“คปภ. - ภาคธุรกิจประกันภัย” หลอมรวมพลังความคิดขับเคลื่อนระบบประกันภัยเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

“คปภ. - ภาคธุรกิจประกันภัย” หลอมรวมพลังความคิดขับเคลื่อนระบบประกันภัยเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

“คปภ. - ภาคธุรกิจประกันภัย” หลอมรวมพลังความคิดขับเคลื่อนระบบประกันภัยเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน : ผ่านเวทีการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย (OIC Meets CEO 2024) ครั้งที่ 2/2567
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย (OIC Meets CEO 2024) ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับ นายสาระ ลํ่าซำ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย และ ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ผู้บริหารสมาคมประกันชีวิตไทย ผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย และผู้บริหารบริษัทประกันภัย เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
 
 
 
ในช่วงเช้าก่อนเริ่มการประชุม สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ ภาคธุรกิจประกันภัย จัดกิจกรรม CSR “คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จับมือร่วมใจกันสานฝันน้อง” โดยร่วมกันบริจาคเงินกว่า 1 ล้านบาท พร้อมสิ่งของอุปโภคบริโภค และหมวกกันน็อค ให้แก่น้อง ๆ ที่อยู่ในความดูแลของบ้านราชาวดี (หญิง) และ บ้านราชาวดี (ชาย) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมด้วย
 
 
 
ต่อมาในช่วงบ่าย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และผู้บริหารภาคธุรกิจประกันภัย เข้าสู่เวทีการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย (OIC Meets CEO 2024) ครั้งที่ 2/2567 โดยได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อสรุปที่ประชุม (OIC Meets CEO 2024) ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดชลบุรี ใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นแรก การพัฒนามาตรฐานและยกระดับบทบาทของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและผู้สอบบัญชี ประเด็นที่ 2 การยกระดับมาตรฐานการอนุมัติกรมธรรม์ประกันภัย ประเด็นที่ 3 แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยสุขภาพ ประเด็นที่ 4 การจัดทำ Service Level Agreement (SLA) มาตรฐานกรอบระยะเวลาสำหรับการให้บริการของธุรกิจประกันภัย และประเด็นที่ 5 การนำส่งข้อมูลในระบบ IBS โดยการดำเนินงานทั้ง 5 ประเด็นดังกล่าวมีความคืบหน้าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ทุกประการ
 
 
 
ในโอกาสนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบหลักการและให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนระบบประกันภัยให้มีความมั่นคงยั่งยืน ดังนี้ 1. ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าด้วยระบบ EWS 2. การนำส่งข้อมูลการรับประกันภัยเข้าสู่ระบบรายงานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance System : CMIS) 3. การดำเนินการส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยระหว่าง สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย 4. การส่งเสริมการกำกับดูแลตัวแทนและนายหน้าประกันภัย และ 5. กรณีที่มีกลุ่มบุคคล/บริษัทต่างชาติขายประกันภัยในประเทศไทยโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการตกเป็นเหยื่อในการกระทำของกลุ่มบุคคลหรือบริษัทต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย
 
 
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงแนวทางเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยในมิติใหม่ ๆ คือ 1. มาตรการส่งเสริมทางการเงินของภาครัฐ “กองทุนรวมวายุภักษ์” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ 2. มาตรการส่งเสริมทางการเงินของภาครัฐ โครงการ lgnite Finance เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก โดยมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นการปฏิรูปการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจทางการเงิน กำหนดสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ และเสริมสร้างระบบนิเวศน์ทางการเงินที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในอัตราที่เหมาะสม 3. แนวทางการแก้ไขเกี่ยวกับการประกาศหรือโฆษณาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต/วินาศภัย 4. การดำเนินการเกี่ยวกับการกำกับบริษัทประกันภัยแบบรวมกลุ่ม (Group Wide Supervision) 5. การควบคุมคุณภาพในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยของคนกลางประกันภัย 6. การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Climate Risk Management) และ 7. การขับเคลื่อนการพัฒนาการให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับภาคการเงิน (Open Data for Consumer Empowerment)
 
 
 
    การประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย OIC Meets CEO 2024 ครั้งที่ 2 ในปีนี้ สำเร็จลุล่วง และได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยเป็นอย่างดี ถือเป็นเวทีระดมความคิดเห็นและความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. กับ ภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยไทยอย่างเป็นรูปธรรม อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและการเติบโตอย่างยั่งยืนของระบบประกันภัยไทย