มติ“ยืมใช้คงรูป”ไม่ต้องรายงานในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

มติ“ยืมใช้คงรูป”ไม่ต้องรายงานในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

 

 

 

 

 

 

  

 
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
 
 
 
มติ“ยืมใช้คงรูป”ไม่ต้องรายงานในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน คือการเปิดช่องลอดครั้งใหญ่ให้การทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง ใช่หรือไม่?
 
 
 
ข่าวระบุว่าเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ที่รัฐสภา นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีการชี้แจงการยืมนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นการยืมใช้คงรูป จึงไม่ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า การให้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความโปร่งใสป้องกันการทุจริต และจะเป็นเครื่องมือหรือมาตรการเสริมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพราะคนที่จะกระทำการทุจริตนั้นต้องการทรัพย์สินเงินทองเป็นหลักนั้น
 
ดิฉันได้สอบถามขอความรู้เกี่ยวกับหลักการของกฎหมายกรณีนี้จากอาจารย์กฎหมายผู้ใหญ่ระดับศาสตราจารย์พิเศษท่านหนึ่ง ท่านให้ความรู้ดิฉันว่า“การยืมนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ยืมใช้สิ้นเปลือง เช่น ยืมเงิน กู้ยืมเงิน และ2.ยืมใช้คงรูป เช่น ยืมรถ ยืมนาฬิกา การยืมทั้งสองประเภทนี้ ผู้ยืมมีฐานะเป็นลูกหนี้ของผู้ให้ยืม มีหน้าที่ต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ให้ยืมซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ถ้าเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง เช่น ยืมเงิน หรือกู้ยืมเงิน ก็ไม่จำต้องคืนด้วยธนบัตรเดิมที่ยืม สามารถใช้ธนบัตรใหม่ก็ได้
 
 
แต่ถ้าเป็นการยืมใช้คงรูป ต้องใช้คืนด้วยของเดิมที่ยืม เช่น ยืมนาฬิกา ต้องคืนด้วยนาฬิกาเรือนเดิมที่ยืม กฎหมายป.ป.ช.ทั้งฉบับไม่มีเขียนตรงไหนว่ายืมใช้คงรูปไม่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ยืมใช้สิ้นเปลือง เช่น ยืมเงินหรือกู้ยืมเงินเท่านั้นที่ต้องแสดง เมื่อกฎหมายไม่ได้เขียนไว้เช่นนี้ การยืม ไม่ว่าจะเป็นยืมใช้สิ้นเปลืองหรือยืมใช้คงรูปจึงต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
 
 
การที่ป.ป.ช.มีมติว่ายืมใช้คงรูปไม่ต้องแสดงในบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินนอกจากจะไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยังเป็นช่องทางให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ได้ทรัพย์สินมาโดยทุจริตหรือคอร์รัปชันอ้างว่าทรัพย์สินที่ตนมีอยู่เป็นทรัพย์สินที่ยืมมาเพื่อให้ตนพ้นผิด
 
 
คำวินิจฉัยของป.ป.ช.เท่ากับส่งเสริมให้มีการทุจริตคอร์รัปชันมากกว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน การทำลายหลักการที่ถูกต้องเพื่อช่วยคนเพียงคนเดียวให้พ้นผิดนั้นมีข้อพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”
 
 
 
 
หลักการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง ป.ป.ช ใช้การเปรียบเทียบรายการทรัพย์สินและหนี้สินตอนขาเข้ารับตำแหน่ง และเมื่อพ้นตำแหน่งครบ30วัน และพ้นตำแหน่งครบ 1ปี การตรวจสอบวิธีดังกล่าวไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่เป็นปัญหาคือการที่นักการเมืองที่มีตำแหน่งมีทรัพย์สินโป่งขึ้นระหว่างดำรงตำแหน่งจะไม่มีการตรวจสอบ การตรวจสอบจะทำได้แค่เปรียบเทียบว่าทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อขาเข้า และขาออกจากตำแหน่งเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่เท่านั้น การพบการทุจริตรับสินบนของนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงมักมาจากผู้รู้เบาะแสที่อยู่วงในชี้ช่องทรัพย์สินที่มีอยู่จริงของบุคคลนั้น ที่แตกต่างจากรายงานทรัพย์สินหนี้สินที่อยู่ในรายงาน จึงจะมีการตรวจสอบ
 
 
ยิ่งกว่านั้น เมื่อป.ป.ช ได้มีระเบียบใหม่ว่ารัฐมนตรีที่เคยอยู่ในรัฐบาลคสช.พ้นตำแหน่งแล้วไม่ต้องรายงานทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะเหตุได้มาเป็นรัฐมนตรีต่อในรัฐบาลปัจจุบัน รัฐบาลคสช.อยู่มา5ปี หากรัฐบาลปัจจุบันอยู่ครบวาระ4ปี เท่ากับรัฐมนตรีหลายคนที่อยู่ในรัฐบาลทั้งสอง รวมเวลาถึง 9 ปี ที่ไม่ต้องรายงานบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ซึ่งเป็นระยะเวลาต่อเนื่องที่ยาวนานเกินไป เป็นการให้เวลานักการเมืองที่ดำรงตำแหน่ง ไม่ต้องรีบร้อนจัดการทรัพย์สินในระหว่างดำรงตำแหน่ง และประชาชนไม่มีข้อมูลรายงานทรัพย์สิน และหนี้สินมาตรวจสอบ ใช่หรือไม่
 
 
ปัจจุบันนักการเมืองที่ไม่สุจริตย่อมมีวิธีซ่อนเงินสดส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชันในหลากหลายวิธี เพราะหากมีการโอนเงินผ่านธนาคารให้แก่กันย่อมถูกตรวจสอบเส้นทางเงินได้ง่าย ดังนั้นเงินสด หากไม่นำไปฝากในธนาคารต่างประเทศ ในเกาะฟอกเงินต่างๆในชื่อญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หรือคนรับใช้ เพื่อหลบเลี่ยงการถูกตรวจพบ ก็จะแปรเงินสดเป็นของมีค่าที่ไม่มีทะเบียน เช่น ซื้อทองคำ เพชร พลอย นาฬิกาหรู วัตถุโบราณ พระเครื่อง เป็นต้น เก็บซ่อนไว้ ซึ่งหนีการตรวจสอบได้ง่ายกว่า เวลาถูกตรวจค้น ก็อ้างว่ายืมผู้อื่นมา
 
 
ยิ่งมีมติป.ป.ช.ที่ว่ายืมใช้คงรูปไม่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้นเท่ากับป.ป.ช หาช่องทางออกให้รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. นักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้เงินมาจากการทุจริตคอร์รัปชัน จะถูกตรวจสอบพบได้ยากขึ้น ใช่หรือไม่
 
 
การทุจริตคอร์รัปชันก็จะเพิ่มขึ้น แทนที่จะลดลง จึงต้องถามว่ามติดังกล่าวของป.ป.ช เป็นการเอื้อ และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น มากกว่าเป็นมติที่ช่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ใช่หรือไม่
 
 
มติป.ป.ช.เป็นการดำเนินการทางปกครอง ย่อมทบทวนและเพิกถอนหรือแก้ไขได้หากไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่เป็นธรรม และมีผลเสียยิ่งกว่าผลดี จึงขอเรียกร้องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช ได้โปรดทบทวนมติดังกล่าวเสียใหม่
 
 
รสนา โตสิตระกูล
11 มิ.ย 2563