ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ จับมือ บริติช เคานซิล
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ จับมือพันธมิตรตลาดอังกฤษ บริติช เคานซิล
เตรียมส่ง 2 ผู้ประกอบการหัตถกรรมไทย แสดงผลงาน ณ กรุงลอนดอน
ภายใต่โครงการ Craft & Design Innovation Programme
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ร่วมมือกับ บริติช เคานซิล ประเทศไทย คัดเลือก 2 ผู้ประกอบการ หัตถกรรมกระจูดวรรณี และ หัตถกรรมแก้ววรรณาหม้อห้อมธรรมชาติ เพื่อแสดงผลงาน ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร จากผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 22 ราย ในโครงการ Craft & Design Innovation Programme 2015
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ร่วมมือกับ บริติช เคานซิล ประเทศไทย จัดแสดงงานหัตถกรรมจากผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 22 ราย ภายใต้โครงการ Craft & Design Innovation Programme 2015 ณ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นหลังจากเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneur) โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Cockpit Arts สหราชอาณาจักร เพื่อพัฒานผลงานการออกแบบและการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมให้แก่ชุมชนหัตถกรรม รวมถึง สร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ ขยายผลทางสังคม และเปิดโอกาสในการก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ
ในช่วงเช้า มีการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการฝึกอบรมตลอดระยะเวลาโครงการ และมีการอบรมด้านการประเมินผลกระทบต่อสังคม ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ และในช่วงเย็น ได้มีการจัดนิทรรศการหัตถกรรมและกิจการเพื่อสังคม เพื่อแสดงผลงานจาก 22 ผู้ประกอบการ อาทิ รองเท้าผ้าทอมือ ของเล่นไม้ปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาประเภทขึ้นรูป ผ้าไหม และของที่ระลึก ผลงานหัตถกรรมที่นำมาแสดงสะท้อนให้เห็นทักษะการออกแบบงานหัตถกรรมที่ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้มีคุณภาพสูงและมีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังแสดงถึงผลทางสังคมที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้สร้างขึ้นผ่านงานหัตถกรรมอีกด้วย
นอกจากนี้ ในงานนิทรรศการยังได้ประกาศรายชื่อผู้ประกอบการ 2 ท่าน คือ นางสาวณัทศศิร์ เซ่งฮวด ผู้ประกอบการหัตถกรรมกระจูดวรรณี และนายวุฒิไกร ผาทอง ผู้ประกอบการหัตถกรรมแก้ววรรณาหม้อห้อมธรรมชาติ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมศึกษาดูงานและแสดงผลิตภัณฑ์ในงาน Clerkenwell Design Week 2016 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 7 ทั้งนี้ ย่าน Clerkenwell ในกรุงลอนดอนถือเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการออกแบบที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้ดึงดูดผู้ประกอบการชั้นนำทั้งจากสหราชอาณาจักรและจากทั่วโลกเพื่อมาศึกษาผลงานและแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ชุมชนหัตถกรรมของไทยมีมากมายและมีความหลากหลายด้วยเอกลักษณ์และภูมิปัญญาแต่ละพื้นถิ่น ซึ่งหากได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม จะสามารถเสริมจุดแข็ง ดึงเป็นจุดขาย สร้างเป็นรายได้เศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการกิจกรรมการพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการหัตถกรรมด้านการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม (Craft & Design Innovation Programme) โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่ดีอย่าง บริติช เคานซิล ประเทศไทย เป็นผู้นำผู้เชี่ยวชาญจาก Cockpit Arts ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ได้รับรางวัลแห่งเดียวของสหราชอาณาจักรด้านการเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจหัตถกรรม มาร่วมดำเนินงานในโครงการนี้ โดยมีสมาชิกงานหัตถกรรมของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศจำนวน 22 ราย เข้าร่วมอบรมพัฒนาในด้านทักษะการออกแบบและการทำธุรกิจ เพื่อยกระดับให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ผสานความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ในชุมชนหัตถกรรมของตนให้เข้มแข็ง แล้วยังสามารถสื่อสารผลงานของตนเองออกสู่ภายนอก เป็นผู้สร้างฐานการทำงานร่วมกับชุมชน เป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนงานหัตถกรรมของไทยได้ต่อไป”
ด้าน นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช/ เคานซิล ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า “บริติช เคานซิล เป็นองค์กรที่สร้างเสริมโอกาสทางการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ กิจกรรมพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการหัตถกรรมด้านการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมในครั้งนี้ เราได้นำความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้จากสหราชอาณาจักรมาร่วมพัฒนาศักยภาพทางด้านธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถให้กลุ่มงานหัตถกรรมของไทยที่มีเอกลักษณ์สะท้อนภูมิปัญญาให้ออกสู่ตลาดสากลได้ และผลงานของผู้ผ่านการอบรมในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมการผลิตผลงานใหม่ๆ ที่เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการ ทั้งยังสามารถปรับใช้รูปแบบกิจการเพื่อสังคมมาเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจ เราหวังว่าทักษะและประสบการณ์ที่สมาชิกศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ได้จากการเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความยั่งยืนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมต่อไปได้ในอนาคต”
โครงการนี้ดำเนินงานเพื่อการพัฒนางานหัตถกรรมและการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยการอบรมและการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบและการทำกิจการเพื่อสังคมจะช่วยพัฒนาทักษะทางธุรกิจและช่วยเพิ่มผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมรูปแบบใหม่ ๆ กิจกรรมนี้ถือเป็นกิจกรรมต้นแบบของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าที่สอดคล้องกับเป้าหมายในการยกระดับงานหัตถกรรมและคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เกี่ยวข้อง และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Business Investment Readiness ของบริติช เคานซิล ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปีแรกใน 9 ประเทศทั่วโลก เน้นการสร้างโอกาสพร้อมกับมอบทักษะที่จำเป็นทางด้านธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ในการเข้าสู่ตลาดโลก และขยายเครือข่ายไปยังชุมชนอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ นายแอนดรูว์ กลาส กล่าวย้ำ
นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินดีเด่นผู้คิดค้นและออกแบบผ้าลายกาบบัว จากจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า “สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการร่วมโครงการนี้คือ ความตระหนักว่าผู้ประกอบการ ช่าง หรือคนทำงานในแวดวงศิลปะหัตถกรรมไม่ว่าส่วนใดก็ตาม สามารถมีบทบาทในการช่วยสังคมได้ โครงการนี้ยังทำให้เราตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริง แม้ว่าเราเองจะมีความตั้งใจจริงและมองเห็นประโยชน์ในการช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว โครงการนี้ก็ยิ่งทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นและตั้งเป้าหมายในการช่วยสังคมเป็นพันธกิจหลัก เน้นการทำงานที่ให้สังคมหรือชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย”
นายคมกฤช ตระกูลทิวากร ผู้ประกอบการของเล่นไม้จากจังหวัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “โครงการนี้ทำให้ผมมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำอย่างชัดเจน ว่าไม่เพียงแต่เป็นสินค้าของเล่นที่มีประโยชน์กับผู้เล่นเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอีกด้วย เมื่อเห็นความสำคัญอย่างนี้แล้วก็ทำให้เรานำแนวคิดนี้มาเรียบเรียงใหม่และสื่อสารออกไปให้คนรับรู้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือคู่ค้า เขาจะได้มีความเข้าใจว่าสิ่งที่เราทุกคนมีส่วนร่วมนั้นมีความหมายต่อคนอื่นๆอย่างไร”
นางสาวลภาพิม ชัยรัชนิกร ผู้ประกอบการรองเท้าผ้าทอมือ LARINN BY DOUBLE P จากจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า “โครงการนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจที่ดีขึ้นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม จากการอบรมเชิงปฏิบัติการโดย Cockpit Arts เราได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และพัฒนาทักษะทางธุรกิจที่จำเป็นต่อการเข้าสู่ตลาดโลก การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป และยังได้ขยายเครือข่ายชุมชนหัตถกรรมทั้งในและต่างประเทศ เราจะถ่ายทอดทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับแก่เครือข่าย และเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านงานของเรา"
คำบรรยายภาพ
BIR_01 บุคคลในภาพ (จากซ้าย) นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย นางปานจิตต์ พิศวง รองผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (ศ.ศ.ป.) และ นายพอล บิวท์ อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย
BIR_02 ผู้แทนจาก ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (ศ.ศ.ป.) บริติช เคานซิล ประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย สามองค์กรหลักที่ร่วมผลักดันโครงการ
BIR_03 เผยโฉม 22ผู้ประกอบการหัตถกรรมที่เข้าร่วมโครงการ
BIR_04 นางปานจิตต์ พิศวง รองผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (ศ.ศ.ป.)
BIR_05 นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย
BIR_06 นายพอล บิวท์ อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย
BIR_07 บรรยากาศในงานแสดงผลงานของทั้ง 22 ผู้ประกอบการ ภายหลังจากการจัดอบรมอย่างเข้มข้น
BIR_08 – 09 นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินดีเด่นผู้คิดค้นและออกแบบผ้าลายกาบบัว จากจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมผลงานจากโครงการ
BIR_10 – 11 นายคมกฤช ตระกูลทิวากร ผู้ประกอบการของเล่นไม้จากจังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมผลงานจากโครงการ
BIR_12 – 13 นางสาวลภาพิม ชัยรัชนิกร ผู้ประกอบการรองเท้าผ้าทอมือ LARINN BY DOUBLE P จากจังหวัดนนทบุรี พร้อมผลงานจากโครงการ
BIR 14 – 15 ภาพผลงานจากผู้ร่วมโครงการท่านอื่นๆ
ข้อมูลเพิ่มเติมในโครงการ
พิชิต พรหมเกศ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริติช เคานซิล ประเทศไทย โทรศัพท์: 02 657 5678 อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. |
น.อ. หญิง สุดารัตน์ ชยากร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ โทร.1289 อีเมล์: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. |