“กรมศุลฯต้องริบนาฬิกายืมเพื่อนให้ตกเป็นของแผ่นดิน”

“กรมศุลฯต้องริบนาฬิกายืมเพื่อนให้ตกเป็นของแผ่นดิน”

 

 

 

 

 

 

  

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“กรมศุลฯต้องริบนาฬิกายืมเพื่อนให้ตกเป็นของแผ่นดิน”

 

วันนี้ (15 มีนาคม 2564)ดิฉันได้ส่งหนังสือลงทะเบียนตอบรับ ถาม4คำถามถึงอธิบดีกรมศุลกากรความว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าว เมื่อวันที่13 มีนาคม 2564 จากสำนักข่าวอิศรารายงานว่าได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกรมศุลกากรเกี่ยวกับกรณี ‘นาฬิกายืมเพื่อน’ ว่า “ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหนังสือมายังกรมศุลกากร หลังจากนั้นกรมศุลกากรดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ และได้เรียกเก็บภาษีนำเข้านาฬิกาหรูดังกล่าวแล้ว โดยเมื่อเดือน ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีบุคคลเข้ามายื่นเสียภาษีนำเข้านาฬิกาหรูดังกล่าวทั้งหมด ส่วนผู้ที่เข้ามายื่นเป็นใคร และเสียภาษีเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ไม่ทราบรายละเอียด อย่างไรก็ดีรายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งสำนักข่าวอิศราว่า บุคคลที่เข้ามาจ่ายภาษีนำเข้านาฬิกาหรูดังกล่าว คือทายาทของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ (เสียชีวิตแล้ว) นักธุรกิจที่เป็นเพื่อนสนิทของ พล.อ.ประวิตร โดยชำระภาษีนำเข้าเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท”

 

โดยที่ดิฉันได้เคยส่งหนังสือร้องเรียนเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2563 ถึงอธิบดีกรมศุลกากร ให้ริบนาฬิกาของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากเป็นนาฬิกาที่นำเข้ามาในประเทศโดยมิได้เสียภาษีให้ถูกต้อง และดิฉันได้ส่งหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามสายงานของอธิบดีกรมศุลกากรให้กำกับให้อธิบดีกรมศุลกากรดำเนินการริบนาฬิกาทั้ง21เรือนที่ลักลอบนำเข้ามาโดยมิได้เสียภาษีให้ตกเป็นของแผ่นดินต่อไปนั้น
เมื่อปรากฎเป็นข่าวว่าทายาทของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์นำเงินมาชำระภาษีเป็นจำนวนเงิน 20ล้านบาทนั้น ซึ่งยังเป็นเพียงข่าวที่ไม่อาจยืนยันข้อเท็จจริงได้

 

โดยที่นาฬิกาทั้ง21 เรือนไม่มีหลักฐานการเสียภาษีนำเข้าที่ถูกต้อง ย่อมแสดงว่าเป็นการลักลอบนำเข้านาฬิกาดังกล่าว และเป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว อธิบดีกรมศุลกากรมีหน้าที่ต้องดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 ที่บัญญัติไว้ดังนี้

 

“มาตรา ๒๔๒ ผู้ใดนําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการ ศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือ รับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน สิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ริบของนั้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่”

 

การนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้เสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนมีความผิดทั้งทางปกครองและความผิดทางอาญา ความผิดทางปกครองคือกรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ประเมินเรียกเก็บภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามมาตรา 13 และมาตรา 19 ถึง 22 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ความผิดทางปกครองนี้ไม่ระงับแม้ผู้นำเข้าตาย ส่วนความผิดทางอาญาตามมาตรา 242 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 นั้นระงับหากผู้นำเข้าตาย แต่ก็ระงับเฉพาะโทษจำคุกและการปรับเท่านั้น ส่วนการริบของที่นำเข้านั้น กรมศุลกากรมีหน้าที่ต้องริบ เพราะมาตรา 242 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ริบ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

 

ฉะนั้น จึงขอสอบถามอธิบดีกรมศุลกากรดังนี้
1)มีการเสียภาษีตามที่เป็นข่าวหรือไม่
2)ถ้ามีการเสียภาษีจริง จำนวนภาษีที่เสียนั้นถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและได้เสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ขอให้ชี้แจงรายละเอียดด้วย
3)มีการริบนาฬิกาทั้งหมดตามมาตรา 242 แห่งพระราชศุลกากร พ.ศ.2560 หรือไม่
4) อนึ่ง แม้คณะกรรมการป.ป.ช.จะวินิจฉัยว่าพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณยืมนาฬิกานายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ก็ไม่มีผลผูกพันกรมศุลกากรให้ต้องถือตามคำวินิจฉัยนั้น เพราะคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มิใช่คำพิพากษาของศาล เนื่องจากคณะกรรมการป.ป.ช.มิใช่ศาล และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ก็มิได้บัญญัติให้กรมศุลกากรต้องผูกพันถือตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป.ป.ช. 

 

ดังนั้น กรมศุลกากรจึงมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนว่าพลเอกประวิตรเป็นผู้นำนาฬิกาทั้งหมดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วนอันเป็นความผิดตามมาตรา 242 หรือไม่ ซึ่งการดำเนินคดีอาญากับพลเอกประวิตรไม่ระงับเนื่องจากพลเอกประวิตรยังมีชีวิตอยู่ จึงใคร่ขอให้อธิบดีกรมศุลกากรได้ออกมาชี้แจงต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ

รสนา โตสิตระกูล
15 มีนาคม 2564