ยื่นหนังสือตลอดสายบังคับบัญชาของอธิบดีกรมศุกากรจี้ให้ยึดหรือริบนาฬิกาตกเป็นของแผ่นดิน

ยื่นหนังสือตลอดสายบังคับบัญชาของอธิบดีกรมศุกากรจี้ให้ยึดหรือริบนาฬิกาตกเป็นของแผ่นดิน

 

 

 

 

 

 

  

 
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
 
 
 
ยื่นหนังสือตลอดสายบังคับบัญชาของอธิบดีกรมศุกากรจี้ให้ยึดหรือริบนาฬิกาตกเป็นของแผ่นดิน
 
 
 
 
เมื่อวันที่21 มิถุนายน 2563 ดิฉันได้ทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาตลอดสายของอธิบดีกรมศุลกากรไล่เลียงขึ้นไปตั้งแต่ปลัดกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น ขอให้กำกับดูแลให้อธิบดีกรมศุลกากรปฏิบัติตามกฎหมายในการยึดหรือริบนาฬิกาที่ไม่ได้เสียภาษีให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยอ้างถึงหนังสือลงวันที่15 มิถุนายน 2563 ที่ดิฉันส่งถึงอธิบดีกรมศุลกากรให้ปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากรมาตรา 242
 
 
การทำหนังสือร้องเรียนขึ้นไปตามสายการบังคับบัญชาของอธิบดีกรมศุลกากร สืบเนื่องจากข่าวในสื่อมวลชนระบุว่าหลังจากป.ป.ช เชื่อว่านาฬิกาที่พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณสวมใส่เป็นนาฬิกาที่ยืมจาก นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ที่เสียชีวิตไปแล้ว และพล.อ ประวิตรได้คืนนาฬิกาให้ทายาทนายปัฐวาทไปหมดแล้ว ป.ป.ช.มีมติว่าการยืมใช้คงรูป ไม่ต้องแจ้งในรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีจึงเป็นอันสิ้นสุดในชั้นของ ป.ป.ช หลังจากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อมูลนาฬิกา 22 เรือนดังกล่าวแก่กรมศุลกากรอีกครั้งเพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ข่าวจากสื่อมวลชนรายงานว่า “ล่าสุดกรมศุลกากรตอบกลับ ป.ป.ช. ปฏิเสธที่จะดำเนินการให้ โดยอ้างว่ากรณีดังกล่าวต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน”
 
 
ดิฉันจึงต้องทำหนังสือเรียกร้องถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นขึ้นไปโดยอาศัย พ.ร.บ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ 2539 แก้ไขเพิ่มเติมแล้วมาตรา 39/1 วรรคสอง ที่บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นขึ้นไปกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองภายในกำหนดเวลา 30 วัน ซึ่งอำนาจการยึดหรือการริบของที่ไม่ได้เสียภาษีถือเป็นการออกคำสั่งทางปกครองอย่างหนึ่ง
 
 
เมื่ออธิบดีกรมศุลกากร ได้รับการร้องขอจากป.ป.ช ให้ดำเนินการต่อไปกับนาฬิกาที่ไม่ได้ผ่านพิธีทางศุลกากร ประกอบหนังสือร้องขอของดิฉัน ลงวันที่15 มิถุนายน 2563 กรมศุลกากรก็มีหน้าที่อาศัยมาตรา 157(4)แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีหนังสือเรียกผู้ครอบครองนาฬิกามาสอบสวนว่านาฬิกาที่พล.อ ประวิตรสวมใส่ และได้คืนให้ทายาทของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์เป็นนาฬิกาที่เสียอากรขาเข้าหรือยัง ถ้าผู้ครอบครองไม่อาจพิสูจน์ได้ว่านาฬิกาดังกล่าวได้เสียอากรขาเข้าแล้ว ก็ถือว่านาฬิกาที่นำเข้าเป็นของที่ยังมิได้เสียอากรขาเข้า กรมศุลกากรมีอำนาจยึดหรือริบนาฬิกานั้นตามมาตรา 166 และ 167 ของพ.ร.บ ศุลกากร 2560 ที่บัญญัติว่า
 
 
มาตรา 166 ของท่ียังมิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกํากัด หรือของท่ียังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เป็นของที่พึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้
 
 
มาตรา 167 ให้พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจ มีอํานาจยึดหรือ อายัดสิ่งใด ๆ อันจะพึงต้องริบหรือเป็นที่สงสัยว่าจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ได้
 
 
เมื่อยึดแล้วนาฬิกานั้นย่อมตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 170 วรรคสอง  กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นนี้ กรมศุลกากรจะอ้างว่าไม่มีพยานหลักฐานจึงไม่ดำเนินการไม่ได้ การไม่ดำเนินการทั้งที่กฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไว้โดยชัดแจ้งดังกล่าว อาจเป็นความผิดอาญาและวินัยข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงรับกันอยู่แล้วว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นนาฬิกานำเข้าจากต่างประเทศ
 
 
การที่กรมศุลกากรได้ชี้แจงต่อป.ป.ช ว่าไม่พบข้อมูลใดๆเกี่ยวกับนาฬิกาดังกล่าว จึงแสดงว่านาฬิกาที่พล.อ ประวิตรยืมนายปัฐวาทมาสวมใส่เป็นนาฬิกาที่มีการลักลอบนำเข้ามาโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร จึงเป็นนาฬิกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ศุลกากรต้องริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ ศุลกากร พ.ศ 2560 มาตรา 242 ว่า “ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
 
 
ตามมาตรา 39/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ 2539 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นขึ้นไปกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองภายในกำหนดเวลา 30 วัน ซึ่งการยึดหรือการริบของที่ไม่ได้เสียภาษีถือเป็นการออกคำสั่งทางปกครองอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลังให้สั่งการให้อธิบดีปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดภายใน30วัน หลังจากได้รับการร้องขอ และส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวถึงอธิบดีกรมศุลกากรด้วยแล้ว
 
 
หลังจากนั้นดิฉันทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้บังคับบัญชาของปลัดให้กำกับดูแลให้ปลัดสั่งการให้อธิบดีปฏิบัติ และในลำดับสูงสุด ดิฉันทำหนังสือกราบเรียนฯพณฯนายกรัฐมนตรีให้กำกับดูแลรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในการกำกับดูแลปลัดให้สั่งการให้อธิบดีกรมศุลกากรปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดภายใน30วันนับตั้งแต่ได้รับการร้องขอ มิฉะนั้นทุกท่านอาจมีความผิดทั้งคดีอาญา วินัยข้าราชการ และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง
 
 
ดิฉันในฐานะประชาชนได้ทำหน้าที่ในการเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการตามหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ “มาตรา50 (10) ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ” โดยทำเรื่องร้องเรียนขึ้นไปตามลำดับขั้นของการบริหารราชการแผ่นดิน
 
 
ดิฉันคาดหวังว่าการทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ(ที่ได้ฉายาว่าเป็นฉบับปราบโกง)ในการจัดการกับความไม่ถูกต้อง ของการหลบเลี่ยงการเสียภาษีในกรณีนี้ จะเป็นการทดสอบว่ากลไกในระบบการบังคับบัญชาให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศไทย ยังมีความศักดิ์สิทธิ์ อยู่หรือไม่
รสนา โตสิตระกูล
22 มิถุนายน 2563