KBank PRIVATE BANKING VIRTUAL PRESS CONFERENCE “2021: FACING CHANGE OR MORE CHALLENGES?”

KBank PRIVATE BANKING VIRTUAL PRESS CONFERENCE “2021: FACING CHANGE OR MORE CHALLENGES?”

 

                                                                                                                                                      

 

 

 

สรุปประเด็นสำคัญ จากงาน KBank PRIVATE BANKING VIRTUAL PRESS CONFERENCE 

 2021FACING CHANGE OR MORE CHALLENGES? 

วันพุธที่ 27 มกราคม 2564 

 

 

ภาพรวม โดย คุณจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย 

KBank Private Banking ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ Lombard Odier ผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ระดับโลกและดำเนินงานมามากกว่า 224 ปี จัดงานสัมมนาในหัวข้อ 2021Facing Change or More Challenges?” เพื่อเจาะลึกทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งแนะนำโอกาสการลงทุน โดยนักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธ์การลงทุนระดับโลก โดยนอกเหนือจากวิทยากรระดับโลกแล้ว ยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และอดีตนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส World Bank ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงจากวงการเศรษฐศาสตร์และธุรกิจในประเทศไทย มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย 

แนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Outlook) โดย คุณศิริพร สุวรรณการ Managing Director Financial Advisory Head Private Banking Group  ธนาคารกสิกรไทย 

Lombard Odier และ KBank Private Banking มองภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเป็นบวก มีการฟื้นตัวได้ดี แม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะยังไม่สิ้นสุด แต่คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะแตะระดับสูงสุดในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 นี้ โดยเศรษฐกิจโลกจะได้รับแรงหนุนจากการเร่งอนุมัติและแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะมีประสิทธิภาพควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยประชากรทั่วโลกกำลังทยอยได้รับวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงกลางปี 2564 และจะส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ทั้งด้านการค้าขาย การผลิต และการบริโภค สามารถกลับมาเปิดได้อย่างเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาดในที่สุด 

เศรษฐกิจหลักของโลก อย่าง สหรัฐฯ ยุโรป และจีน จะฟื้นตัวได้ดี หนุนจากการค้าโลกที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ประกอบกับมาตรการการคลังของหลายประเทศที่มีขนาดใหญ่ และออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในสหรัฐฯ ที่เน้นออกมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19  โดยล่าสุด คณะรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ได้เสนอแผน “American Rescue Plan” ที่มีมูลค่ามากกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกับนโยบายการเงินในสหรัฐฯ ที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำถึงปี 2566 รวมถึงมีการซื้อสินทรัพย์ในตลาดการเงินต่อเนื่อง ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดยังคงสูง โดยมาตรการกระตุ้นในองค์รวมจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและสนับสนุนภาคการบริโภค 

จากข้อมูลข้างต้น สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยข้อมูลจาก IMF ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะโตกว่า 5% ในปีนี้ จากที่หดตัวมากกว่า 4% ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายความเสี่ยงที่ต้องจับตา คือการต่อสู้ระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อที่เร่งตัวขึ้นกับความรวดเร็วในการแจกจ่ายวัคซีน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนภายใต้รัฐบาลของ ปธน.ไบเดน ระดับดอกเบี้ยนโยบายและการสื่อสารของภาครัฐเกี่ยวกับความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยกดดันเงินเฟ้อในระยะยาว  

สำหรับยอดตัวเลขของจำนวนผู้ติดเชื้อจะมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากขีดความสามารถในการตรวจโรคเชิงรุกที่ทำได้ดีมากขึ้น นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าเชื้อโรคจะกระจายตัวได้น้อยลง เนื่องจากอากาศจะร้อนขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม และถึงแม้ว่าความกังวลเรื่องโรคโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว ยังมองว่านโยบายการเงินและการคลังที่ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ถึงปลายปี 2564 ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดการลงทุน 

กลยุทธ์การลงทุน (Investment Strategy) โดย ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Managing Director Private Banking Business Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย  

Lombard Odier มีความเห็นตรงกับ KBank Private Banking ที่มองว่ามีโอกาสลงทุนที่ดีในช่วงจังหวะนี้ ด้วยกลยุทธ์การลงทุนสำคัญที่ยังยึดหลักลงทุนสม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยง หรือที่เรียกว่า “Stay Invested Stay Diversified” โดยแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภทผ่านกองทุนรวม และให้ลดการถือเงินสดไว้ในพอร์ตการลงทุน ดังนี้ 

พันธบัตรรัฐบาล แม้ว่าผลตอบแทนพันธบัตรจะดูไม่น่าดึงดูดในภาวะดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็ถือว่าเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหุ้นที่ดี โดยนักลงทุนอาจเลือกลงทุนในพันธบัตรในหลายประเทศ เช่น จีน และสหรัฐฯ เป็นต้น 

หุ้นกู้บริษัทเอกชน  เป็นทางเลือกลงทุนที่ดีเพื่อเพิ่มผลตอบแทน โดยเฉพาะหุ้นกู้ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นกู้ในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการคัดกรองเลือกบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีอัตราผิดนัดชำระหนี้ต่ำ 

หุ้น ที่มีแนวโน้มเติบโตและให้ผลตอบแทนเป็นบวกในปี 2564 จากการคาดการณ์ความสำเร็จของวัคซีนที่เข้าใกล้ความจริง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายการคลังและการเงินที่อัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลอย่างต่อเนื่อง ดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัว  

ทั้งนี้ คาดว่ากระแสการสลับกลุ่มหุ้นที่ลงทุนไปยังกลุ่มหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ (Cyclical) จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกแห่งอนาคตจะถูกขับเคลื่อนด้วย Megatrends ที่สำคัญๆ เช่น Technology และ Healthcare ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดได้ในระยะยาว  

นอกจากนี้ Lombard Odier ยังให้ความสำคัญมากกับหุ้นกลุ่ม CLIC (Circular, Lean, Inclusive, Clean) ซึ่งเป็นการเน้นลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน คุ้มค่า ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงเน้นลงทุนในบริษัทที่คำนึงถึงการเท่าเทียมกันของสังคม เพื่อสอดรับกับกระแสด้านความยั่งยืน ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสสำคัญของนักลงทุนในการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงเช่นเดียวกัน 

สำหรับหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะจีน จะสามารถสร้างผลตอบแทนดีต่อเนื่อง เพราะนอกจากการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วแล้ว การกลับมาเปิดเศรษฐกิจของจีนก็สามารถทำได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ มาก รวมถึงประเด็นเรื่องสงครามการค้าที่คาราคาซังก็มีแนวโน้มผ่อนคลายลงจากชัยชนะของนายโจ ไบเดน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งประเทศในเอเชียที่เชื่อมโยงกันทางการค้า   

อีกสินทรัพย์ที่ขาดไม่ได้คือทองคำ ที่มักทำหน้าที่กระจายความเสี่ยงให้พอร์ตโดยเฉพาะยามตลาดผันผวนและสุดท้ายสำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการสภาพคล่อง สามารถล็อกระยะเวลาลงทุนได้นาน การลงทุนใน Fixed Maturity Product หรือ FMP (กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลาที่มีการกระจายในหุ้นกู้ต่างประเทศหลายๆ บริษัท) Private Debt (ตราสารหนี้บริษัทเอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์) Private Equity (หุ้นบริษัทเอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์) รวมทั้ง Hedge Fund ในบางกลยุทธ์ ก็จะช่วยลดความผันผวนระยะสั้นและสร้างความมั่งคั่งให้พอร์ตระยะยาวได้ดีเช่นกัน 

Whats Next? โดย คุณจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย 

เช่นเดียวกับมุมมองจาก Lombard Odier ธนาคารกสิกรไทยยังแนะนำให้ลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูง ยึดหลักการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงและการบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก สำหรับมุมมองการลงทุนปัจจุบันที่ว่า “Cautiously optimistic in risk assets” คือมีมุมมองบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและหุ้นกู้เอกชน แต่ก็ระมัดระวังในการเลือกใช้กลยุทธ์ โดยรวมมองว่าปี 2564 นี้ตลาดการลงทุนจะยังสดใส แม้จะท้าทายมากขึ้นเพราะราคาหุ้นหลายกลุ่มเพิ่มขึ้นมากในปีที่ผ่านมา สำหรับพอร์ต K-Alpha ที่แนะนำลูกค้า ยังคงหลักการของพอร์ตหลัก (Core) + พอร์ตเสริม (Satellite) โดยให้ความสำคัญและน้ำหนักที่มากขึ้นกับกองทุนในกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะสร้างความเติบโตให้กับมูลค่าพอร์ตการลงทุน โดยแบ่งเป็นธีมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 

Winner of new economy หรือ ผู้ชนะในเศรษฐกิจใหม่ อย่างเช่นกลุ่มเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ  

Health is Wealth หรือการรักษาสุขภาพคือความมั่งคั่งใหม่ ผ่านการลงทุนกลุ่ม Healthcare และนวัตกรรมทางการแพทย์ ทั่วโลก  

Save the World หรือเทรนด์รักษ์โลก ที่ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด  

The Rise of China and Asia หรือ สินทรัพย์ในจีนและภูมิภาคเอเชีย ที่จะเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น  

Laggard and Cyclical Upturn เช่น หุ้นในภูมิภาคหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแรงในปีที่แล้ว และราคายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมทั้งกลุ่มที่ผลประกอบการจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

ถึงแม้การลงทุนในหุ้นรายตัวบางตัวอาจสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่น แต่การลงทุนในกองทุนรวมซึ่งมีการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในหลากหลายบริษัท มีผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญคัดสรร วิเคราะห์ ติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยปรับพอร์ตการลงทุนตามธีมที่สอดคล้อง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะการลงทุนในธีมใหม่เหล่านี้มักต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ 

นายจิรวัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า ยังคงเชื่อมั่นในกลยุทธ์การลงทุนที่นำเสนอ และจะพยายามสร้างผลงานให้พอร์ตการลงทุนของลูกค้าได้ดีอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปีก่อนหน้านี้ ที่แม้จะเจอวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดทั้งปี ยังสามารถพาพอร์ตการลงทุนของลูกค้าเติบโตได้ที่ระดับ +11.4% ภายใต้ระความเสี่ยง (ค่าความผันผวน) เพียง 7.7% ซึ่งนับว่าความเสี่ยงน้อยมากเมื่อเทียบกับหุ้นโลกภายใต้วิกฤตเดียวกัน เพราะการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวอยู่บนความเสี่ยงที่สูงกว่าและกระจุกตัวมากกว่า