"ปิโตรเลียมในแผ่นดินนี้เป็นของประชาชน ร่างกฎหมายใหม่ต้องฟังเสียงประชาชน หรือเสียงประชามติ"

"ปิโตรเลียมในแผ่นดินนี้เป็นของประชาชน ร่างกฎหมายใหม่ต้องฟังเสียงประชาชน หรือเสียงประชามติ"

 

 CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

"ปิโตรเลียมในแผ่นดินนี้เป็นของประชาชน ร่างกฎหมายใหม่ต้องฟังเสียงประชาชน หรือเสียงประชามติ"

 

"พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติ" ความตอนหนึ่งว่า

"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้น โดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร....."

 

ข้อความนี้จารึกติดอยู่หน้าห้องประชุมรัฐสภา เพื่อเตือนใจว่า สมาชิกรัฐสภาว่าต้องฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ครั้งสุดท้ายไว้

 

พรุ่งนี้วันที่ 24 มิถุนายน 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะนำร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่างพ.ร.บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานเข้าวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาในวาระรับหลักการ อันเป็นไฟท์บังคับจากรัฐบาล ทั้งที่ประชาชนคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว

 

พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 ใช้ระบบสัมปทานเพราะในยุคนั้นประเทศยังขาดคนมีความรู้เทคโนโลยี่ด้านนี้ แต่ผู้ยกร่างกฎหมายปิโตรเลียมในอดีตได้กำหนดให้สัมปทานมีอายุไม่เกิน50ปี และต้องยุติการต่อสัมปทานในแปลงดังกล่าว น่าจะเป็นเพราะผู้ยกร่างกฎหมายในสมัยนั้นเชื่อมั่นว่าภายใน50ปี เป็นเวลาเพียงพอที่คนไทยจะเรียนรู้เทคโนโลยี่ จนคนไทยสามารถนำแหล่งปิโตรเลียมที่ครบอายุสัมปทานกลับมาบริหารได้เองอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ต่อประเทศชาติและประชาชน จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อให้มีระบบอื่นมาแทนระบบสัมปทาน ดังที่ประชาชนเสนอระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิต เพื่อนำมารองรับแปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ และที่จะเปิดให้เอกชนมาสำรวจและผลิตในแปลงใหม่

 

สัมปทาน2แหล่งใหญ่ของประเทศคือแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี2565,2566 ซึ่งตามกฎหมายปิโตรเลียมฉบับปัจจุบัน รัฐบาลไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีก โดย"กรรมสิทธิในปิโตรเลียม"และอุปกรณ์ในการผลิตต้องกลับมาเป็นของประเทศ เพื่อนำมาบริหารเอง ภาคประชาชนจึงเสนอร่างกฎหมายใหม่ให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือระบบจ้างผลิตเข้าแทนระบบสัมปทานแบบเก่า และให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นกลไกบริหารที่รองรับระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิต

 

แต่ร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่กำลังเข้าสภาได้ออกแบบที่หมกเม็ด "รูปแบบสัมปทานจำแลง"ในนามของ"ระบบแบ่งปันผลประโยชน์" ที่ไม่ใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่แท้จริง ดังที่เขียนไว้แบบลับลวงพราง ที่ว่าลับลวงพรางเพราะการไม่มีหน่วยงานของรัฐที่ใช้อำนาจมหาชนเป็นผู้ดูแลและบริหารกรรมสิทธิในปิโตรเลียมอย่างที่มีการเสนอให้มี บรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้น ก็เท่ากับว่าระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิตที่บรรจุไว้ในร่างของกระทรวงพลังงาน จะไม่สามารถปฏิบัติตามระบบแบ่งปันผลผลิตอย่างสากลได้เป็นเพียงเขียนไว้เพื่อหลอกประชาชนว่าได้ทำตามคำเรียกร้องไว้แล้วใช่หรือไม่?

 

ร่างกฎหมายฉบับใหม่นอกจากไม่แก้ไขจุดบกพร่องในกฎหมายปัจจุบันแล้ว ยังมีความเลวร้ายกว่าฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอีกด้วย อย่างเช่นมีการเปลี่ยนแปลงหลักการให้สัมปทานเเก่เอกชนที่ในกฎหมายปัจจุบันกำหนดไว้3ช่วง คือช่วงสำรวจ9ปี ช่วงผลิต20ปี และต่อได้อีกครั้งเป็นเวลา10ปีแต่ในร่างใหม่เขียนแบบประเคนให้เอกชนที่ได้สัมปทานรวดเดียว39ปี และหากรัฐบาลในอนาคตต้องการ

 

เปลี่ยนแปลงระบบสัมปทานเป็นระบบอื่น ก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะร่างกฎหมายยังเขียนล็อคเอาไว้ไม่ให้มีการยกเลิกสัมปทานหากจะยกเลิกสัมปทานกับเอกชนต้องไปใช้ระบบอนุญาโตตุลาการที่รัฐบาลไม่เคยชนะ มีแต่ต้องเสียค่าโง่มาตลอด ทั้งที่ปัจจุบันมีงานศึกษาทางวิชาการว่าสัญญาทางปกครองไม่ควรใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ ที่เป็นการสละสิทธิของรัฐที่มีเหนือกว่าเอกชนเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของแผ่นดิน และคุ้มครองประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสละสิทธิในการใช้ระบบศาลไทยของเราเองอีกด้วย ร่างกฎหมายฉบับนี้ควรเรียกว่า

 

"กฎหมายฉบับเปิดประตูเมือง"ให้เอกชนมาเขมือบทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยต่อไปอีก39ปี ซึ่งเป็นการสละอธิปไตยด้านพลังงานของประเทศให้เอกชน รัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาว่าข้อเสนอในร่างกฎหมายปิโตรเลียมของประชาชนมีข้อเสียตรงไหน อย่างไร แต่กลับใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจะผ่านกฎหมายที่มีความสำคัญต่ออนาคตของลูกหลาน โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง หากเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลคณะนี้มีเจตจำนงมาเพื่อมุ่งรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างแท้จริง มาเพื่อจะคืนความสุขให้ประชาชนดังที่พร่ำบอก หรือว่าแท้ที่จริงแล้วมาเพื่อปลดล็อคให้กับกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มกันแน่? ประชาชนจะยอมสละอธิปไตยด้านพลังงานให้กับกฎหมายฉบับเปิดประตูเมืองให้เอกชนมากินรวบทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยต่อไปหรือไม่ ?

 

หากรัฐบาลและกลุ่มผลประโยชน์ด้านพลังงานปรามาสว่าเสียงคัดค้านเหล่านี้เป็นเพียงเสียงนกเสียงกา ไม่ใช่เสียงของประชาชนที่แท้จริง ก็ขอให้ทำประชามติในเรื่องนี้ดังอารยประเทศที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ

 

รสนา. โตสิตระกูล 23 มิถุนายน 2559