ผลวิจัย 'ฮาร์วาร์ด' ชี้ชัดโรงไฟฟ้าถ่านหิน พีดีพี 2015 ทำคนตายปีละ 5,300 ศพ

ผลวิจัย 'ฮาร์วาร์ด' ชี้ชัดโรงไฟฟ้าถ่านหิน พีดีพี 2015 ทำคนตายปีละ 5,300 ศพ

 

 

 

 

ผลวิจัย 'ฮาร์วาร์ด' ชี้ชัดโรงไฟฟ้าถ่านหิน พีดีพี 2015 ทำคนตายปีละ 5,300 ศพ

 

งานวิจัยร่วม "กรีนพีซ-ฮาร์วาร์ด" ตีแผ่ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย ระบุ หากรัฐบาลเดินตามแผนพีดีพี 2015 ชาวบ้านมีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงปีละ 5,300 ราย

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการวิจัยเรื่องต้นทุนชีวิต : โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพคนไทย เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยพบว่าหากประเทศไทยสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 หรือแผนพีดีพี 2015 อาจทำให้มีประชาชนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงปีละ 5,300 ราย

สำหรับงานวิจัยดังกล่าว เป็นการศึกษาเกี่ยวกับอัตราการเจ็บป่วยและการตายที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย โดยคำนวณแบบจำลองบรรยากาศ ซึ่งดำเนินการโดยทีมวิจัย Atmospheric Chemistry Modeling ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ใช้เครื่องมือที่เรียกว่าแบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ

ทั้งนี้ จากข้อมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินปี 2554 พบว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรไทยประมาณ 1,550 รายต่อปี

น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซฯ กล่าวว่า ผลการวิจัยเป็นการคำนวนจากจำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เปิดดำเนินการอยู่ในประเทศไทยภายในปี 2011 ประกอบกับจำนวนที่จะดำเนินการตามแผนพีดีพี 2015 โดยนับเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ประเทศไทยแจ้งต่อฐานข้อมูลสากลที่เป็นทางการ ซึ่งยังไม่นับรวมโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย ขณะนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแกขนาด 2,800 เมกะวัตต์ยังคงไม่หยุดโครงการ โรงไฟฟ้ากระบี่กำลังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน โรงไฟฟ้าแม่เมาะอยู่ในขั้นตอนดำเนินการแล้ว โรงไฟฟ้าฉะเชิงเทราอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต และยังมีที่ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งกำลังจะขยายเพิ่มอีก 20 เมกะวัตต์

น.ส.จริยา กล่าวอีกว่า ในส่วนของต้นทุนชีวิตที่เกิดขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้า ประเด็นที่ต้องพูดถึงคือข้อกำหนดการปล่อยมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งประเทศไทยอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่สามารถปล่อยมลพิษทางอากาศได้สูงกว่ามาตรฐานที่บังคับใช้ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ถึง 10 เท่า นอกจากนี้มาตรฐานการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กในขนาดต่างๆ ยังสูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกในทุกประการ

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกแนวทางดำเนินนโยบายระหว่างการได้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งต้องแลกกับผลกระทบด้านสุขภาพและการสูญเสียชีวิต หรือจะก้าวสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัย"น.ส.จริยา กล่าว

น.ส.แซนนอน คอบลิซ นักวิจัยทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการขยายการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินตามแผนที่รัฐบาลไทยวางไว้ จะทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้นการตัดสินใจเลือกอนาคตพลังงานไทยจำเป็นต้องพิจารณาต้นทุนด้านสุขภาพและชีวิตด้วย

นายลาวรี่ มิลลีเวียตา ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กรีนพีซสากล กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้ถ่านหินทั่วโลกมีแนวโน้มที่ลดลง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ที่เปลี่ยนมาเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียน ขณะที่ประเทศจีนไม่ใช้ฟอสซิลผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

นายลาวรี่ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยมีการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนออกมา ซึ่งฝุ่นละอองขนาดดังกล่าวเล็กเกินกว่าที่โครงสร้างจมูกจะดักไว้ได้ และเมื่อเข้าไปแล้วไม่ได้หยุดอยู่แค่ปอด แต่ยังคงเดินทางต่อไปสู่กระแสเลือด และต่อไปยังอวัยวะต่างๆ ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดทั้งโรคมะเร็ง โรคทางกระแสเลือด หรือโรคต่างๆ

“เฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนถึง 1.6 แสนราย นั่นเพราะในหลายพื้นที่มีความเสี่ยงจากมลพิษอื่นๆ อยู่แล้ว แต่ต้องมามีเพิ่มจากถ่านหินเข้าไปอีก”นายลาวรี่ กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้กรีนพีซได้เผยแพร่ผลการศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยพบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินของแต่ละประเทศมีผลทำให้ประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงปีละ 2.83 หมื่นราย และ 4,300 ราย ตามลำดับ