คปภ. ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง ส่งท้ายโครงการ Training for the Trainers ปี 2561

คปภ. ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง ส่งท้ายโครงการ Training for the Trainers ปี 2561

 

 

 

  

คปภ. ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง ส่งท้ายโครงการ Training for the Trainers ปี 2561 เผยยอดเกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปีถึงกันยายน 1.9 ล้านราย พื้นที่ 27.6 ล้านไร่ ย้ำ คปภ. พร้อมขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐเรื่องประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เต็มสูบ

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ต่อเนื่องจากปี 2560 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านไร่ ซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย จำนวน 1,841,100,000 บาท ในส่วนของ สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยได้ให้ความเห็นชอบแบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการรับประกันภัย คือ เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2561/62 โดยแบ่งกลุ่มผู้เอาประกันภัย เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของ ธ.ก.ส. ทุกราย ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 29 ล้านไร่ และกลุ่มเกษตรกรทั่วไปที่เพาะปลูกข้าวนาปี ที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส.


โดยมีพื้นที่เป้าหมายจำนวนไม่เกิน 1 ล้านไร่ และกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ วงเงินความคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ จากภัยธรรมชาติทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 630 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดยในส่วนของค่าเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่นั้น รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรผู้ทำประกันภัย 54 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ ซึ่งโครงการมีระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ฤดูการเพาะปลูกไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ยกเว้นภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2561 โดยมีบริษัทประกันภัยเข้าร่วมโครงการเพื่อรับประกันภัยข้าวนาปีในปีนี้ จำนวน 22 บริษัทนั้น


จากการติดตามข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 17 กันยายน 2561 พบว่า มีเกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 จำนวน 1,917,495 ราย พื้นที่นาข้าวจำนวน 27,598,032.75 ไร่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ ธ.ก.ส. จำนวน 1,870,439 ราย พื้นที่นาข้าวจำนวน 26,901,873.75 ไร่และกลุ่มเกษตรกรทั่วไปที่เพาะปลูกข้าวนาปี ที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จำนวน 47,056 ราย พื้นที่นาข้าว 696,159 ไร่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เอาประกันภัยและพื้นที่การทำประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 พบว่าในปี 2560 มีเกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปี 1.76 ล้านราย พื้นที่ทำประกันภัยข้าวนาปี 26.11 ล้านไร่ มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติจำนวน 1.65 ล้านไร่ จ่ายค่าสินไหมทดแทน 2.08 พันล้านบาท Loss Ratio 103.29%


ดังนั้นโดยภาพรวมของการทำประกันภัยข้าวนาปีในปีนี้แม้จะยังไม่รวมข้อมูลจากภาคใต้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีพื้นที่ที่ทำประกันภัยข้าวนาปีสูงกว่าปี 2560 เป็นจำนวน 2.58%


นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้จัดโครงการคู่ขนานเพื่อให้ความรู้ด้านประกันภัยให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรผ่านโครงการ“อบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2561 ซึ่งได้จัดไปแล้ว 9 ครั้ง ได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลพบุรี จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพะเยา จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสุรินทร์ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านประกันภัยข้าวนาปี รวมถึงเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและสร้างแรงจูงใจให้กับชาวนาไทยให้เข้าสู่ระบบการบริหารความเสี่ยงภัยด้านประกันภัยได้อย่างทั่วถึง โดยครั้งที่ 10 จัดเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการในปีนี้ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม ที่จังหวัดพัทลุง โดยก่อนวันจัดอบรมฯได้มีการลงพื้นที่ด้วย

สำหรับการลงพื้นที่ในจังหวัดพัทลุง ได้เดินทางไปพบเกษตรกรชาวนา ณ ตำบลควนขนุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะตลอดจนให้ความรู้ด้านการประกันภัยข้าวนาปีแก่เกษตรกร ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากทางเทศบาลตำบลควนขนุนให้ใช้หอประชุมอาคารอเนกประสงค์เทศบาล ตำบลควนขนุน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นสถานที่ประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมากกว่า 300 คน รวมทั้งมีการลงพื้นที่ศึกษาดูงานและเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้นาโปแก ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อีกด้วย


สำหรับปี 2560 จังหวัดพัทลุง มีเกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปีจำนวน 15,326 ราย พื้นที่นาข้าวจำนวน 55,611.75 ไร่ ในส่วนของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรที่ทำประกันภัยข้าวนาปีและได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จำนวน 1,547 ราย พื้นที่นาข้าวที่ได้รับความเสียหาย 4,682.88 ไร่ คิดเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 5,900,433.57 บาท โดยมีพื้นที่ประสบภัยบ่อยครั้ง ได้แก่ อำเภอควนขนุน อำเภอเมือง อำเภอป่าบอน อำเภอป่าพะยอม จากการลงพื้นที่และพบปะกับกลุ่มเกษตรกรชาวนาที่ตำบลควนขนุน พบว่าเกษตรกรชาวนายังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจากการลงพื้นที่ครั้งนี้มาปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้การประกันภัยมีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรไทยต่อไป สำหรับการทำประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ในจังหวัดพัทลุง ข้อมูล ณ วันที่ 17 กันยายน 2561 มีเกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปีจำนวน 14,215 ราย พื้นที่นาข้าวจำนวน 51,733.50 ไร่ จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 51,000 ไร่


ในส่วนของการจัดอบรมความรู้การประกันภัยข้าวนาปี Training for the Trainers ประจำปี 2561 ครั้งที่ 10 ที่จังหวัดพัทลุงในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวว่าจังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ที่มักเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ดังนั้นระบบประกันภัยจึงเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากแก่เกษตรกร และขอขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่จัดอบรมความรู้ด้านประกันภัยให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และเจ้าหน้าที่ กำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดและเจ้าหน้าที่ ประชาสัมพันธ์จังหวัด อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน สื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ท้องถิ่น ผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัด รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด เพื่อจะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีต่อไป


อนึ่งตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 นั้น สำนักงาน คปภ.พร้อมจะขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล โดยทราบว่าจะมีการนำร่องเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน ซึ่งรัฐบาลกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ โดยสำนักงานคปภ. อยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทประกันภัย เพื่อจัดทำรายละเอียดของแบบประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งเงื่อนไข หลักการประกัน ความคุ้มครอง วิธีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะใช้ลักษณะเดียวกับการประกันภัยข้าวนาปี


“ผมมีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ Training for the Trainers ประจำปี 2561 จะเป็นประโยชน์และขยายผลไปถึงเกษตรกรชาวนาไทยให้มีความรู้ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัยมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปนโยบายการประกันภัยพืชผลชนิดอื่นๆ อย่างเช่น ข้าวโพดลำไย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงในชีวิต และยกระดับรายได้ของเกษตรกรในประเทศ โดยในปี 2561 สำนักงาน คปภ. จะดำเนินโครงการ Training for The Trainers สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีเป็นpackage ควบคู่ไปกับการประกันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามนโยบายของรัฐ โดยจะให้ความรู้กับเกษตรกร พร้อมจัดทำสื่อความรู้ในรูปแบบApplication เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่ายและทั่วถึงต่อไป” ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย