ตึกเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะถูกรื้อเป็นทางขึ้นรถไฟฟ้า ผู้ว่ากทม.ช่วยรักษาไว้จะได้ไหม

ตึกเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะถูกรื้อเป็นทางขึ้นรถไฟฟ้า ผู้ว่ากทม.ช่วยรักษาไว้จะได้ไหม

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

ตึกเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะถูกรื้อเป็นทางขึ้นรถไฟฟ้า ผู้ว่ากทม.ช่วยรักษาไว้จะได้ไหม
 
 
ตึกเก่าอายุกว่า 80 ปีบนถนนพระสุเมรุ เป็นตึกเก่าที่อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งกำลังจะถูกรื้อในกลางปี 2565 เพื่อเป็นทางขึ้นลงของรถไฟฟ้าสายสีม่วง
 
กลุ่มตึกแถวมีรูปแบบก่ออิฐถือปูน 2 ช้ัน รูปเเบบอิทธิพลตะวันตก และถูกระบุเป็นอาคารที่มีคุณค่าในแผนที่ชุมชนรัตนโกสินทร์ 2547 (ข้อมูลจาก สำนักนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักผังเมือง)
 
 
 

 
 
ตึกแถวเก่าบนถนนพระสุเมรุเป็นมรดกสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า มีความเป็นโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน และพื้นที่ยังคงความสงบเงียบในขณะที่อยู่บนเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปรากฎอยู่ในงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท นางสาววรรณิภา งามสมสรี ในหัวข้อ “บทบาทของผู้ถือครองทรัพย์สินต่อกระบวนการวางแผนการอนุรักษ์ มรดกสถาปัตยกรรมประเภทตึกแถวบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ และพื้นที่ต่อเนื่องฝั่งตะวันออก” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
 


 
 
ถ้ามาจากด้านถนนพระอาทิตย์ จะเห็นตึกแถวเก่าทั้ง 2 ชุดนี้เรียงรายรับสายตาอยู่พอดี เพราะเป็นช่วงโค้งของถนน เป็นทัศนียภาพที่สวยงาม ถ้าหายไปครึ่งหนึ่งบรรยากาศก็จะขาดความต่อเนื่อง เพราะถนนพระสุเมรุนี้เชื่อมต่อมาจากย่านถนนพระอาทิตย์ ป้อมพระอาทิตย์ และนำไปสู่ป้อมมหากาฬและภูเขาทอง เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ยังคงสวยงามและถ่ายทอดวัฒนธรรมของเมืองเก่าอยู่ ตึกแถวเก่า 2 ชุดนี้เป็นแนวสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบริเวณนี้ เพราะรอบด้านเป็นอาคารใหม่ไปเกือบหมดแล้ว
 
ดิฉันอดเสียดายไม่ได้ และเห็นว่าผู้ว่ากทม.ควรรักษาตึกเก่าดังกล่าวไว้เป็นพื้นที่ย่านตึกเก่าสำหรับการท่องเที่ยว เป็นถนนคนเดิน โดยที่จุดที่ตั้งของตึกแถวดังกล่าวอยู่บริเวณถนนพระสุเมรุที่เชื่อมต่อมายังถนนผ่านฟ้าลีลาศ และเชื่อมต่อมาที่คลองโอ่งอ่างที่กทม.ได้ลงทุนปรับปรุงไว้งดงามอยู่แล้วสำหรับการท่องเที่ยว หาก กทม.จะจัดสรรงบสักจำนวนสำหรับรักษาอาคารเก่าชุดนี้ไว้เพื่อปรับปรุงให้เป็นร้านค้าในอนาคตสำหรับการท่องเที่ยวบนถนนสายนี้ ก็จะเป็นการเสริมคุณค่าให้กับพื้นที่บริเวณนี้
 
ตึกแถวดังกล่าวมีทั้งหมด14 คูหา แบ่งเป็น 2 ชุด ชุดละ 7 คูหาเรียงต่อกัน ทั้ง 2 ชุดถูกคั่นด้วยซอยเล็กๆ ส่วนของชุดทางด้านขวาจะเป็นจุดที่จะโดนรื้อถอนและเป็นทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าแทน ซึ่งจะทำให้อาคารเก่าที่มีคุณค่าควรแก่การรักษาไว้ต้องหายไปครึ่งหนึ่ง
 
ทางขึ้นลงของรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีการกำหนดไว้ 4 จุด
จุดที่1 อยู่ตรงด้านหน้าหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ธ.กรุงเทพ ตรงสี่แยกผ่านฟ้า
จุดที่ 2 คือบริเวณภัตตาคารผ่านฟ้า อยู่ฝั่งตรงข้ามลึกเข้ามาทางถนนพระสุเมรุ
จุดที่ 3 เป็นคลังเก็บสินค้าฝั่งตรงข้ามตึกแถวเก่า 14 คูหาที่เรากำลังพูดถึง
จุดที่ 4 คือตึกแถวเก่า 7 คูหา ชุดที่กำลังจะถูกรื้อถอน ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับจุดที่ 3 พอดี
 
 



 
จริงๆแล้วจุดที่ 2 ที่เป็นภัตตาคารผ่านฟ้าก็น่าเสียดายเพราะก็เป็นอาคารเก่าสไตล์ Early Modern ที่ถ้าเลี่ยงได้ก็น่าจะเก็บรักษาไว้เช่นกัน (เพียงแต่อาจจะไม่มีลวดลายปูนปั้นหรืองานประดับตกแต่งสวยงามเท่าตึกแถวที่เราพูดถึง และตัวภัตตาคารผ่านฟ้าเองก็เป็นร้านเก่าแก่กว่า 75 ปี)
 
สิ่งที่ผู้ว่ากทม.ปัจจุบันทำได้
1)ให้ลดทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าลงเหลือ 3 จุด เพราะจุดที่ 3 และ 4 ห่างกันแค่ข้ามถนนที่ไม่กว้างมากนัก และจะเป็นผลดีที่คนขึ้นจากสถานีรถไฟฟ้าจะเห็นอาคารเก่าสวยงามชุดนี้ตั้งอยู่
 
2)ถัดจากอาคาร14 หลังจะเป็นตึกเก็บของสำหรับงานตกแต่งของสำนักงานกทม. ซึ่งคับแคบและเป็นที่กองของต่างๆ ถ้าจำเป็นต้องมีทางขึ้น4ทาง ก็ควรขยับมาใช้พื้นที่บริเวณนี้ และควรหาพื้นที่อื่นที่ใหญ่กว่านี้สำหรับส่วนงานตกแต่งของกทม.และปรับพื้นที่บริเวณนี้เป็นถนนสำหรับการท่องเที่ยว
 
3)เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับผู้เช่าอาคารดังกล่าว กทม.ควรจ่ายเงินชดเชยให้เจ้าของที่ดินและผู้เช่าตามสมควร เพื่อชดเชยกิจการที่อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างและเพื่อจะได้รักษาอาคารเก่าที่มีคุณค่านี้ไว้
 
 




 
 
การพัฒนากรุงเทพฯชั้นในซึ่งเป็นหัวแหวนของกรุงรัตนโกสินทร์ให้งดงามและสมสมัย ควรต้องรักษาประวัติศาสตร์เก่าอันทรงคุณค่า ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่ามหาศาลไปพร้อมๆกันในอนาคต
รสนา โตสิตระกูล
3 มกราคม 2565