ซีพี ออลล์ เดินหน้าหนุน SME เต็มสูบ จับมือภาครัฐมอบรางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2560”

ซีพี ออลล์ เดินหน้าหนุน SME เต็มสูบ จับมือภาครัฐมอบรางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2560”

 

 

 

 

ซีพี ออลล์ เดินหน้าหนุน SME เต็มสูบ
จับมือภาครัฐมอบรางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2560”

 


กรุงเทพฯ 30 ม.ค. 2561 - ซีพี ออลล์ ตอกย้ำนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย จับมือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย จัดโครงการรวมพลังส่งเสริมเอสเอ็มอี “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2560” ปีที่ 2 พร้อมมอบรางวัลให้แก่เอสเอ็มอีที่จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง

นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย เปิดเผยว่าการดำเนินงานของ ซีพี ออลล์ ได้มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME มาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้ใช้จุดแข็งจากการเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า SMEผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางการจำหน่ายผ่านทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง โดยให้คำปรึกษาในการพัฒนาสินค้า การบริการ และระบบการตลาด ทำให้กลุ่มธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้เกิดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยให้สินค้ามีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น ทั้งยังเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายเติบโตจากธุรกิจขนาดเล็กไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ ต่อเนื่องไปถึงการกระตุ้นความสนใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่นๆ เกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพสูงอยู่เสมอ

ปัจจุบันเซเว่นฯ ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 2,000 ราย ด้วยการเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า SME ผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้งทั้งสิ้นกว่า 22,000 รายการ มีสินค้าเอสเอ็มอีหลายประเภทที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เช่น ผลไม้แปรรูป,เครื่องดื่ม,เบเกอรี่,ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ผลิตภัณฑ์ชุดเครื่องนอน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูปก็ได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนมาก ทั้งนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับการคัดเลือกสินค้าที่มีมาตรฐานทั้งในด้านคุณภาพ ราคา ความต่อเนื่องในการผลิต ความปลอดภัย ความคิดสร้างสรรค์ของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ตอบโจทย์ผู้บริโภค สำหรับในปี 2561 นี้ บริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

นายธานินทร์ กล่าวต่อว่า ล่าสุด ซีพี ออลล์ ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย และบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จัดโครงการรวมพลังส่งเสริมเอสเอ็มอี “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2560” ปีที่ 2 เพื่อมอบรางวัลส่งเสริมและยกย่องเชิดชู เอสเอ็มอี ที่จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อันโดดเด่น โดยมีรางวัล 8 ประเภท คือ เอสเอ็มอียั่งยืน เอสเอ็มอีดาวรุ่ง เอสเอ็มอีสินค้าเกษตร เอสเอ็มอีผลิตภัณฑ์ชุมชน เอสเอ็มอีความคิดสร้างสรรค์ เอสเอ็มอีผลิตภัณฑ์สุขภาพ เอสเอ็มอีงานระบบ และเอสเอ็มอีรีเทล อีควิปเม้นท์ (Retail Equipment)

โดยมีรางวัลทั้งสิ้น 14 รางวัล ได้แก่ 
1.รางวัล SME ยั่งยืน ได้แก่ เครื่องดื่ม “พี เฟรช” จากบริษัท ซัมเมอร์สปริง จำกัด
2.รางวัล SME ดาวรุ่ง ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำเต้าหู้ “โทฟุซัง” จาก บริษัท โทฟุซัง จำกัด และ เครื่องสำอาง "นามิ เมคอัพ โปร บีบี เวท ทู พาวเดอร์” จาก บริษัท เค แอนด์ บี คอสเมติก จำกัด
3.รางวัล SME ผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้แก่ น้ำพริก "ป้าแว่น" จากห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรีรัตน์ และหมอนขิด จากนายกฤษณพงศ์ จันใด
4.รางวัล SME สินค้าเกษตร ได้แก่ ผลไม้แปรรูป "บ้านมะขาม" จากบริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด
5.รางวัล SME ความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ขนมหวานพุดดิ้งช็อกโก้มอลต์ “เซเว่น เฟรช" จากบริษัท เจ เอช แอนด์ สโนว์ กรุ๊ป จำกัด และ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ “จุฬาเฮิร์บ มอรินก้า รีแพร์ เจล" จากบริษัท เจแอลซี กรุ๊ป จำกัด
6.รางวัล SME ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย “เขาค้อทะเลภู” บริษัท ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทะเลภู จำกัด และ ผลิตภัณฑ์ดอกเกลือทะเลธรรมชาติ “Sea & Sun” จากบริษัท คอสท์ เพอร์เฟค โปรเจคส์ จำกัด
7.รางวัล SME งานระบบ ได้แก่ งานระบบก่อสร้างร้าน จากห้างหุ้นส่วนจำกัด อาร์.ซี.ดีไซน์ แอนด์คอนสตรัคชั่น และ งานระบบไฟฟ้า จากบริษัท คอมเรด เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
8.รางวัล SME Retail Equipment ได้แก่ ชั้นวางสินค้า จากบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่น จำกัด และเครื่องผลิตน้ำแข็ง จากบริษัท เจ.เอ.พี.เอส.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

ด้านนางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ในปี 2561 สสว. มีแนวทางในการส่งเสริม SME ใน 6 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ คือ 1. กลุ่มธุรกิจด้านดิจิตอล 2. ธุรกิจเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม 3. ธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง 4. ธุรกิจด้านเครื่องจักรกล วิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์เชิงกล และหุ่นยนต์ 5. กลุ่มธุรกิจด้านอาหาร การเกษตร และอุตสาหกรรมชีวภาพ 6. กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพและที่เกี่ยวเนื่องกับการแพทย์ โดยเน้นดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ 1) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ตามแผนงบประมาณปี 2561 2) การสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นได้จริงด้วยความรวดเร็ว ภายใต้แนวคิด พลิก SME ไทยสู่อนาคต ภายใต้ 3 นโยบาย คือ Transformation เน้นการส่งเสริม SMEs ให้ปรับเปลี่ยนตนเองสู่ยุค 4.0 Internationalization โดยเพิ่มขีดความสามารถ ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการสู่ระดับสากล และการพัฒนาเครือข่ายกลุ่มใหม่ เน้นสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ เพื่อออกแบบองค์ความรู้ชุดใหม่ และถ่ายทอดสู่ SME และ 3) การเชื่อมโยงการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ สสว. ยังสนับสนุนการให้คำปรึกษา การเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ SME ไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ “SME ONE” เป็นการพัฒนาเว็บไซต์ www.sme1.info ให้เป็นแหล่งรวบรวมข่าวสาร กิจกรรมและโครงการที่เป็นประโยชน์ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ SME ได้เข้ามาสืบค้น ลงทะเบียนรับบริการ ซึ่งขณะนี้ ได้เปิดให้บริการทดลองใช้แล้ว

ขณะที่ นางยุพรัตน์ ศตวิริยะ ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักที่มุ่งพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ซึ่งกรมฯ มีเครื่องมือและกระบวนการตั้งแต่ การให้คำปรึกษาแนะนำ การปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและมาตรฐาน รวมถึงการเชื่อมโยงตลาดเพื่อให้มีช่องทางการขาย

ทั้งยังมุ่งที่จะพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs) และกลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มมากขึ้น สำหรับในปี 2561 นี้ กสอ.มีนโยบายพัฒนาผู้ประกอบการมากกว่า 30 โครงการภายใต้งบประมาณกว่า 800 ล้านบาท พร้อมด้วยศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ITC) กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีในวงเงิน 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการพัฒนาร่วมกับพันธมิตรในอีกหลายๆด้าน ที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเอสเอ็มอี โดยมั่นใจว่าโครงการและกิจกรรมต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรมและมีช่องทางการจำหน่ายที่มากขึ้น