หมออมร นนทสุต ผู้วางรากฐานประชาธิปไตยสาธารณสุขเพื่อปวงชน

หมออมร นนทสุต ผู้วางรากฐานประชาธิปไตยสาธารณสุขเพื่อปวงชน

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
 
 
 
"หมออมร นนทสุต" ผู้วางรากฐานประชาธิปไตยสาธารณสุขเพื่อปวงชน
 
 
 
 
ดิฉันรู้สึกใจหายเมื่อทราบข่าวว่าอาจารย์หมออมรสิ้นลมแล้วเมื่อวันอังคารที่2มิ.ย ที่ผ่านมา หวนนึกถึงการต้อนรับอันอบอุ่นของท่านและภรรยาคือคุณหมออนงค์ ที่บ้านพักในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ10 ปีก่อน การไปเยี่ยมเยือนครั้งนั้นดิฉันมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยบันทึกเทปสัมภาษณ์และถ่ายภาพเรื่องราวชีวิต ความคิดและผลงานของท่าน โดยที่ก่อนหน้านั้นดิฉันทำงานในโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (มูลนิธิสุขภาพไทยในปัจจุบัน) เคยนำคำกล่าวของท่านมาใช้อ้างอิงเสมอว่า นายแพทย์อมร นนทสุตปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าโรค70-80% นั้นประชาชนสามารถดูแลรักษากันเองด้วยยาพื้นบ้านได้ ซึ่งต่อมาทำให้ดิฉันได้มาเกี่ยวข้องกับเรื่องการสาธาณสุขมูลฐาน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)และความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)ซึ่งเป็นงานสำคัญของท่านในช่วงที่เป็นอธิบดีกรมอนามัย และปลัดกระทรวงสาธารณสุข
 
 
การได้มีโอกาสมาคุยกับท่านอย่างไม่เป็นทางการครั้งนั้น ทำให้ได้ทราบบางมุมของชีวิตที่อยู่เบื้องหลังความคิดการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสาธารณสุข ท่านเป็นลูกกำพร้าพ่อแต่เล็ก คุณพ่อท่านคือพระแสงสิทธิการ เป็นนายทหารเรือชั้นนาวาเอกถูกจับในข้อหากบฏบวรเดชและจบชีวิตลงที่เกาะตารุเตา เป็นเหตุให้ท่านรังเกียจการเมืองเอามากๆ
 
 
ท่านเล่าว่าการเป็นลูกกำพร้า ก็มีสิ่งที่ชดเชยคือได้อยู่ในความดูแลของคุณป้าซึ่งรักท่านมาก เวลาเจ็บไข้ก็เอาท่านหนุนตัก ลูบไล้ศีรษะปลอบโยน ป้อนยาป้อนข้าว ดิฉันยังจำคำพูดของท่านได้ดี ท่านบอกว่า “คุณป้าท่านดีกับผมมาก ความรู้สึกอย่างนี้ มันกินใจผม จำได้ไม่ลืม นี่คือจุดตั้งต้นของความคิดสาธารณสุขมูลฐาน การเอาเด็กมานอนหนุนตักป้อนยาแบบนั้น หมอพยาบาลเขาไม่ทำกันหรอก มันเป็นการเอาใจใส่ดูแลกันในครอบครัว เป็นคุณค่าทางจิตใจที่หาไม่ได้ในโรงพยาบาล “
 
 
เนื่องจากอาจารย์หมออมร เติบโตมาทางสายหมออนามัยซึ่งให้ความสำคัญด้านป้องกันโรคมากกว่าการรักษา ท่านพูดเสมอว่า ถ้ามุ่งแต่ด้านการรักษา ใช้งบประมาณผลิตแพทย์ พยาบาล สร้างโรงพยาบาล ซื้อเครื่องมือแพทย์ ซื้อยาเท่าไรก็ไม่พอหรอก เราต้องเอาประชาชนมาช่วยในงานสาธารณสุขป้องกันด้วยโดยทำในรูปของอาสาสมัคร ซึ่งใช้งบประมาณน้อย แต่ได้ผลด้านป้องกันโรคอย่างมหาศาล และนี่คือที่มาของ”อาสาสมัครสาธาณสุขประจำหมู่บ้าน” หรือ อสม.ซึ่งเป็น กองทัพสาธารณสุขของประชาชนที่ช่วยให้งานสาธารณสุขมูลฐานบรรลุผลสำเร็จ อาจารย์หมอไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และเคยเป็นมือขวาของอาจารย์หมออมรเคยพูดติดตลกกับดิฉันว่า “รู้ไหมว่า อสม.แปลว่าอะไร ? แปลว่า ‘อมรสั่งมา’และผมเป็นคนทำไงล่ะ”
 
 
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวบ้านที่เป็น อสม.อาจารย์หมออมรย้ำว่าห้ามใช้วิธีสั่งการกับประชาชนโดยเด็ดขาด ท่านจะบอกกับคนของท่านอยู่เสมอว่า “ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ประชาชนเป็นอาสาสมัคร เขาไม่ใช่เป็นลูกจ้างของรัฐ ไม่ได้เป็นพนักงาน หรือเป็นเจ้าหน้าที่ราชการเพราะฉะนั้น ถ้าจะให้อสม.ทำอะไรต้องให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นว่า นี่เป็นปัญหาของชุมชนไหม เป็นปัญหาของเขาจริงๆไหม และปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ในชุมชนของพวกเขาโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเข้าไปเพียงให้ความรู้และเครื่องมือบางอย่างแก่อสม.เท่านั้นเอง เราไม่มีเงินมากมายไปจ้างเขาแบบลูกจ้างประจำ แต่ให้เขาทำงานแบบอาสมัครที่เต็มใจแก้ปัญหาภายในชุมชนของเขาเอง”
 
 
ท่านยกกรณีตัวอย่างซึ่งดิฉันชอบใจมากคือตอนที่ท่านรณรงค์แก้ปัญหาเด็กเป็นโรคเอ๋อเพราะขาดเกลือไอโอดีนว่า “ทางภาคเหนือมีปัญหาเด็กขาดสารไอโอดีน เราไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่มากมายไปดูแลการใช้นำ้ปลาไอโอดีนใส่อาหารให้เด็กกินตามหลักโภชนาการหรอก และเรื่องเด็กขาดอาหาร เราก็ต้องอาศัยอบรมให้แม่ รู้จักชั่งน้ำหนักลูก และรู้เรื่องน้ำหนักเด็กว่าถ้าเด็กน้ำหนักน้อยจะเป็นโรคขาดอาหาร แม่เด็กนี่แหละช่วยดูแลอาหารให้ลูก พวกพ่อใช้ไม่ได้ ต้องอาศัยแม่ช่วยจัดสรรอาหารให้ลูก ไม่งั้นถูกพ่อแย่งกินหมด”
 
 
 
สำหรับดิฉัน อาจารย์หมออมร นนทสุตเป็นสุภาพบุรุษแพทย์ผู้ปิดทองหลังพระคนรุ่นหลังหรือแม้คนในวงการสาธารณสุขเองก็อาจไม่รู้แล้วว่าใครเป็นผู้ให้กำเนิดอสม.และโครงการบัตรสุขภาพหรือบัตรคนจนอันเป็นที่มาของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค นักบริหารที่เคยใกล้ชิดอาจารย์หมออมรย่อมรู้ดีว่า ท่านให้ความสำคัญกับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งแนวคิดและกระบวนการพัฒนาสาธารณสุขชุมชน มากกว่าผลงานหรืออีเวนท์ที่สร้างชื่อเสียงแล้วจบสิ้นไปในห้วงเวลาหนึ่ง ท่านกล่าวอยู่เสมอว่า เมื่อจับหลักปรัชญาและแนวคิดของท่านที่อยู่เบื้องหลังงานสาธารณสุขมูลฐาน อสม.หรือโครงการต่างๆได้แล้ว ก็ลืมผลงานของท่านหรือแม้แต่ชื่อของท่านไปได้เลย
 
 
เกี่ยวกับอสม.อาจารย์หมออมรเคยบอกกับดิฉันว่าท่านต้องการให้อสม.เป็นเครื่องมือเพื่องานสาธารณสุขของภาคประชาชน แต่ไม่ต้องการให้อสม.เป็นเครื่องมือหาเสียงของนักการเมือง
 
 
อย่างไรก็ตาม ในยามวิกฤตโควิด-19 วันนี้ อสม.กองทัพสาธารณสุขของประชาชนนับล้านคนอันเป็นผลพวงจากแนวคิดการมีส่วนร่วมของท่าน ยังเป็นกองกำลังแนวหน้าในการต้านโรคระบาดโดยประขาชนเพื่อประชาชน
 
รสนา โตสิตระกูล
4 มิ.ย 2563