เปิด..ศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูน…ปลุกจูนเสี่ยงกี่ทอผ้า ท้าสู้โควิด..ฟื้นชีวิต

เปิด..ศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูน…ปลุกจูนเสี่ยงกี่ทอผ้า ท้าสู้โควิด..ฟื้นชีวิต

 

            

    

@CHANGE into Magazine Sutthikhun Kongthong
CHANGE in-your-life เรื่อง : ปราริชาติ ปลื้มจิตต์ตระกูล
 
 
เปิด..ศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูน…ปลุกจูนเสี่ยงกี่ทอผ้า ท้าสู้โควิด..ฟื้นชีวิต ชาวบ้านจากตำนานทอผ้าไหมยกดอกอันยาวไกลให้คงไว้ เอกลักษณ์ไทยไปนิรันดร์
 
 

 
 
คุณนันทภัต พงษ์ไชยยา หรือ ครูนี ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูน ในวัย 50 ปี เล่าว่า สถานที่แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ ลำพูนไหมไทย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การทอผ้าไหมยกดอก ซึ่งเป็นตำนานมายาวนานมากแล้ว และมีความเป็นเอกลักษณ์ โดยเน้นลายตามแต่ละท้องถิ่น ของจังหวัดลำพูนก็จะมีลายเฉพาะหลักๆ คือลายดอกแก้ว หรือ ดอกพิกุล ตามปกติที่ ลำพูนไหมไทยแห่งนี้ จะมีเฉพาะการทอผ้าอย่างเดียว และการขายผ้าไหมเป็นหลัก แต่ด้วยวิกฤตโควิด19 ที่ผ่านมาเกือบ 3 ปี ทำให้ช่างทอผ้าต่างคนต่างกลับท้องถิ่นของตนเอง ตามละแวกใกล้เคียง และอยู่บ้านใครบ้านมัน
 
เมื่อปัญหาวิกฤตโควิดผ่านมาได้สักปีเศษ ชาวบ้านที่เคยทอผ้าได้รวมกลุ่มกันอีกครั้ง ประมาณ 8 ราย โดยใช้สถานที่ตรงนี้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูน ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเราอยากจะเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างชาติที่เดินทางเที่ยวแวะมาชมผ้าไหมยกดอกลำพูน ได้รู้จักความเป็นมาในกระบวนการทอผ้า ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำว่า มีวิธีการผลิตกันอย่างไร ซึ่งผ้าไหมลำพูนมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานมากที่ทรงคุณค่าและสวยงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว
 
 

 
 
การผลิตผ้าไหมลำพูนมีความปราณีตและใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน เรามุ่งเน้นเป็นพิเศษให้ผู้สวมใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉลองพระองค์ระดับพระบรมวงศานุวงศ์ของประเทศไทย และประชาชนที่ชื่นชอบและหลงไหลในผ้าไหมลำพูน เมื่อสวมใส่ ผ้าไหมไทยแล้วมีความสวย ความสง่างามตามแบบฉบับ ซึ่งเรายินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจเดินทางมาแล้วอยากซื้อผ้าไหมสักชิ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถมาดูการผลิตว่า การทอผ้าในแต่ละชิ้นงานนั้น เส้นไหมมาอย่างไร รายละเอียดทุกขั้นตอน จนเป็นผ้าไหม 1 ชิ้นใช้เวลาเป็นเดือน ๆ
 
สถานที่แห่งนี้เปิดให้ได้เรียนรู้ ตั้งแต่การเลี้ยงไหม สาวรังไหม ฟอกย้อมสี ซึ่งปัจจุบันมุ่งเน้นสีจากธรรมชาติ…สำหรับท่านที่จะมาเป็นหมู่คณะ ตลอดจนโรงเรียนต่างๆหากมีความสนใจ สามารถติดต่อประสานทางไลน์ไอดีของศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูนได้ ซึ่งเป็นช่องทางการติดต่อมาหาเรา
 
 

 
 
ศูนย์แห่งนี้เป็นการรวมตัวของชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนรุ่นกลาง ส่วนรุ่นเก่า ๆ ที่เคยทอผ้า ด้วยวัยตลอดจนการเดินทางมา และเรี่ยวแรงในการทอผ้าอาจถดถอยไป จึงเหลือคนรุ่นอายุระดับกลางๆ ที่สืบทอดวิชาการทอผ้าไหม มาจากรุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งหากท่านใดมีความสนใจอยากจะทอผ้าทางศูนย์ยินดีสอนให้ฟรี แต่ท่านต้องมานั่งทอผ้าประจำกี่ที่นี่เลย
 
ครูนีบอกว่า กระบวนการผลิตผ้าไหมแต่ละชิ้น เริ่มตั้งแต่การสาวไหมเป็นเส้นจากรัง พอเป็นเส้นก็เอาไปเรียงเป็นไจ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการฟอกย้อม พอย้อมเสร็จจึงนำมาให้ช่างทอที่เขาเตรียมลายไว้เพื่อทอผ้า กรอใส่กระสวยหลอดใหญ่ผ่านกระสวยหลอดเล็กพุ่งไปมาและยกตามลายดอกซึ่งต้องมีความชำนาญ
 
 

 
 
การโชว์จุดเด่นผ้าไหมยกดอกลำพูนนั้น เรายึดลายโบราณไว้เป็นเอกลักษณ์ พัฒนาโดยเสริมนวัตกรรมรุ่นใหม่เข้าไปให้เข้ากับยุคสมัย เช่น การปัก การจก หรือตามไอเดียของเราที่จะให้ความพิเศษในลายผ้าโบราณออกมาเป็นอย่างไร ส่วนการนำผ้าไหมมาปรับใช้กับคนรุ่นใหม่นั้น มองว่าไม่จำเป็นต้องตัดเป็นผ้าซิ่นแบบเดิมๆ แต่สามารถนำผ้าไปประยุกต์แปรรูปตัดเป็นแฟชั่นสมัยใหม่ได้เลย สนนราคาผ้าไหมยกดอกของลำพูนผ้าไหม มีตั้งแต่ หลักพันบาท ถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับลายผ้าและความยาก ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการทำด้วยมือคือหัตถกรรม ที่ไม่มีเครื่องจักรใดๆเลยในผ้าไหมที่สำเร็จแต่ละชิ้น
 
ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูน กล่าวว่า การมารวมกลุ่มกันครั้งนี้ พวกเรามีความตั้งใจที่ต้องการจะเผยแพร่และอนุรักษ์ผ้าไหมยกดอกลำพูนให้คงอยู่ตราบชั่วลูกหลาน และอยากให้ทุกท่านที่รักชื่นชอบสนใจซึ่งมีความต้องการซื้อผ้าไหมไทยสักชิ้นหรือเห็นคุณค่าของผ้าไหมนั้นได้เห็นกระบวนการผลิด โดยในอดีตที่ผ่านมานั้น อาจมองว่าคนธรรมดาจะไม่ได้ใช้กัน แต่สำหรับลำพูนไหมไทยซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูน ในปัจจุบันนี้ทุกๆ คน สามารถสวมใส่ผ้าไหมได้ หลักการทำงานของเราคือ การผลิตผ้าไหมด้วยมือในแต่ละผืนออกมาให้ดีที่สุด เพื่อทุกคนสามารถใส่ผ้าไหมไทยได้
 
 

 
 
ผ้าไหมยกดอกลำพูนของไทย..อีกหนึ่งหัตถกรรมอันล้ำค่า ที่ต้องรักษา..สืบสาน ให้ยาวนาน หนึ่งตำนานดีๆ ที่มีศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์ผ้าไหมไทยลำพูน เผยแพร่ดำรงสืบทอดไว้ไม่ให้สูญ ของดีเมืองลำพูนที่ทรงคุณค่า ผ้าไหมไทยคู่นครา มาล่ะปูน.