การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดใบทองพันชั่ง

การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดใบทองพันชั่ง

 

 

 

CHANGE Life needs help เรื่อง : รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์

 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดใบทองพันชั่ง

 


หนึ่งยาไทยไม่เป็นสองทองพันชั่ง ดอกสะพรั่งสีขาวราวปักษา
ใบมีสารสำคัญต้านเชื้อรา มีนามว่า “ไรนาแคนธินซี”
เป็นสารกลุ่ม “แนพโธควิโนน” นะ หากพบปะกับด่างจะให้สี
ชมพู-แดง ตามความเข้มที่มี กลากเกลื้อนหนีมลายไปเมื่อได้ทา


ทองพันชั่ง (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhinacanthus nasutus) เป็นพืชสมุนไพรที่มีการนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังในงานสาธารณสุขมูลฐานของไทยมาช้านาน โดยใช้ใบสดในการรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า และ โรคเชื้อราในร่มผ้า มีรายงานว่าสารสำคัญในใบทองพันชั่งที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อราเป็นสารในกลุ่มแนพโธควิโนน (naphthoquinone) โดยสารแนพโธควิโนนที่เป็นองค์ประกอบหลักและมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราได้ดีที่สุดในใบทองพันชั่ง คือ ไรนาแคนธิน-ซี (rhinacanthin-C) [1]


นอกจากนี้ ไรนาแคนธิน-ซี ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบ [2] ยับยั้งการแพ้ [3] และยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของสิวและแผลฝีหนอง [4] อีกด้วย ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การรับรองยาสมุนไพรที่เตรียมจากสารสกัดใบทองพันชั่งในรูปแบบ “ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง” ให้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีสรรพคุณใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา กลากเกลื้อน และ น้ำกัดเท้า [5]


อย่างไรก็ตาม ในบัญชียาหลักแห่งชาติยังไม่มีการกำหนดชนิดและปริมาณสารสำคัญในการออกฤทธิ์รักษาที่แน่นอนของยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง โดยระบุไว้แต่เพียงว่า “ตัวยาสำคัญในยาทิงเจอร์ทองพันชั่งคือสารสกัดจากใบทองพันชั่งสดด้วยสารละลาย 70% v/v เอทิลแอลกอฮอล์ ในปริมาณ 10% w/v” เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดถึงปริมาณตัวยาสำคัญที่ออกฤทธิ์ในการรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ได้แก่ ไรนาแคนธิน-ซี สารสำคัญดังกล่าวอาจมีปริมาณแปรปรวนได้ในแต่ละครั้งที่ผลิตยา เนื่องจากมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อปริมาณสารสำคัญในใบทองพันชั่ง ได้แก่ สถานที่เพาะปลูก อายุ ฤดูการเก็บเกี่ยว และกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อปริมาณตัวยาสำคัญและคุณภาพของยาทิงเจอร์ทองพันชั่งที่ผลิตขึ้นในแต่ละครั้ง (batch)


ดังนั้น การที่ยังไม่มีการกำหนดชนิดและปริมาณตัวยาสำคัญในตำรับยาจากสารสกัดใบทองพันชั่ง จึงยังเป็นจุดอ่อนในการผลิตยาที่ต้องได้รับการพัฒนา เพื่อให้ได้ยาที่มีตัวยาสำคัญเพียงพอต่อการรักษาและเท่ากันทุกครั้งที่ผลิตยา นอกจากนี้ยาในรูปแบบทิงเจอร์ยังก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณที่ทา โดยเฉพาะในบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนหรือบริเวณที่มีแผลเปิด และทำให้ผิวแห้งจึงทำให้อาการคันเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ที่ใช้ยาไม่ยอมรับในการใช้ยานี้ในครั้งต่อไป จึงต้องมีการพัฒนาตำรับยาเพื่อลดปริมาณแอลกอฮอล์และเพิ่มสารที่ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นในตำรับ เพื่อลดการระคายเคืองผิวหนัง


งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการพัฒนากรรมวิธีการเตรียมสารสกัดใบทองพันชั่ง โดยใช้ตัวทำละลายและวิธีการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Extraction) โดยผู้วิจัยได้นำตัวทำละลายที่เป็นองค์ประกอบของตำรับยาโลชั่นและมักใช้เป็นสารเพิ่มความชุ่มชื้นที่ผิว มาใช้เป็นตัวทำละลายในการสกัดสารสำคัญจากใบทองพันชั่ง และใช้วิธีการสกัดที่ประหยัดเวลาและพลังงานโดยการสกัดสารด้วยเครื่องไมโครเวฟ รวมถึงการลดขั้นตอนการระเหยตัวทำละลายออกจากสารสกัดที่เตรียมได้ และนำสารสกัดดังกล่าวมาพัฒนาสูตรตำรับยาทิงเจอร์ทองพันชั่งโดยลดปริมาณแอลกอฮอล์ในตำรับยาลง


และกำหนดปริมาณตัวยาสำคัญไรนาแคนธิน-ซีในตำรับยาเป็น 0.1% w/v ซึ่งเป็นความเข้มข้นที่เพียงพอต่อประสิทธิภาพในการรักษาโรค [6] และวิเคราะห์ปริมาณสารไรนาแคนธิน-ซีในสารสกัดและตำรับยาที่เตรียมได้ในแต่ละครั้งด้วยวิธี HPLC (High Performance Liquid Chromatography) [1] จึงทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของสารสกัดและยาที่ผลิตในแต่ละครั้งได้ เพื่อให้ได้ยาที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ยามากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการยกระดับยาสมุนไพรไทยสู่มาตรฐานยาในระดับสากล


ผลงานวิจัยเรื่อง “ยาน้ำรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังที่เตรียมจากสารสกัดใบทองพันชั่งที่สกัดด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ได้รับ 2 รางวัล จากการประกวดนวัตกรรมในงาน “27th International & Innovation Exhibition (ITEX 2016)” ที่ประเทศมาเลเซีย ได้แก่

1. รางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จาก ITEX 2016
2. รางวัลพิเศษ (Special Award) จาก World Invention Intellectual Property Association (ไต้หวัน)

นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้นำสารสกัดใบทองพันชั่งที่เตรียมได้จากวิธีการที่พัฒนาขึ้นนี้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่ สบู่และแชมพู เพื่อช่วยทำความสะอาดและดูแลผิวพรรณ รวมถึงปกป้องผิวพรรณจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
[1] Panichayupakaranant, P., Charoonratana, T. and Sirikatitham, A. 2009. Journal of Chromatographic 47: 705-708.
[2] Tewtrakul, S., Tansakul, P. and Panichayupakaranant, P. 2009. Phytomedicine 16: 581-585.
[3] Tewtrakul, S., Tansakul, P. and Panichayupakaranant, P. 2009. Phytomedicine 16: 929-934.
[4] Puttarak, P., Charoonratana, T. and Panichayupakarananta, P. 2010. Phytomedicine 17: 323-327.
[5] คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. 2561. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2561. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/herbal/list.
[6] ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ และ Karun Shakya. 2558. คำขอสิทธิบัตรเลขที่ 1501000440. เลขที่ประกาศโฆษณา 152291.

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์
สถานวิจัยความเป็นเลิศยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สงขลา 90112
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทร. 0866924572