“ธีระชัย - รสนา - พิศิษฐ์ ร่วมกันแนะนำเกี่ยวกับ ปตท. จะขายหุ้น OR”

“ธีระชัย - รสนา - พิศิษฐ์ ร่วมกันแนะนำเกี่ยวกับ ปตท. จะขายหุ้น OR”

 

                                                                                                                                                      

 

 

 

“ธีระชัย - รสนา - พิศิษฐ์ ร่วมกันแนะนำเกี่ยวกับ ปตท. จะขายหุ้น OR”

 

 

 

เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๔ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แนะนำเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นบริษัทค้าน้ำมันและค้าปลีก ว่ามีหลายประเด็นที่ควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบเสียก่อน

 

ข้อ ๑. มีข้อพิพาทที่ยังไม่ยุติเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ผู้ฟ้องคดีมีความเห็นว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนกระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วนถูกต้องตามคำพิพากษา ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เสนอต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และ คตง. ได้มีมติให้ คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา แต่คณะรัฐมนตรีมิได้ดำเนินการตามมติ คตง. โดยกลับมอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดยังมิได้มีคำวินิจฉัยจนทุกวันนี้ จึงมีข้อพิพาทที่ยังไม่มีข้อยุติ ๒ ประการ คือ หนึ่ง เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดยังมิได้มีคำวินิจฉัย จึงไม่ชัดเจนว่า ทรัพย์สินที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โอนไปให้แก่บริษัทใหม่ (ถ้ามี) รวมทั้งทรัพยสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าว (ถ้ามี) จะอยู่ในข่ายเป็นทรัพย์สินที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังจะต้องโอนให้แก่กระทรวงการคลังหรือไม่สอง ตามกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติตามมติ คตง. ภายในหกสิบวัน ซึ่งการไม่ปฏิบัติอาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และได้มีการร้องเรียนให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องยังไม่ยุติ

 

ข้อ ๒. ถ้าหาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิต่างๆ ไปให้บริษัทใหม่ โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน หรือเสียค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด ก็มีความเสี่ยงอาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสิทธิต่างๆ นั้นรวมไปถึง ชื่อ ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และจะร้องทุกข์เรื่องนี้ไปยัง สตง. เพื่อตรวจสอบ รวมทั้งจะร้องทุกข์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า กรณีถ้าหากมีการกระทำดังกล่าว จะมีผลทำให้กระทรวงการคลังเสียหายหรือไม่ เรื่องนี้จึงยังไม่ยุติ

 

ข้อ ๓. กรณีถ้าหากมีการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิต่างๆ โดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีแต่ต่ำกว่าราคาตลาด นั้น กรมสรรพากรมีอำนาจหน้าที่ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งต่อ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และต่อบริษัทใหม่ และจะร้องทุกข์เรื่องนี้ไปยังอธิบดีกรมสรรพากรให้ทำการตรวจสอบ เรื่องนี้จึงยังไม่ยุติ
 
 
ข้อ ๔. เนื่องจากรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายมหาชน ซึ่งตามหลักกฎหมายมหาชนนั้น ถ้าหากไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ไม่อาจทำได้ ต่างกับกฎหมายเอกชน ที่ถึงแม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำ ก็ทำได้ เว้นแต่การกระทำนั้นจะขัดต่อกฎหมาย จึงจะทำไม่ได้ ดังนั้น จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า กรณีถ้าหาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัทใหม่ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งมีผลทำให้บริษัทใหม่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ นั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจะมีการร้องทุกข์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ตรวจสอบว่า กรณีถ้าหากมีการกระทำดังกล่าว จะมีกฎหมายใดอนุญาตหรือไม่ เรื่องนี้จึงยังไม่ยุติ
 
 
 
 

 

ทั้งสามคนแนะนำว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชน ควรจะพิจารณาให้รอบคอบว่า อาจมีความเสี่ยงและความเสียหายเกิดขึ้นแก่ประชาชนผู้จองซื้อหุ้น หรือไม่ และแก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือไม่ รวมทั้งกรรมการและผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทใหม่ อาจจะมีความเสี่ยงฝ่าฝืนทั้งกฎหมายหลักทรัพย์ และกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานองค์การของรัฐ หรือไม่ ในกรณีเหตุการณ์ต่อไปนี้
(๑) ถ้าหากผลสรุปที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับข้อพิพาททั้งสองประการข้างต้น ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของบริษัทใหม่
(๒) ถ้าหาก สตง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีข้อสรุปว่า มีการโอนทรัพย์สินซึ่งทำให้กระทรวงการคลังเสียหาย
(๓) ถ้าหากกรมสรรพากร มีข้อสรุปว่า เกิดมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือต่อบริษัทใหม่
(๔) ถ้าหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีข้อสรุปว่า การจัดตั้งบริษัทใหม่โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม นั้น กระทำไม่ได้ ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้การจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะทำให้บริษัทใหม่และผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย

 

เนื่องจากเป็นเรื่องที่สำคัญต่อประชาชน จึงจะได้ส่งสำเนาเรียนประกอบการร้องทุกข์ไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสรรพากร ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

 

หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ