กทม.ต้องจ่ายค่าโดยสารแพงถึง 65 บาทตลอดสายไปอีก30ปี
 
ดิฉันเห็นว่าหนี้ค่าเดินรถส่วนต่อขยาย(2) จำนวน 40,000 ล้านบาท รัฐบาลและ/หรือ รฟม.กระทรวงคมนาคมควรรับผิดชอบจ่ายให้บีทีเอสเพื่อยุติการฟ้องร้องระหว่างบีทีเอสและ กทม. ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นเงื่อนไขที่จะบีบบังคับผู้ว่า กทม.ให้สมยอมรับผิดชอบขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักไปอีก 30ปี เพื่อแก้ปัญหาหนี้ให้กับ รฟม.และรัฐบาล
 
ดิฉันจึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกข้อเจรจาระหว่างคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งคสช. ที่ 3/2562 และบริษัทบีทีเอสซึ่งข้อตกลงขัดต่อสาระหลักในข้อ3 วรรคสี่ และขอให้รัฐบาลยุติการบีบบังคับให้กทม.ต้องขยายสัญญาสัมปทานไปอีก 30ปี ในราคา65 บาท
 
ดิฉันได้ส่งสำเนาหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียนพล.อ อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย และคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ด้วยแล้ว
รสนา โตสิตระกูล
14 มิถุนายน 2565