"ถามประชาชนเจ้าของตัวจริงหรือยัง ก่อนจะขายทรัพย์สินของชาติ"

"ถามประชาชนเจ้าของตัวจริงหรือยัง ก่อนจะขายทรัพย์สินของชาติ"

 

 

 

"ถามประชาชนเจ้าของตัวจริงหรือยัง ก่อนจะขายทรัพย์สินของชาติ"

 

 

ดิฉันได้อ่านบทความ2บทของคุณเปลวสีเงินเรื่อง "ปตท.ยุทธศาสตร์4.0 สตง" และ "PTTORกับคำว่าขายสมบัติชาติ" เมื่อวันที่10,11 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาอยากขอแสดงความเห็นต่างต่อเรื่องนี้เป็นการแลกเปลี่ยนกับคุณเปลวสีเงินด้วยความเคารพสัก2-3ประเด็น

ประเด็นของเรื่องมาจากการที่สตง. ทักท้วงไปที่รมว.กระทรวงการคลังกรณีที่ผู้บริหารและคณะกรรมการของปตท.มีมติว่าจะแยกกิจการเรื่องค้าน้ำมันและค้าปลีกออกจากบริษัทปตท. ตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อบริษัทค้าน้ำมันและค้าปลีก PTTOR และเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และปตท.แม่จะถือหุ้นในบริษัทใหม่น้อยกว่า50% ซึ่งแปลว่าสัดส่วนของรัฐในบริษัทนี้จะถูกลดลงเหลือแค่ 20%กว่าเท่านั้น และบริษัทใหม่นี้จะเป็นบริษัทเอกชนซึ่งพ้นจากการตรวจสอบของหน่วยงานทั้งสตง.และปปช.และไม่ต้องขึ้นกับกฎหมายฮั้วประมูลด้วย นี่คือสิ่งที่ต้องการมากกว่า ใช่หรือไม่?

 

ประเด็นที่ต้องทักท้วงมติของผู้บริหารและบอร์ดปตท.เพราะ

1 ) การที่รัฐถือหุ้นอยู่ในบมจ.ปตท.51%
จึงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเป็นเจ้าของกิจการอยู่เกินครึ่งหนึ่ง จึงไม่สามารถปล่อยให้การแยกบริษัทลูก และลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทใหม่นี้เป็นการตัดสินใจของผู้บริหาร และคณะกรรมการของบริษัทที่มีฐานะเป็นเพียง"ลูกจ้าง" ไม่ใช่ "เจ้าของกิจการ" ให้เป็นผู้ตัดสินใจว่ารัฐจะต้องยอมลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของลงเหลือ20% ตามอำเภอใจของบรรดาลูกจ้าง

 

การที่สตง.ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบของรัฐทักท้วงเรื่องนี้ไปที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังให้พิจารณาทบทวนว่าในฐานะที่รัฐเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนใหญ่ของกิจการนี้จะนั่งบื้อให้ผู้บริหารและบอร์ด ซึ่งมีฐานะเป็นแค่ลูกจ้างมามั่วนิ่มตัดสินใจขายทรัพย์สินที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของได้อย่างไร

เรื่องนี้จึงต้องเป็นการตัดสินใจในระดับคณะรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนของเจ้าของทรัพย์ตัวจริงคือประชาชน65ล้านคน

 

2 ) การที่ปตท.จะตั้งบริษัทลูกPTTOR โดยบริษัทปตท.แม่จะลดการถือหุ้นลงน้อยกว่าครึ่งหนึ่งต้องตอบคำถามว่าเพราะอะไร

พูดด้วยภาษาชาวบ้าน ถ้าเราจะขายส่วนของกิจการของเราให้คนอื่นมาร่วมเป็นเจ้าของด้วยต้องมีสาเหตุหลักๆมาจาก
1.ขาดเงินดำเนินกิจการ ต้องถามว่าเวลานี้ปตท.ขาดเงินหรือไม่ ความจริงในขณะนี้คือปตท.มีเงินสดเหลือเฟือในมือ จนต้องนำเงินส่วนเกินไป

ละลายในธุรกิจต่างๆที่ไม่ใช่กิจการน้ำมัน ใช่หรือไม่?

2.การที่คนจะขายส่วนแบ่งในกิจการให้คนอื่นก็เพราะกิจการมีความเสี่ยง ไม่อยากเสี่ยงคนเดียว เลยต้องดึงคนอื่นมาร่วมเสี่ยงด้วย กิจการนี้มีความเสี่ยงหรืออย่างไรจึงต้องขายให้คนอื่นมาร่วมเสี่ยงด้วย?!

3.การขายกิจการออกไปเพราะกิจการใกล้จะเจ๊ง บริหารไม่ไหวก็ขายทิ้งให้คนอื่นที่มีความสามารถมาซื้อกิจการไปบริหารต่อ

ต้องถามว่าปตท.มีปัญหาอะไรใน3ข้อนี้จึงต้องขายทรัพย์สินส่วนของตัวเองออกไปให้คนอื่นมาร่วมถือหุ้นด้วยสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ถ้าปตท.ไม่ได้ขาดเงินทุน และกิจการของPTTOR ก็เป็นธุรกิจที่ได้กำไร และมีอนาคต แล้วมีเหตุผลใดที่ปตท.จะเฉือนเนื้อดีๆที่ตัวเองมีอยู่ไปให้คนอื่นกิน 


มันเป็นตรรกะที่สมเหตุสมผลแล้วหรือที่คุณเปลวสีเงินสนับสนุนการกระทำเช่นนี้

ดิฉันนึกถึงคำพูดของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารประชาชาติในช่วงที่มีการประกาศใช้พ.ร.บ ตลาดหลักทรัพย์ใหม่ๆเมื่อปี2517 โดยท่านตั้งคำถามว่า "ตลาดหลักทรัพย์ สินค้าดีมีขายหรือ?" ท่านตั้งเป็นคำถามว่า "คนจะเอาสินค้ามาขาย ก็ต้องชั่งดูประโยชน์ที่จะได้ เช่นถ้าบริษัท ก. ทำการค้าขายกะปิมา 20ปีแล้วได้กำไรดีทุกปี เจ้าของบริษัทร่ำรวย แล้วเรื่องอะไรเขาจะขายหุ้นของบริษัทเพื่อเอาประโยชน์ไปแบ่งกับชาวบ้าน"

 

สมมติคุณเปลวสีเงินเป็นเจ้าของกิจการนี้ ซึ่งเงินก็ไม่ขาดมือ และธุรกิจก็มีความก้าวหน้าใหญ่โตขนาดเซเว่นอีเลเว่นก็ต้องมาพึ่งพิง กิจการนี้ไม่มีวันเจ๊งมีแต่จะกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี คุณเปลวจะโง่ยอมลดการถือหุ้นของตัวเองจาก100% เหลือ40% ไหมคะ

 

ถ้าตอบคำถามข้างต้นได้ ก็ย่อมเห็นเองว่า การแยกบริษัทที่เป็นเนื้อดี ไม่ใช่เนื้อเน่า และยอมลดการถือหุ้นลงกว่าครึ่งจะแปลความได้หรือไม่ว่านี่คือการจงใจเฉือนเนื้อดีส่วนที่รัฐมีหุ้นแทนประชาชนทั้งชาติอยู่เอาไปประเคนให้คนอื่นมาร่วมกินโต๊ะด้วย ใช่หรือไม่? และพร้อมกันนั้นก็จะได้พ้นจากการตรวจสอบของสตง.ปปช.ไม่ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ ฮั้วประมูลด้วย เรียกว่ากะยิงนก2ตัวด้วยกระสุนนัดเดียว ใช่หรือไม่ ?

3 ) คำว่าPTTOR กับคำว่าขายสมบัติชาติ จึงไม่ใช่วาทกรรมที่ไม่มีเหตุผล เพราะทรัพย์สินและกิจการของปตท.มีคนไทย65ล้านคนเป็นเจ้าของร่วมด้วย51% โดยมีกระทรวงการคลังเป็นตัวแทนดูแลทรัพย์สินนั้น การมาตัดธุรกิจที่เป็นเนื้อดีๆส่วนใหญ่ออกไปให้คนอื่นกิน และทำให้ความเป็นเจ้าของของคนไทย65ล้านคนลดลงไปจาก51% เหลือแค่20% กว่า ถ้าไม่เรียกว่าขายสมบัติชาติก็ต้องเรียกว่าแกล้งโง่จึงยอมเฉือนเนื้อดีให้คนอื่นกิน ใช่ไหมคะ?

 

การทักท้วงของสตง.จึงเป็นเรื่องที่ชอบแล้ว ไม่ใช่สตง.ไปก้าวก่ายล้วงลึกตรวจสอบถึงขั้นนโยบายแนวคิดทางธุรกิจของปตท. แต่เพราะ นโยบายของลูกจ้างต่างหากที่กำลังล้วงลึกเข้ามาตัดแบ่งทรัพย์สินที่คนไทยเป็นเจ้าของไปให้คนอื่นกินโดยไม่ถามเจ้าของทรัพย์ว่ายินยอมไหมต่างหากเล่า

หากรมว.กระทรวงการคลังที่ทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ตัวจริง ยังเพิกเฉยไม่รู้ร้อนรู้หนาว ปล่อยให้บรรดาลูกจ้างเอกชนมาเฉือนเนื้อออกไปให้เอกชนคนอื่นกิน

 

ดิฉันก็ขอประกาศในที่นี้ว่า จะร้องเรียนไปทางสตง.ขอให้สตง.แจ้งป.ป.ช.ให้ดำเนินคดีกับรมว.กระทรวงการคลังที่เพิกเฉยรวมทั้งประธานและกรรมการปตท.ที่มีมติให้ความเห็นชอบในการแยกบริษัทลูกPTTOR และลดสัดส่วนการถือหุ้นลงน้อยกว่า50% ซึ่งกระทบผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนโดยมิชอบ

รสนา โตสิตระกูล
16 มกราคม 2560